เกาะปูลาโต๊ะบีซู โมเดล “แก้จน” ด้วยทีมวิจัย มนร.

ต้องยอมรับว่าปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สิน และไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง อาจดูเหมือนเป็นปัญหาเรื้อรังที่ทุกรัฐบาลพยายามช่วยเหลือ และหาทางออก แต่กระนั้น ก็ไม่มีตัวเลขบ่งชัดว่าปัญหาเหล่านี้ลดน้อยลงไปบ้างหรือไม่ และประชาชนหลุดบ่วงจากกับดักความยากจน หนี้สินรุงรัง และเริ่มประกอบอาชีพบนที่ดินทำกินของตัวเองบ้างแล้วหรือยัง

ผ่านมาปัญหาดังกล่าวถูกหมักหมมในภาคอีสาน และภาคเหนือเป็นหลัก แต่หากมองลึกจะพบว่าทุก ๆ ปัญหากลับถูกซ่อน และกระจายในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลตรงนี้ เมื่อดูข้อมูลจากการศึกษาของ “ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) จ.นราธิวาส และหน่วยบริหาร และจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กลับระบุอย่างชัดเจนว่า ประชากรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งเฉพาะที่เกาะปูลาโต๊ะบีซู ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีประชากรยากจนอยู่จำนวนมาก

ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์
ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์

บางส่วนมีหนี้สินเรื้อรัง บางส่วนไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง จนต้องเช่าที่ดินจากนายทุนเพื่ออยู่อาศัย และประกอบสัมมาชีพ โดยเฉพาะอาชีพประมง ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิม แต่กลับมีประชากรเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ทำ ขณะที่ประชากรอีกบางส่วนไปประกอบอาชีพรับจ้างที่ประเทศมาเลเซีย

สำหรับเรื่องนี้ “ผศ.ดร.ธมยันตี” ฉายภาพให้ฟังว่า เกาะปูลาโต๊ะบีซูมี 119 ครัวเรือน และมี 22 ครัวเรือนที่ไม่มีอาชีพใด ๆ เลย ส่วนอีก 18 ครัวเรือนไม่ได้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เพราะไปรับจ้างก่อสร้าง ค้าขาย รับจ้างในเมือง หรือประเทศมาเลเซีย มีแค่เพียง 54 ครัวเรือนเท่านั้นที่ทำประมงพื้นบ้านจริง ๆ จัง ๆ แต่กระนั้น ชาวบ้านเหล่านี้ก็ประสบปัญหาหนี้สินรุงรัง

นอกจากนั้น บริเวณเกาะปูลาโต๊ะบีซูยังประสบปัญหามูลค่าสัตว์ทะเลถูกทอนลดค่าลงร้อยละ 23.90 ซึ่งเกิดจากชาวประมงพื้นบ้านนำสัตว์ทะเลที่จับได้ไปขายให้นายทุนในราคาต่ำกว่าท้องตลาด เช่น มูลค่าปลากระบอกที่ขายให้นายทุนราคา 40 บาท/กิโลกรัม ทั้ง ๆ ที่ราคารับซื้อทั่วไปอยู่ที่ 50-70 บาท/กิโลกรัม

ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

“ผศ.ดร.ธมยันตี” บอกว่า เพราะชาวบ้านไปยืมเงินนายทุนมาเป็นทุนรอนสำหรับประกอบอาชีพ พอจับสัตว์ทะเลได้ เขาก็เอาไปขายให้นายทุน ทางหนึ่งเพื่อหักชำระหนี้ อีกทางหนึ่งเพื่อตอบแทนบุญคุณที่ให้เงินยืมมาลงทุน ซึ่งจากการเก็บข้อมูล ดิฉันพบว่าตลอดระยะเวลาเป็นหนี้บุญคุณกับนายทุนเฉลี่ย 10 ปี/ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าหนี้บุญคุณที่ยืมมาทั้งหมดเฉลี่ย 14,406 บาท/ครัวเรือน

“ดิฉัน, ทีมวิจัยของมหา’ลัย และ บพท. จึงระดมสมองกันเพื่อหาทางช่วยเหลือ เพราะเกาะปูลาโต๊ะบีซูมีศักยภาพในตัวเอง ทั้งในเรื่องของความสวยงามตามธรรมชาติ ผู้คนอัธยาศัยไมตรี และมีความสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลที่ค่อนข้างหลากหลาย เพียงแต่ช่วงผ่านมา พวกเขาขาดการบริหารจัดการที่ดีเท่านั้นเอง ตรงนี้จึงทำให้พวกเราสรุปตรงกันว่าควรใช้ 2 แนวทางเข้าไปช่วยเหลือ คือ หนึ่ง เปลี่ยนนายทุนให้เป็นนายทุนเกื้อกูล และสอง เพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำด้วยการแปรรูป”

สำหรับเรื่องเปลี่ยนนายทุนให้เป็นนายทุนเกื้อกูล เรากับตัวแทนชาวบ้านเข้าไปหานายทุนทั้งหมด 5 ราย เพื่อเจรจาขอสัตว์ทะเลที่ชาวบ้านจับได้ประมาณ 2-3 กิโลกรัม จาก 10 กิโลกรัม เพื่อให้พวกเขาขายให้กลุ่มแปรรูป เพื่อที่พวกเขาจะมีรายได้ส่วนนี้แน่นอน เพราะกลุ่มแปรรูปจะรับซื้อในราคาที่ต่างจากนายทุน 5-10 บาท/กิโลกรัม

ส่วนเรื่องการเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำด้วยการแปรรูป เราให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยใช้ชื่อว่าวิสาหกิจชุมชนเกาะหัวใจเกื้อกูล เพื่อให้พวกเขาแบ่งกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบในการแปรรูปสัตว์น้ำทะเล เพื่อเพิ่มมูลค่า

“พูดง่าย ๆ เราทำการมัดรวมกลุ่มผู้ประกอบการทั้งหมด บนฐานห่วงโซ่คุณค่าใหม่ ด้วยข้อต่อจำนวน 5 ข้อ ประกอบด้วย กลุ่มนักประมงพื้นบ้าน 6 กลุ่ม, กล่มนักรวบรวม 1 กลุ่ม, กลุ่มนักแปรรูปอาหารทะเล 16 กลุ่ม, กลุ่มนักรวบรวมอาหารทะเลแปรรูป 1 กลุ่ม และกลุ่มนักขายอาหารทะเลแปรรูป 1 กลุ่ม ปรากฏว่าเมื่อพวกเขาบริหารข้อต่ออย่างเป็นระบบ พร้อมกับสร้างทักษะการเรียนรู้แบบใหม่เข้าไป ก็ทำให้พวกเขานำองค์ความรู้มาเชื่อมโยง จนทำให้เกิดการผลิต, การตลาด, แบรนด์, การจัดการความเสี่ยง และการเงินไปในทิศทางที่ดีขึ้น”

ที่สำคัญ ยังทำให้โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนปูลาโต๊ะบีซูมุ่งสู่คุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนด้วย เพราะมีการนำสูตรจัดการการเงินแก้หนี้แก้จนอย่างยั่งยืน โดยทีมวิจัยร่วมคิดกับชาวบ้าน จนสามารถจัดสรรรายได้ 50% สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 30% สำหรับใช้ประกอบอาชีพ 10% สำหรับใช้หนี้ และ 10% สำหรับเก็บออม

รูฮานี ยูโซ๊ะ
รูฮานี ยูโซ๊ะ

ถึงตรงนี้ “รูฮานี ยูโซ๊ะ” ประธานกลุ่มแปรรูปปลา หมู่ 8 บ้านปูลาโต๊ะบีซู กล่าวเสริมว่า เมื่อก่อนหมู่บ้านเรายากจนมาก ผู้ชาย และวัยรุ่นส่วนใหญ่ไปรับจ้างที่ร้านต้มยำ ประเทศมาเลเซีย ส่วนผู้หญิงก็อยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร และมีหนี้สินรุงรัง จนตอนหลังทางนักวิจัยของ มนร. และ บพท.นำชุดความรู้ และการบริหารจัดการเข้ามา ก็ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเราค่อย ๆ ดีขึ้น

“เพราะที่นี่ทำประมงเพียง 6 เดือน อีก 6 เดือนที่เหลืออยู่ในช่วงมรสุม ทำอะไรไม่ได้เลย แต่หลังจากตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้น และเราสร้างแบรนด์เกาะหัวใจปูลาโต๊ะบีซูขึ้นมา เพื่อขายปลากุเลา ปลากระบอก และแปรรูปสัตว์ทะเลอื่น ๆ ด้วยไลฟ์สดขายของ ก็ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ดีขึ้น ทั้งยังมีเงินไปคืนนายทุนมากขึ้นด้วย ที่สำคัญ ตอนนี้ผู้ชาย และเด็กวัยรุ่นไม่ต้องไปมาเลเซียแล้ว ทำให้ทุกคนในเกาะอยู่กันเป็นครอบครัวมากขึ้น ดิฉันจึงต้องขอขอบคุณทางอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของ บพท.ที่เข้ามาช่วยเหลือ”

ศุภนินท์ สือนิ
ศุภนินท์ สือนิ

ขณะที่ “ศุภนินท์ สือนิ” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า เกาะปูลาโต๊ะบีซู แต่เดิมทีมีพื้นที่ 700-800 ไร่ แต่หลังจากโดนน้ำทะเลกัดเซาะ ตอนนี้เหลือเพียง 500 ไร่ ที่สำคัญ ถนนที่เคยมีสมัยก่อน ตอนนี้อยู่ในทะเลประมาณ 300 เมตรแล้ว เพราะถูกน้ำทะเลกัดเซาะปีหนึ่ง ๆ ราว 1-2 เมตร ตรงนี้เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง

“อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือ ปัญหาที่ดินทำกิน เนื่องจากพื้นที่รอบเกาะทั้งหมดเป็น น.ส.3 และ น.ส.3 ก. และเป็นของนายทุนที่มาจากกรุงเทพฯ และคนภาคใต้ประมาณ 70% มีอยู่ 30% เท่านั้นที่ชาวบ้านถือกรรมสิทธิ์ ตรงนี้ก็เป็นปัญหาที่กำลังหาทางออกอยู่ ที่สำคัญ ถ้าใครมาเกาะนี้ต้องนั่งเรือข้ามฝากประมาณ 10-20 นาที เพราะไม่มีงบประมาณในการสร้างสะพานถาวร ซึ่งทาง อบต.กำลังหาทางแก้ด้วยการสร้างสะพานทุ่นลอยน้ำ อีกไม่นานคงจะแก้ปัญหาได้”

นอกจากนั้น คงเป็นปัญหาน้ำจืดที่ยังบริหารจัดการไม่ได้ เพราะทุกครั้งที่ทำการขุดเจาะน้ำประปา ก็จะได้แต่น้ำกร่อย เราคงต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้อีกที ที่สำคัญ หมู่บ้านนี้รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 40,000 บาท/ปี ถือว่าน้อยมาก ๆ

ดังนั้น การที่ทีมอาจารย์จาก มนร. และเจ้าหน้าที่จาก บพท.เข้ามาทำโครงการวิจัย ผมว่าเป็นเรื่องดีมาก ๆ น่าจะช่วยเหลือชาวบ้านให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และน่าจะทำให้เศรษฐกิจชุมชนยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย