#TPOPMUSICEXPO ดราม่าคอนเสิร์ตล่ม เรื่องจริงยิ่งกว่าละครฟ้องร้องวุ่น

#TPOPMUSICEXPO เมื่อคอนเสิร์ตต้อง

T-POP MUSIC EXPO เมื่อคอนเสิร์ตต้องยกเลิก เพราะเรื่องเงินที่ไม่เข้าใครออกใคร สุดท้ายคนจองบัตรคอนเสิร์ต ตกเป็นผู้เสียหาย หาทางฟ้องร้องแบบกลุ่มดูแลกันเอง 

วันที่ 12 กันยายน 2565 แฮชแท็ก #TPOPMUSICEXPO กลายเป็นกระแสและถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ หลังมีการประกาศยกเลิกคอนเสิร์ต T-POP MUSIC EXPO โดยมีการเปิดเผยว่า เป็นการยกเลิกเพราะมีการโกงเงินเกิดขึ้นในคอนเสิร์ต นำไปสู่การตั้งคำถามบนโลกออนไลน์

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปดราม่ายกเลิกคอนเสิร์ตดังกล่าว และรวมเรื่องที่ควรรู้กรณีการยกเลิกคอนเสิร์ต

จากวันแรก สู่วันยกเลิก

คอนเสิร์ต T-POP MUSIC EXPO เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กเป็นครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2565 และเปิดเผยรายชื่อศิลปิน (Line-Up) รอบแรกในสัปดาห์ถัดมา รวมถึงเปิดเผยรายชื่อศิลปินพร้อมโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ เมื่อสิงหาคม 2565

คอนเสิร์ตดังกล่าวมีศิลปิน T-POP มาร่วมคอนเสิร์ตจำนวนมากทั้งที่มีชื่อเสียง และเป็นศิลปิน T-POP หน้าใหม่ รวมกว่า 30 ราย อาทิ ส้ม มารี, Patrickananda, TELEX TELEXs, 4MIX โดยมีกำหนดการจัดคอนเสิร์ต วันที่ 24-25 กันยายน 2565

ก่อนจะถึงวันจัดคอนเสิร์ต ผู้จัดงานยังคงมีการประชาสัมพันธ์งานอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปิดเผยศิลปินที่มาร่วมงาน การจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ต และคลิปวิดีโอประชาสัมพันธ์เชิญชวนร่วมคอนเสิร์ตจากศิลปินที่จะมาร่วมงาน

โดยคอนเสิร์ตดังกล่าว มีการจัดจำหน่ายบัตรทั้งแบบชมทางออนไลน์ และชมสด ณ สถานที่จัดงาน ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 800 จนถึง 2,500 บาท

กระทั่งวันที่ 8 กันยายน 2565 ผู้จัดงาน T-POP MUSIC EXPO ประกาศยกเลิกการจัดงานผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยระบุว่าจะมีการชี้แจงเพิ่มเติมต่อไป จากนั้นมีผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายท่านเข้ามาแสดงความคิดเห็นและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคอนเสิร์ตดังกล่าว ทั้งการจัดจำหน่ายบัตรที่ยังเหลือที่นั่งว่างอยู่ การประชาสัมพนธ์ ไปจนถึงตั้งข้อสังเกตว่า หรือเป็นเพราะไม่สามารถจัดงานสู้คอนเสิร์ต T-POP ที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ได้ หรือไม่

ยกเลิกคอนเสิร์ต T-POP MUSIC EXPO เพราะอะไร ?

วันที่ 10 กันยายน 2565 แฟนเพจ T-POP MUSIC EXPO โพสต์แถลงการณ์ระบุว่า การตัดสินใจยกเลิกงาน เป็นเพราะ นายพีรพล (สงวนนามสกุล) กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ บริษัท โก ออน เมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้จัดงานดังกล่าว นำเงินต้นทุนการจัดคอนเสิร์ต ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว รวมทั้งระบุว่า ทีมงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานดังกล่าว ถูกว่าจ้างในลักษณะพนักงานฟรีแลนซ์เท่านั้น

ผู้จัดงานดังกล่าวระบุเพิ่มเติมว่า จะทำการตรวจสอบความเสียหาย และแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวต่อไป รวมทั้งจะทำการคืนเงินค่าบัตรคอนเสิร์ตให้กับผู้จองบัตรทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโลกออนไลน์มีการค้นหาข้อมูลของ นายพีรพล ซึ่งเป็นต้นเรื่องของกรณีนี้ทางออนไลน์ พบว่า บุคคลดังกล่าวมีอายุเพียง 18 ปี เป็นอดีตนักกิจกรรมกลุ่ม “นักเรียนเลว” เคยร่วมกิจกรรมทางการเมืองและรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นมาหลายครั้ง

ขณะที่กลุ่มนักเรียนเลว โพสต์แถลงการณ์ระบุว่า บุคคลดังกล่าวออกจากกลุ่ม เมื่อมีนาคม 2565 ส่วนกรณีที่มีชื่อนายพีรพล ปรากฏบนชื่อบัญชีเงินฝากสำหรับการรับบริจาค กลุ่มนักเรียนเลว ระบุว่า อยู่ระหว่างการปิดบัญชีดังกล่าว โดยจะระงับการใช้เงินโครงการดังกล่าวจนกว่าจะสามารถเปิดบัญชีใหม่ได้

 

ฝั่งของผู้จองบัตร แม้ว่าผู้จัดงานยืนยันว่าจะคืนเงินค่าบัตรคอนเสิร์ตให้กับทุกคนแล้ว แต่ผู้จองบัตรได้รวมตัวกันผ่าน LINE Openchat เพื่อรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีกับนายพีรพลต่อไป

สังคมสงสัยเพิ่ม “เด็ก 18 เปิดบริษัท จดทุนแค่ 5 หมื่น ?”

นอกจากข้อสงสัยของสังคมเรื่องอายุของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ซึ่งมีอายุเพียง 18 ปีเท่านั้นแล้ว สังคมยังสงสัยเกี่ยวกับบริษัทที่จัดงานดังกล่าว และพยายามตรวจสอบเพิ่มเติมจนพบว่า บริษัท โก ออนฯ ซึ่งเป็นผู้จัดงานดังกล่าว มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเพียง 50,000 บาทเท่านั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท โก ออน เมเนจเม้นท์ จำกัด จดทะเบียนบริษัทเมื่อมิถุนายน 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่องานกิจกรรมด้านความบันเทิง โดยมีนายพีรพล เป็นกรรมการบริษัทแต่เพียงผู้เดียว

ขณะที่ทุนจดทะเบียน ณ ช่วงจัดตั้งบริษัท ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 50,000 บาท และมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 5 ล้านบาท เมื่อสิงหาคม 2565

เมื่อตรวจสอบกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการจดทะเบียนนิติบุคคล พบว่า ปัจจุบันกำหนดให้มีผู้ถือหุ้น หรือผู้เริ่มก่อการบริษัทอย่างน้อย 3 คน มีกรรมการบริษัทอย่างน้อย 1 คน โดยต้องมีอายุ 12 ปีขึ้นไป และหุ้นจะต้องมีราคาไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อ 1 หุ้น (ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 15 บาท)

กรณีคอนเสิร์ตล่ม เงินเป็นเหตุ

กรณี #TPOPMUSICEXPO ไม่ใช่ครั้งแรกที่คอนเสิร์ตต้องยกเลิกเพราะปัญหาเรื่องเงิน ย้อนกลับไปเมื่อกลางปี 2560 สมาคมศิษย์เก่าทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับบริษัท มาสเตอร์พีซ ออร์กาไนเซอร์ จำกัด ร่วมกันแถลงข่าวยื่นฟ้อง ม.ล.อุบลวดี ผู้ควบคุมการผลิตคอนเสิร์ตการกุศล พร้อมพวกอีก 2 ราย ในฐานร่วมกันฉ้อโกงเงินจัดคอนเสิร์ตการกุศล ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2559

เหตุการณ์เกิดขึ้นจากการที่ ม.ล.อุบลวดี พยายามเบิกเงินค่าจัดคอนเสิร์ตเต็มจำนวนวงเงิน 3.5 ล้านบาท ทั้งที่ค่าใช้จ่ายจริงไม่ถึง ซึ่งคอนเสิร์ตดังกล่าวมีศิลปินค่ายดังมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ต่อมามีการรายงานว่า ศาลให้ทั้งจำเลย และสมาคม ในฐานะโจทก์ เจรจาไกล่เกลี่ยกัน ทำให้สมาคมศิษย์เก่าฯมีการถอนฟ้องคดี แต่บริษัท มาสเตอร์พีซ ออร์แกไนเซอร์ ยังคงเดินหน้าฟ้องศาลฐานฉ้อโกงต่อ

คดีดังกล่าวลงเอยที่ ศาลแขวงปทุมวัน พิพากษาให้ ม.ล.อุบลวดี จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา ส่วนพวกอีก 2 คน ศาลยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม จำเลยยังอุทธรณ์ต่อไป

นอกจากคอนเสิร์ตดังกล่าวแล้ว “บางกอกเฟส” คืออีกหนึ่งคอนเสิร์ตที่ แม้จะไม่ได้ถูกยกเลิกเพราะการโกงเงินจัดคอนเสิร์ต แต่ผู้จองบัตรคอนเสิร์ตทุกคนยังไม่ได้รับเงินคืน

ความเคลื่อนไหวล่าสุด ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายกรณีคอนเสิร์ตบางกอกเฟส และคอนเสิร์ต Fullmoon Party Live in Bangkok ซึ่งยกเลิกการจัดไปก่อนหน้านี้ เข้าร้องกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อเร่งติดตามเงินคืนจากผู้จัดงานทั้ง 2 คอนเสิร์ต

กลุ่มผู้เสียหายจากทั้ง 2 คอนเสิร์ต เปิดเผยกับ Thai PBS ว่า คอนเสิร์ตบางกอกเฟส มีผู้ซื้อบัตรที่ยังไม่ได้รับเงินคืนกว่า 500 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 1.6 ล้านบาท ขณะที่คอนเสิร์ต Fullmoon Party Live in Bangkok เบื้องต้นมีผู้เสียหายทั้งหมดกว่า 180 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 500,000 บาท

Thai PBS รายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ แนะนำให้รวมกลุ่มผู้เสียหาย และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดีออนไลน์ต่อไป นอกจากนี้ สภาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค (สอบ.) จะดำเนินการฟ้องคดีแบบกลุ่มให้กับผู้เสียหายจากทั้ง 2 คอนเสิร์ต ช่วงกลางเดือนกันยายน 2565

ยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่า กรณีคอนเสิร์ต T-POP MUSIC EXPO จะจบลงแบบใด แต่กรณีนี้อาจกลายเป็นแผลสำคัญที่ทำให้ทุกคนต้องหันกลับมาจัดการเรื่องการฉ้อโกงเงินจัดคอนเสิร์ตอย่างจริงจังอีกครั้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง