เจ้าอาวาสแจงดราม่ารูปปั้นพญาครุฑโชว์อวัยวะเพศ แท้จริงคือ “พญาปุริสาท”

รูปปั้นพญาปุริสาท
เครดิตภาพ : เฟซบุ๊กซากุระเที่ยงคืน – เรื่องเล่าจากญี่ปุ่น

เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยพระฌาน จ.ลำปาง แจงดราม่ารูปปั้นพญาครุฑโชว์อวัยวะเพศ แท้จริงคือ “พญาปุริสาท” แค่เบื่อกับรูปแบบเดิม ๆ เลยหารูปแบบอื่นมาลองทำดู 

วันที่ 26 มกราคม 2566 จากกรณีที่เฟซบุ๊ก ซากุระเที่ยงคืน – เรื่องเล่าจากญี่ปุ่น โพสต์ภาพรูปปั้นในวัดพระธาตุดอยพระฌาน ต.ป่าตัน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ซึ่งมีลักษณะเปลือยกายและเห็นอวัยวะเพศชาย จนกลายเป็นดราม่า ผู้สื่อข่าว มติชน ได้ลงพื้นที่เพื่อสอบพระพยอม กลฺยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ถึงกรณีดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

พระพยอมกล่าวว่า ในกรณีดังกล่าวเรียกได้ว่า “ทรรศนะอุจาด” สร้างสรรค์อะไรที่อุจาดตา สภาพลามก ซึ่งอวัยวะเพศปกติเขาไม่เปิดเผยกันอยู่แล้ว ซึ่งพญาครุฑทั่วไปลักษณะจะไม่ใช่แบบนี้ ไม่มีการเปลือยกายห้อยอวัยวะเพศ รูปปั้นดังกล่าวอยู่ภายในวัดควรที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีแลดูงดงามสร้างสรรค์ เจริญตา เจริญใจ แบบนี้จะทำให้คนที่ไปไหว้พระ ทำบุญ เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต แต่กลับได้ไปเห็นสิ่งที่ไม่เป็นมงคลแทน

รูปปั้นลักษณะนี้ไม่ควรอยู่ในวัด ตั้งแต่อาตมาบวชมาไม่เคยเจอรูปปั้นแบบนี้ในวัดมาก่อน รูปร่างหน้าตาเพี้ยนน่ากลัว อยากฝากถึงชาวพุทธที่เข้าไปทำบุญไหว้พระวัดดังกล่าว อย่าไปกราบไหว้บูชา สิ่งที่ไม่ใช่พระรัตนตรัย ไม่ใช่ธรรมมะ สุดท้ายอยากฝากถึงทางเจ้าอาวาสวัดดังกล่าวว่าจะสร้างอะไรทำอะไรก็ทำให้มันเจริญหูเจริญตา หากทำแล้วไม่ถูกต้องก็ต้องมีการทุบทิ้ง ทำให้เสียทั้งงบประมาณและเวลา เนื่องจากประชาชนรับไม่ได้ ควรจะปั้นอะไรให้สร้างสรรค์ มีคำสอนเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนอาจจะเป็นปริศนาธรรมที่อธิบายได้ผ่านภาพประติมากรรมจะดีกว่า

ล่าสุด พระอาจารย์พรชัย อคฺควํโส เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยพระฌาน ได้โพสต์ เฟซบุ๊ก ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า “เดิมทีจะปั้นนรสิงห์แบบที่เคยเห็นกันตามวัด พอศึกษาแล้วพบว่าต้นแบบคือมอญ แล้วข้อมูลเชื่อมไปหา กรีก โรมัน อียิปต์ กลายเป็นวัฒนธรรมร่วม จึงนำมารวมกันแล้วทำขึ้นใหม่ ร่วมกับรูปร่างอสูรจากอนิเมะ เรื่อง Berserk จึงออกมาอย่างที่เห็น

ส่วนชื่อ นรสิงห์ (หัวเป็นสิงห์ตัวเป็นคน) นั้นไม่ค่อยตรงกับลักษณะ แล้วกระแสช่วงนี้เรียกรูปปั้นลักษณะนี้ว่า ‘พญาปุริสาท’ จึงเรียกใช้ตามกันไป

ส่วนประเด็นการโชว์ปิกาจู้ เกิดจากตอนไปดูรูปวาดรูปปั้นในหอศิลป์แล้วขัดใจ ว่าจังหวะควรเห็นก็มัวแต่หลบ บิดบัง บางทีงานก็เหมือนพิการเพราะของที่ควรมีอยู่กลับไม่มี เพราะทำแบน ๆ ตัดหายไปเลย ทำให้งานออกมาดูแล้วติด ๆ ขัด ๆ ไม่เหมือนอารมณ์ดูงานฝรั่ง ที่เขาวางจังหวะการเห็นให้เห็นแบบเป็นธรรมชาติ ไม่อนาจาร พอมีโอกาสทำงานอาร์ตบ้างเลยให้ช่างจัดเต็ม แรก ๆ ช่างก็ลังเล ไม่กล้าทำ

รูปปั้นดังกล่าวสร้างขึ้นมาเพื่อเฝ้าวัด ไม่ได้มีปริศนาธรรมแต่อย่างใด เป็นเพียงรูปปั้นเท่านั้น เหตุที่สร้างออกมาให้มีลักษณะเช่นนี้ ก็เพื่อให้องค์ประกอบศิลป์ครบ และเบื่อกับรูปแบบเดิม ๆ ที่ปั้นงานตามภาพวาดบนผนัง ซึ่งหมดความน่าสนใจแล้ว จึงหารูปแบบอื่นมาลองทำดู”


นอกจากนี้ พระอาจารย์ยังได้โพสต์ว่า “รูปปั้นตั้งในลักษณะที่ไม่ให้ความรู้สึกว่าลามก หรือตั้งใจโชว์จนเกินไป มีชั้นเชิงการวางให้ไม่เห็นถ้าไม่ตั้งใจจะเข้าไปดู และคิดไว้แล้วแต่แรกว่าจะมีผ้าเตี่ยวขาด ๆ เก่า ๆ ห้อยบังไว้ (ใครจะดูให้เปิดดูเอาเอง) เพียงแต่ว่าเนื่องจากยุ่ง ๆ อยู่กับงานตกแต่งหลวงพ่อใหญ่ด้านบน งานจุดนี้จึงปล่อยทิ้งไว้ก่อน มีกำหนดว่าปีนี้จะเข้ามาตกแต่งสถานที่ให้แล้วเสร็จ”