เกษตรกรพันล้าน ปลูกมันฝรั่งป้อนผลิตภัณฑ์เลย์

บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด หรือ “เป๊ปซี่โค ประเทศไทย” ผู้ผลิต และทำการตลาดผลิตภัณฑ์ “เลย์” สนับสนุนเกษตรกรไทยผู้ปลูกมันฝรั่ง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของผลิตภัณฑ์เลย์มาตั้งแต่ปี 2538 เพื่อลดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง ปัจจุบันทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ 10 จังหวัดในภาคเหนือ และภาคอีสานกว่า 5,800 คน ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 38,000 ไร่

“บุษบา วงศ์นภาไพศาล” ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตควบคู่กับแนวคิดการสร้างความยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีธรรมาภิบาลหรือ ESG (Environmental, Social and Governance)

บุษบา วงศ์นภาไพศาล
บุษบา วงศ์นภาไพศาล

เพื่อตอบสนองเทรนด์ผู้บริโภค และสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อโลกภายใต้กลยุทธ์ PepsiCo Positive (pep+) ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นกุญแจสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกมันฝรั่งประสบความสำเร็จในหลายมิติ

“การทำงานร่วมกับเกษตรกรปลูกมันฝรั่ง ถือเป็นต้นน้ำธุรกิจของเรา ปัจจุบันเป๊ปซี่โค ประเทศไทยส่งเสริมเกษตรกรปลูกมันฝรั่งบนพื้นที่กว่า 38,000 ไร่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา, ลำพูน, ลำปาง, แม่ฮ่องสอน, ตาก, เพชรบูรณ์, สกลนคร และนครพนม มีเกษตรกรรวมกันมากกว่า 5,800 คน ผ่านการจัดทำฟาร์มต้นแบบ (model farm) จำนวน 19 แห่ง

ซึ่งเกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเราจะได้รับองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคนิค และเทคโนโลยีในการปลูกมันฝรั่ง ซึ่งเป็นพืชหลังการทำนา เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรมีความมั่นคง เนื่องจากมีการรับประกันราคารับซื้อที่แน่นอน ภายใต้การทำข้อตกลงของระบบเกษตรพันธสัญญา รองรับผลผลิต 1 แสนตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี”

ธนกฤต ศรีวิชัย
ธนกฤต ศรีวิชัย

นำเทคโนโลยีช่วยเกษตรกร

“ธนกฤต ศรีวิชัย” ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพการผลิตเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวเสริมว่า แต่ละปีเป๊ปซี่โค ประเทศไทย มีความต้องการใช้ปริมาณมันฝรั่งเพื่อผลิตเลย์ กว่า 1.2 แสนตันต่อปี โดยทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ปี 2538 ทำให้สามารถใช้ผลผลิตจากในประเทศถึง 90% หรือกว่า 1 แสนตัน จากพื้นที่กว่า 3 หมื่นไร่ ขณะที่ยอดนำเข้ายังคงมีอยู่ที่ราว 1 หมื่นตัน

“เราอยากสนับสนุน และทำงานร่วมกับเกษตรกรในประเทศ เพราะว่าการนำเข้านอกจากต้นทุนจะสูงกว่าราคาในประเทศเท่าตัว ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะทำให้เราขาดแคลนวัตถุดิบจากความผันผวนที่มาจากหลาย ๆ ปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้

โดยเฉพาะปัจจัยด้านสภาพอากาศ ซึ่งจากการศึกษาร่วมกับ International Center for Tropical Agriculture (CIAT) พบว่า ในปี 2030 ภาวะโลกร้อนทำให้พื้นที่ปลูกมันฝรั่งหายไปประมาณ 45% ผลผลิตลดลง 17% และถ้าเป็นเช่นนั้นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 14-15 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว”

ผลกระทบจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคพืช และแมลงศัตรูเพิ่มขึ้น ฉะนั้น สิ่งที่ทำได้คือเราต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้แข็งแรง ทำให้ได้ผลผลิตเร็ว ตรงนี้ เป๊ปซี่โค ประเทศไทยทำงานร่วมกับจีไอแซด (GIZ) และหน่วยงานของไทย อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าวพัฒนาเกษตรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เช่น การปรับปรุงดิน และการให้ความรู้เรื่องศัตรูพืช และคุณภาพของที่ดิน เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ปรับความเป็นกรด-ด่างของดิน การใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรคทางดิน ระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ ระบบน้ำหยด และระบบให้น้ำตามร่องแบบสลับ เพื่อเพิ่มศักยภาพเกษตรกร และเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเกษตรกรหญิง รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อเพิ่มรายได้ครัวเรือน และยังช่วยเสริมทักษะการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เรานำเทคโนโลยีดิจิทัล Agro Drone Scout หรือการใช้โดรนเพื่อประเมินโรค และตรวจสอบสภาพโดยทั่วไปของพื้นที่ปลูกมันฝรั่ง และ ListenField หรือการใช้เทคโนโลยีอินฟราเรดเพื่อตรวจสอบสภาพดิน การติดตั้งระบบชลประทานน้ำหยด

รวมถึงการจัดการปัญหาศัตรูพืช และให้สารอาหารแก่พืชแบบผสมผสาน นวัตกรรมเหล่านี้จึงช่วยเพิ่มผลผลิตจาก 2 ตันต่อไร่ เป็น 3.0-3.2 ตันต่อไร่ และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 5 ตันต่อไร่ ภายใน 5 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จแล้วในฟาร์มต้นแบบ”

ที่สำคัญยังสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการเงิน โดยร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับเกษตรกรที่สนใจการใช้ระบบน้ำหยดในการเพาะปลูก รวมถึงความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ท้องถิ่นสำหรับภูมิอากาศเขตร้อน เพื่อสร้างผลผลิตมันฝรั่งให้ได้โดยรวมกว่า 100,000 ตันต่อปี ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี

เกษตรกรต้นแบบเชียงราย

“วินัย แสนสุข” เกษตรกรตัวอย่าง กล่าวว่า ปลูกมันฝรั่งมาแล้ว 7 ปี หลังจากเป๊ปซี่โค ประเทศไทย เข้ามาส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่ง โครงการดังกล่าวช่วยเพิ่มขีดความสามารถการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลผลิต และการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับ พร้อมทั้งนำหลักทางด้านความยั่งยืนมาถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้รับรู้ถึงแนวทางในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลก ที่ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดูแลคุณภาพให้ดีขึ้น

“นวัตกรรมมีส่วนสำคัญอย่างมากกับเกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ซึ่งจะทำให้รู้ถึงข้อมูลสภาพอากาศ ความชื้นในดิน และสภาพพื้นที่การเกษตร ช่วยให้เกิดการวิเคราะห์และการวางแผนการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุม และการจัดการที่ดิน น้ำ แสงอาทิตย์ และอุณหภูมิ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และลดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ”

“อนุวัฒน์ พรหมมิ” กล่าวว่า ผมตัดสินใจเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกมันฝรั่งเมื่อ 7 ปีก่อน เพราะราคารับซื้อข้าวไม่แน่นอน ขึ้นกับพ่อค้าคนกลาง กว่ารายได้จะมาถึงเราบางทีก็โดนกดราคา แต่มันฝรั่งเป็นพืชทางเลือกใหม่ที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืน ช่วงแรก ๆ ปลูกแค่ 2 ไร่ ทำแบบงู ๆ ปลา ๆ ตอนนั้นทำกำไรได้ 25,000 บาทต่อไร่ ตอนนี้มีพื้นที่เพาะปลูกขยายเป็น 30 ไร่ ที่ ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย รายได้ก็เพิ่มสูงขึ้นมาก

“ไร่ของผมเป็นแปลงต้นแบบที่ปลูกมันฝรั่งตามแนวทางเกษตรยั่งยืน มีการใช้ระบบน้ำหยด เพราะช่วยประหยัดต้นทุนมากกว่า และไม่ต้องใช้แรงงานเยอะ ผลลัพธ์จากการที่ผมใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ และเปลี่ยนมาใช้ระบบน้ำหยด พบว่าเมื่อก่อนใช้ระบบน้ำร่อง เก็บเกี่ยวได้ 3.2 ตันต่อไร่ แต่พอมาใช้ระบบน้ำหยด ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 4.8 ตัน จนทำให้ผมมีกำไรอย่างงดงามทีเดียว”