มธ.วิเคราะห์ SDGs ไทย ตก 4 เป้าดัชนีความยั่งยืน เสี่ยงรับแรงกดดันโลก

คุณภาพชีวิต ภาพจากคณะวิทย์ มธ

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยรายงาน SDG 2023 ระบุไทย ตก 4 เป้าดัชนีความยั่งยืน จาก 17 ข้อ เสี่ยงรับแรงกดดันจากประชาคมโลก 

วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เยาวทัศน์ บุญกล้า อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เผยว่า คณะวิทย์ มธ. ได้นำประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ มาวิเคราะห์โอกาสและทิศทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ตามแนวทางเพื่อปรับสมดุลความยั่งยืนใน 3 มิติ ที่ครอบคลุมการเติบโตทั้งทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) มิติทางสังคม (Social Inclusion) และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection) ที่ปัจจุบันมีเป้าหมายร่วมกัน 17 เป้าหมาย

ซึ่งจากรายงาน Sustainable Development Report 2023 (SDR 2023) ระบุว่า ไทยได้รับการจัดอันดับที่ 43 จาก 166 ประเทศ สูงขึ้นหนึ่งอันดับจากปีที่ผ่านมา หลังบรรลุเป้าหมายที่ 4 (SDG4) การศึกษาที่มีคุณภาพให้กลายสถานะเป็นสีเขียว ต่อจากเป้าหมาย SDG1 ขจัดความยากจน

คุณภาพชีวิต ภาพจากคณะวิทย์ มธ

แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ยังมี 4 เป้าหมาย ที่อยู่ใน “สถานะท้าทายมาก” ซึ่งครอบคลุม 9 ตัวชี้วัดย่อย หรือสถานการณ์วิกฤตมีความท้าทายอย่างมาก โดยคณะวิทย์ มธ. มองว่า หากจะผลักดันให้บรรลุเป้าหมายให้ครบทุกเป้าหมาย ประเทศไทยมีต้องขับเคลื่อนทั้ง 4 เป้าหมาย ที่มี 9 ตัวชี้วัดย่อยให้ครบ โดยมีรายละเอียดดังนี้

SDG 2 ยุติความหิวโหย

ความมุ่งมั่นในการขจัดความหิวโหยและความอดอยากทุกรูปแบบ ซึ่งครอบคลุม 3 ตัวชี้วัดย่อยได้แก่

  • SDG 2.1 ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ และเพียงพอตลอดทั้งปี
  • SDG 2.2 ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบและแก้ไขปัญหาความต้องการสารอาหารของ หญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
  • SDG 2.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน เพื่อเพิ่มผลิตภาพและการผลิต พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อทุกการเปลี่ยนแปลง

SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

การสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสาหรับทุกคนในทุกวัย โดยเฉพาะ 3 ตัวชี้วัดฯ สำคัญได้แก่

  • SDG 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม
  • SDG 3.6 ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง
  • SDG 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษ รวมถึงการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573

SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ

การลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ ที่ยังเผชิญ 1 ตัวชี้วัดย่อย คือ

  • SDG 10 ลดค่าธรรมเนียมการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานย้ายถิ่น (migrant remittance) ให้ต่ำกว่าร้อยละ 3 และขจัดการชำระเงินระหว่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ร้อยละ 5 ภายในปี 2573

SDG 14 นิเวศชายฝั่งและมหาสมุทร

การเดินหน้าอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ที่ยังติดเงื่อนไขใน 2 ตัวชี้วัดย่อยอย่าง

  • SDG 14.1 ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงเศษซากขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร ภายในปี 2568
  • SDG 14.5 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 ภายในปี 2563

ชายทะเลและชายฝั่งของไทย ภาพจากคณะวิทย์ มธ.

ทั้งนี้ คณะวิทย์ มธ. มีความเป็นห่วงว่า หากไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้อาจจะส่งผลให้ไทยได้รับแรงกดดันจากมาตรการทางการค้าจากประชาคมโลก หรือถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศได้ในอนาคต ซึ่งหากพิจารณาถึงภาพรวมแผนพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย จะพบ 3 ตัวแปรสำคัญที่รั้งไทยห่างไกลมาตรฐาน แม้ว่าไทยจะอุดมไปด้วยแหล่งทรัพยากรในฐานะ “ครัวโลก” รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ดังนี้

  • รัฐขาดการวาง “กลยุทธ์แบบบูรณาการ” เพราะรัฐบาลถือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการออกนโยบายและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมากลับพบว่าทุกการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมจากทั้งภาคเอกชนหรือภาคการศึกษานั้น ขาดการมอบอำนาจหรือมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานท้องถิ่น เข้ามารับช่วงต่อในการขยายผลการดำเนินงานให้เกิดสัมฤทธิ์ผลที่เป็นรูปธรรม
  • คุณภาพชีวิตประชากรใน “พื้นที่ชายขอบ” หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ไทยไม่สามารถบรรจุข้อกำหนดที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ที่มุ่งสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย เนื่องจากประชากรในพื้นที่ชายขอบ ถือเป็นกลุ่มเปราะบางด้านสุขภาพ ด้วยข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์และการคมนาคมภายในพื้นที่ จึงเป็นผลให้เมื่อเกิดการเจ็บป่วยไม่สามารถเดินทางเพื่อการรักษาทางการแพทย์ หรือระบบสาธารณสุขที่ดีได้
  • ความเหลื่อมล้ำใน “บางบริบทของพื้นที่” ในที่นี่คือ ความสามารถในการเรียนรู้ของชุมชน ถือเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและประยุกต์ใช้เครื่องมือ หรือนวัตกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดจากภาคเอกชนและภาคการศึกษา เนื่องด้วยขั้นตอนการใช้งานที่ซับซ้อนและหลายขั้นตอน ทั้งยังขาดหน่วยงานหรือบุคลากรที่เชี่ยวชาญเข้ามาสอนใช้งานอย่างใกล้ชิด จึงเป็นเหตุให้ชุมชนไม่พร้อมต่อการเรียนรู้และเกิดความเหลื่อมล้ำของบางบริบทในท้ายที่สุด

เสนอถึงภาครัฐ 3 แนวทาง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เยาวทัศน์กล่าวต่อว่า คณะวิทย์ มธ. โดยสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงมีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐ ถึง 3 แนวทางในการพาไทยก้าวข้ามทุกข้อจำกัดในการบรรลุเป้าหมาย SDGs เพื่อชิงความได้เปรียบด้านทรัพยากรของไทยภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) และทรัพยากรบุคลากรที่มีศักยภาพสูง ดังนี้

วางกลยุทธ์ “ผลักดัน SDG ที่มีระบบ-ต่อเนื่อง” ผ่านการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ-เอกชน-การศึกษา-หน่วยงานท้องถิ่น ตลอดจนผู้นำชุมชนต่าง ๆ สู่การหารือถึงปัญหาและวางแผนพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่มีระบบและต่อเนื่องในทุกมิติ เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนั้น ยังสามารถเรียนรู้และถอดบทเรียนจากประเทศที่บรรลุเป้าหมายได้สำเร็จอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่สามารถใช้นวัตกรรมลดปัญหาภัยพิบัติน้ำ และต่อยอดนวัตกรรมดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

รวมถึงอัดฉีดงบฯ หนุนหน่วยงานที่มีศักยภาพ ผ่านการสนับสนุนงบประมาณหน่วยงานที่มีศักยภาพ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถโตต่อได้อย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบทางการเกษตร หรือสินค้าชุมชนเพื่อจัดจำหน่ายในประเทศและเพื่อการส่งออก นอกจากนั้นยังควรกำหนดตัวชี้วัด และติดตามผลการดำเนินงานในรายไตรมาส และรายปี ว่า มีการดำเนินงานต่อเนื่องหรือไม่ หรือมีเป้าหมายใดที่อยู่ระหว่างการดำเนินการบ้าง

ออกแผนส่งเสริมความรับผิดชอบร่วมกัน ผ่านการจัดแคมเปญรณรงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนไทย เนื่องจากการบรรลุเป้าหมาย SDG มิสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยหน่วยงานในภาคส่วนใดส่วนหนึ่ง อาทิ ภาคการศึกษา ด้วยสร้างแรงจูงใจที่ส่งเสริมให้นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย ตลอดจนนักศึกษา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ 3 แกนของ SDG นอกเหนือจากการพัฒนางานวิจัยในเชิงพาณิชย์ ภาคท้องถิ่น ในการสอดส่องคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชน อันนำไปสู่การวางแนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคต