
กรณีศึกษา “เอสโตเนีย” จากผู้ปล่อย CO2 มากสุดอันดับ 2 ในสหภาพยุโรป สู่อันดับ 1 ในดัชนีโลกโดยการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยเยล ส่องเทรนด์โลก Net Zero ต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่า เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพต่ำที่สุด
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ก่อให้เกิดความท้าทายทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และนำพาสังคมไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลคุณภาพสูง และข้อมูลเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์
เครื่องมือในการสังเคราะห์และตีความวรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์ และข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเข้าใจแนวโน้มในความท้าทายด้านความยั่งยืนที่สำคัญได้ดีขึ้น และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนสามารถตัดสินใจเชิงนโยบายด้วยข้อมูลครบถ้วน
ด้วยเหตุนี้ ตัวชี้วัดดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index : EPI) ของ Yale University จึงถูกจัดทำขึ้น เพื่อระบุผู้นำและประเทศที่ล้าหลัง และส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านความยั่งยืน
ดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม (EPI) ปี 2024 ที่เผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำรวจสถานะของความยั่งยืนของ 180 ประเทศ โดยใช้ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ 58 ตัว ในมิติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และการส่งเสริมอนามัยสิ่งแวดล้อม ให้ประเทศเอสโตเนียเป็นอันดับ 1 ในดัชนีจัดอันดับ ด้วยคะแนน 75.3
Top 10 ประเทศเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
- อันดับ 1 เอสโตเนีย 75.3 คะแนน
- อันดับ 2 ลักเซมเบิร์ก 75.0 คะแนน
- อันดับ 3 เยอรมนี 74.6 คะแนน
- อันดับ 4 ฟินแลนด์ 73.7 คะแนน
- อันดับ 5 สหราชอาณาจักร 72.7 คะแนน
- อันดับ 6 สวีเดน 70.5 คะแนน
- อันดับ 7 นอร์เวย์ 70.0 คะแนน
- อันดับ 8 ออสเตรีย 69.0 คะแนน
- อันดับ 9 สวิตเซอร์แลนด์ 68.0 คะแนน
- อันดับ 10 เดนมาร์ก 67.9 คะแนน
ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 90 ของ 180 ประเทศ ด้วยคะแนน 45.4
ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 40
เอสโตเนียขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในการจัดอันดับโดยรวมของ EPI ประจำปี 2024 ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศในยุโรปตะวันออก โดยเอสโตเนียประสบความสำเร็จในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ถึงร้อยละ 40 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประเทศได้รับคะแนนสูงสุดตามวัตถุประสงค์นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หากเอสโตเนียยังคงรักษาอัตราการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เท่านั้น แต่จะเป็นประเทศที่ไม่เกินงบประมาณคาร์บอน (Carbon Budget) ที่เหลืออยู่ ซึ่งไม่มีประเทศอื่นใดในกลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South) หรือกลุ่มประเทศที่เคยถูกตีตราว่าล้าหลัง ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้
ตัวขับเคลื่อนหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเอสโตเนียคือ การเปลี่ยนจากการผลิตไฟฟ้าจากหินน้ำมัน มาเป็นการขยายตัวของการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกระแสลม แสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล
นอกจากนั้น เอสโตเนียกำลังใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในระดับสูงและมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน โดยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพพลังงานของอาคารต่าง ๆ ในประเทศ
อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
เอสโตเนียเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยอยู่ในอันดับที่ 7 ของโลกด้านพลังของระบบนิเวศ และหมวดหมู่ความหลากหลายทางชีวภาพและที่อยู่อาศัย เอสโตเนียไม่เพียงแต่มีพื้นที่อนุรักษ์มากเท่านั้น แต่ยังตั้งอยู่ในจุดที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศและชีวภาพมากที่สุดด้วย
อุทยานแห่งชาติ Lahemaa ของเอสโตเนียเป็นพื้นที่คุ้มครองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป และเป็นแห่งแรกในอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอันยาวนานของประเทศในการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยรวมแล้ว เอสโตเนียดำเนินการได้ดีในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย โดยติดอันดับ 1 หนึ่งใน 3 ของกลุ่มประเทศที่อยู่อันดับต้น ๆ ในทุกหมวด EPI
แต่ที่น่าสังเกตคือหมวดหมู่ปัญหาป่าไม้ ในความพยายามที่จะเลิกผลิตไฟฟ้าจากหินน้ำมันสกปรก เอสโตเนียได้พึ่งพาชีวมวลจากป่าไม้เป็นแหล่งพลังงานมากขึ้น สิ่งนี้มีส่วนทำให้การตัดไม้ในป่าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้คะแนนบ่งชี้การสูญเสียต้นไม้ปกคลุมไม่ดี
อัตราการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มขึ้นของเอสโตเนียยังสะท้อนให้เห็นในตัวชี้วัดที่วัดการไหลของคาร์บอนสุทธิจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งปกคลุมดิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ดินของประเทศเปลี่ยนจากแหล่งกักเก็บคาร์บอนสุทธิเป็นแหล่งคาร์บอน สิ่งนี้เน้นย้ำถึงความตึงเครียดในมิติต่างๆ ของความยั่งยืน ซึ่งทำให้การจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพไปพร้อม ๆ กันเป็นงานที่น่ากังวล
มุมมืดในอดีตของเอสโตเนีย
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เอสโตเนียเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสหภาพยุโรป โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเอสโตเนียมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มาจากการเผาไหม้หินน้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้า (ตามรายงานของ CEE Bankwatch Network ปี 2018)
และเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจคาร์บอนเข้มข้นมากที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD เหตุผลก็คือหินน้ำมันซึ่งเป็นหินตะกอนที่มีการขุดในเอสโตเนียเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 และยังได้ถูกนำมาใช้เพื่อการผลิตเชื้อเพลิงดีเซลเหลวอีกด้วย
มลพิษที่มีความเข้มข้นสูงสร้างปัญหาสุขภาพให้กับคนในท้องถิ่น เด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการเผาไหม้หินน้ำมัน ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ และอาจมีอายุเฉลี่ยขัยสั้นกว่าคนทั่วไปสี่ปี ดังนั้น เอสโตเนียจึงสร้างแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ โดยมุ่งมั่นที่จะลดจำนวนการเสียชีวิตก่อนกำหนดอันเนื่องมาจากมลพิษลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573
เทรนด์โลก Net Zero ต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่า
“แดเนียล เอสตี้” ศาสตราจารย์ Hillhouse และผู้อำนวยการ Yale Center for Environmental Law & Policy (YCELP) กล่าวว่า ดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมปี 2024 เน้นย้ำถึงความท้าทายด้านความยั่งยืนที่สำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและอื่น ๆ อีกมากมาย และเผยให้เห็นแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการปกป้องระบบนิเวศที่สำคัญและความมีชีวิตชีวาของโลกของเรา
Top 10 ประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
- อันดับ 180 เวียดนาม 24.5 คะแนน
- อันดับ 179 ปากีสถาน 25.5 คะแนน
- อันดับ 178 ลาว 26.1 คะแนน
- อันดับ 177 เมียนมา 26.9 คะแนน
- อันดับ 176 อินเดีย 27.6 คะแนน
- อันดับ 175 บังกลาเทศ 27.8 คะแนน
- อันดับ 174 เอริเทรีย 28.6 คะแนน
- อันดับ 173 มาดากัสการ์ 29.9 คะแนน
- อันดับ 172 อิรัก 30.4 คะแนน
- อันดับ 171 อัฟกานิสถาน 30.7 คะแนน
ในปี 2022 เดนมาร์ก เป็นอันดับ 1 บนดัชนี EPI แต่ในปี 2024 หล่นลงมาอยู่อันดับที่ 10 เนื่องจากอัตราการลดคาร์บอนลดลง โดยการดำเนินการ “นโยบายผลไม้แขวนลอยต่ำ” ของประเทศส่งผลต่อประสิทธิภาพในช่วงแรก ๆ จากการเปลี่ยนมาใช้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ แต่การขยายตัวการผลิตพลังงานหมุนเวียนนั้นก็ยังไม่เพียงพอ
ดัชนี EPI ระบุด้วยว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก เช่น สหรัฐอเมริกา (ซึ่งปีนี้อยู่ในอันดับที่ 34) กำลังลดลงช้าเกินไปหรือยังคงเพิ่มขึ้น เช่นเดัยวกับ จีน รัสเซีย และอินเดีย
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีเพียง 5 ประเทศ ได้แก่ เอสโตเนีย ฟินแลนด์ กรีซ ติมอร์-เลสเต และสหราชอาณาจักร ที่ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593
ขณะที่เวียดนามและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ เช่น ปากีสถาน ลาว เมียนมา และบังกลาเทศ อยู่ในอันดับที่ต่ำที่สุด ซึ่งบ่งบอกถึงความเร่งด่วนของความร่วมมือระหว่างประเทศในการช่วยสร้างเส้นทางสำหรับประเทศที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้บรรลุความยั่งยืน
เอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพต่ำที่สุด
เอเชีย-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพต่ำที่สุดเป็นอันดับ 3 เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก โดยมีคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาค EPI อยู่ที่ 41.8 และเป็นภูมิภาคที่มีความแปรปรวนสูงสุดในคะแนน EPI
สำหรับประเทศที่อยู่ใน 3 อันดับแรกที่มีคะแนนสูงสุดในภูมิภาค คือ ญี่ปุ่น (อันดับที่ 27) สิงคโปร์ (อันดับที่ 44) และเกาหลีใต้ (อันดับที่ 57) และ 3 อันดับที่มีคะแนนต่ำสุด คึอ เวียดนาม (อันดับที่ 180) ลาว (อันดับที่ 178) และเมียนมา (อันดับที่ 177)
ญี่ปุ่นได้รับคะแนนสูงสุดในภูมิภาค (61.7) โดยเป็นผู้นำในวัตถุประสงค์นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และการส่งเสริมอนามัยสิ่งแวดล้อม ด้วยพื้นที่อนุรักษ์เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่นจึงมีอัตราการสูญเสียภูมิทัศน์ป่าไม้ที่สมบูรณ์ต่ำที่สุดในโลก
นอกจากนั้น ญี่ปุ่นได้รับคะแนนสูงสุดในด้านการจัดการของเสียและโลหะหนัก และมีคุณภาพอากาศดีที่สุดในภูมิภาค รองจากบรูไนและประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกหลายแห่ง ญี่ปุ่นยังเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 19 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ขณะที่เวียดนามเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง การพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้การปล่อยมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มลพิษทางอากาศที่รุนแรงไม่เพียงส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพของเวียดนามที่ถูกคุกคามจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยในอัตราที่สูงอยู่แล้ว