“นิ้วกลม” เขียน 20 ข้อ สังคม New Normal หลังวิกฤติโควิด

นิ้วกลมเขียน 20 ข้อฉายภาพ New Normal สังคมหลังโควิด

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 เฟซบุ๊ก ของนายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (Sarawut Hengsawad) หรือ “นิ้วกลม” ได้โพสต์ข้อความ แสดงความคิดเห็นต่อวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ว่า ในวิกฤตที่ทุกคนเดือดร้อน สิ่งแรกที่คิดถึงคือ แก้ปัญหาให้ตัวเอง เป็นธรรมดา แต่ความท้าทายของวิกฤตที่ทุกคนเผชิญปัญหาพร้อมกันคือ เราอาจไม่มีเวลาหันไปมองปัญหาของคนอื่นในสังคม ไม่ได้ใส่ใจภาพรวมภาพใหญ่ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะวนกลับมาเป็นปัญหาของเราเช่นกัน

จากที่ได้คุยและฟังเพื่อนพี่น้องที่ทำธุรกิจ พ่อค้าแม่ขาย และคนทำสื่อ ทำให้ได้ฟังเรื่องที่น่าตระหนักหลายเรื่อง ขออนุญาตเล่าสู่กันฟังเผื่อจะเป็นประโยชน์ครับ

1. คนที่ทำธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ท่องเที่ยว อีเวนต์ได้รับผลกระทบหนักหนา ในมุมพนักงานมีทั้งลดเงินเดือนและเลิกจ้าง ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่แค่สี่ธุรกิจนี้เท่านั้น

2. เริ่มมีคนตกงานแล้ว และ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

3. ผู้คนจำนวนมากไม่ได้มีเงินออมเพียงพอจะประคองชีวิตตัวเองไปได้หลายเดือน เมื่อถูกเลิกจ้างฉับพลันย่อมตั้งตัวไม่ได้

4. ส่งผลต่อเนื่องไปถึงค่าเช่าห้อง ค่าผ่อนคอนโดฯ ซึ่งนับว่ากดดันมาก เพราะถ้ายังไม่สามารถหาเงินมาได้ทัน นี่คือปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย อย่างที่เห็นในสื่อว่าพนักงานเงินเดือนต้องกลายเป็นคนไร้บ้านเพราะตกงาน

5. สิ่งเหล่านี้ยังมีโอกาสเกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มงานและยังไม่มีเงินเก็บ ใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน รวมถึงฟรีแลนซ์อีกจำนวนมาก ซึ่งเคยมีรายได้สม่ำเสมอ ถ้างานค่อย ๆ หดหายไป พวกเขาจะมีชีวิตอย่างไร

6. เราอาจได้เห็นภาพห้องเช่าต่าง ๆ ค่อย ๆ ว่างลง คำถามที่น่าคิดคือ แล้วเจ้าของห้องเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน?

7. วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปกลายเป็นคนเมืองมากขึ้น ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถกลับบ้านต่างจังหวัด (ถ้ามี) ไปทำเกษตรหรือปลูกผักกินเองได้เหมือนแต่ก่อน ทั้งวิธีกินอยู่ที่เปลี่ยนไป ที่ดินที่อาจไม่มีเหมือนเดิม ความถนัดที่ไม่เหมือนคนรุ่นก่อน ยังไม่นับปัญหาภัยแล้งอีกด้วย จึงไม่ง่ายนักเมื่อพูดถึงการ “กลับบ้าน”

8. พ่อค้าแม่ขายได้รับผลกระทบจากยอดที่ลดลง ไม่ใช่ทุกคนจะขายของออนไลน์ได้ เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วยิ่งถูกฉุดให้แย่ลงไปอีกและเร็วขึ้นอีก บางร้านต้องปิด คนขายของในห้างก็ไม่มีหน้าร้านแบบเดิม

9. ทุกคนมีค่าใช้จ่าย ค่าเทอมลูก ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่า ค่าข้าวของเครื่องใช้ เมื่อไม่มีรายได้ก็ต้องกู้ และอาจต้องกู้นอกระบบซึ่งดอกเบี้ยโหดร้าย แต่ทำไงได้เมื่อไม่มีทางอื่น

10. การกู้เงินในห้วงยามแบบนี้นั้นเสี่ยงมาก เพราะยากจะหาเงินมาผ่อนจ่ายได้ทัน เอาแค่จ่ายดอกเบี้ยทันก็เก่งแล้ว เพราะรายได้น้อย รายจ่ายเยอะ

11. ถึงจุดนี้ก็จะเริ่มเป็นปัญหาสังคม เริ่มจากความเครียดในชีวิต เลยไปถึงจุดที่หารายได้ไม่พอจ่ายหนี้ บางคนอาจตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเพื่อหนีปัญหา ขณะที่บางคนอาจต้องปล้นชิงวิ่งราว กระทั่งมีคำพูดว่าถึงจุดนั้น “ถ้าไม่ทำร้ายตัวเองก็ต้องทำร้ายคนอื่น”

12. หากทุกสิ่งไปถึงภาวะนั้น ต่อให้ใครจะรวยแค่ไหนก็อยู่ไม่สุขอีกต่อไป เพราะเพื่อน ๆ ในสังคมทุกข์หนักด้วยปัญหาเศรษฐกิจ อาจเกิดอาชญากรรม เกิดความเกลียดชัง หมั่นไส้ หากกดดันมากย่อมเสี่ยงต่อการปะทะทางร่างกาย

13. เมื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ประสบปัญหา กิจการต่าง ๆ ย่อมไม่มีคนอุดหนุน รายได้ค่อย ๆ หดฟีบลง ส่งผลกระทบไปถึงกิจการที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ อาจนำมาซึ่งปัญหาตกงานเพิ่มขึ้นอีก เรียกว่าค่อย ๆ ล้มกันเป็นโดมิโน่ ไม่มีปัญหาของใครแยกออกจากปัญหาของคนอื่นเลย กระทบกันเป็นชิ่ง

14. เวลาคนที่ยังพอมีเงินเก็บบ่นว่าเดือดร้อน นั่นหมายความว่ารายได้ลดลงหรืออาจไม่สุขสบายเท่าเดิม แต่เวลาที่คนหาเช้ากินค่ำบ่นว่าจะตายแล้ว นั่นหมายความว่าเขาจะตายจริง ๆ จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนมิใช่น้อย

15. การที่หลายคนต้องกักตัวอยู่กับบ้านทำให้เราไม่มีโอกาสได้พูดคุยและสัมผัสกับปัญหาของคนอื่น ๆ ยิ่งทำให้มองไม่เห็นวิกฤตในภาพใหญ่ เรื่องของการรวมสมองช่วยกันคิดแก้ปัญหาอาจเกิดขึ้นน้อยกว่าที่มันจำเป็น

16. เรายังไม่มีใครสักคนที่ฉายภาพใหญ่ให้เห็น ยอมรับวิกฤตอย่างที่มันเป็นและบอกกับประชาชนให้เห็นภาพตรงกันเพื่อช่วยกันคิดและช่วยเหลือกันไม่ว่าทางไอเดีย โอกาส หรือทุนทรัพย์ เราต้องการวิสัยทัศน์ที่ใหญ่เท่า ๆ ปัญหา การแก้ปัญหาวันต่อวันอาจทำให้ไม่ทันการณ์ หลายคนยังรู้สึกว่าอีกไม่นานก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม หลายคนยังสบายใจโดยไม่เห็นมรสุมที่กำลังโถมเข้ามา ซึ่งน่ากังวล

17. นักธุรกิจบางคนบอกว่านี่คือวิกฤตใหญ่ที่สุดในชั่วชีวิตนี้ รวมปัญหาเศรษฐกิจตอนปี 40+วิกฤตความขัดแย้งการเมือง+น้ำท่วม เอาทุกอย่างรวมกันยังไม่เท่าครั้งนี้

18. ก่อนแก้ปัญหา เราจำเป็นต้องเห็นปัญหา และ ปัญหาที่ว่าคือปัญหาของสังคมทั้งหมด ลำพังเพียงเห็นปัญหาของตัวเองอาจไม่พอรับมือวิกฤตครั้งนี้

19. สุดท้ายแล้วดูเหมือนว่าเรากำลังเคลื่อนไปสู่ทางแยก ระหว่างความเดือดร้อนจะทำให้เราถ่างกว้างออกจากกันและเอาชีวิตรอดแบบตัวใครตัวมัน กับความเดือดร้อนทำให้เราผนึกกำลังกัน แล้วใช้มันสมอง สองมือ และทรัพยากรทั้งหมดมาร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาของตัวเอง แต่เป็นการคิดถึงทุกข์สุขของเพื่อนๆ ร่วมสังคมที่เดือดร้อนกว่าเราด้วย

20. เพราะการแก้ปัญหาของคนอื่นก็คือการแก้ปัญหาของตัวเราเองไปในตัว ช่วยเขาคือช่วยเรา ขณะนี้เราต้องการการระดมสมองในช่วงเวลาที่เราไม่ค่อยได้พบปะกัน ทำให้การแบ่งปันข้อมูลข่าวสารและไอเดียจางหายไปมาก แต่อาจจะได้เวลาแล้ว เพราะยิ่งช้าก็ยิ่งน่ากังวล

ทำอย่างไรเราจึงจะเห็นภาพของ “ปัญหาใหญ่” นี้ ร่วมกัน และปรับวิธีคิดให้กว้างขึ้น นอกจากช่วยทำให้ตัวเองรอดแล้ว มีอีกหนึ่งโหมดที่ทำคู่กันไปคือทำให้เพื่อนๆ ในสังคมรอดไปด้วยกัน

สิ่งนี้อาจเป็น New Normal ที่จำเป็น คือสปิริตอีกแบบที่แตกต่างจากการแข่งขันกันเพื่อเอาชนะหรือเอาตัวรอด หากเป็นสปิริตของการคิดว่าทำอย่างไรเราจะรอดไปด้วยกัน ทำอย่างไรเราจะไม่ทิ้งใครให้ตายตกไปตามทางระหว่างวิกฤต ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ตามความถนัดและกำลังของตัวเอง

เพียงแค่เปลี่ยนมุมมองที่ใช้ในการคิด

ถ้ารอด เราจะรอดไปด้วยกัน ถ้าพังก็จะล้มต่อกันเป็นโดมิโน่

และถ้า “สปิริต” นี้ เกิดขึ้นจริง นี่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของความคิดอันเป็นประโยชน์ในสังคมอีกหลายอย่าง เช่น การเป็นรัฐสวัสดิการ การเกลี่ยความได้เปรียบให้คนด้อยโอกาสกว่า ความเป็นพี่เป็นน้องในสังคม การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ถ้าคนในสังคมตระหนักถึงปัญหาของคนร่วมสังคมนอกไปจากการคิดถึงตนเอง

New Normal ของสังคมไทยจะเป็นแบบไหน เกลียดชังและถ่างกว้างมากขึ้น หรือช่วยเหลือ แบ่งปัน คิดถึงกันและกันมากกว่าเดิม

สังคมไทยหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร ทุกคนมีส่วนในคำตอบ