“อานนท์” สวมชุดครุยทับชุดนักโทษ เป็นทนายทุกลมหายใจ

อานนท์สวมชุดครุยทับชุดนักโทษ
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าเรื่อง “อานนท์ นำภา” ทำหน้าที่ทนายความ ระหว่างถูกขัง

วันที่ 5 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่เรื่องราวของ นายอานนท์ นำภา ซึ่งทำหน้าที่ทนายความในคดีแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง (ชุด UN62) ระหว่างที่ตัวเองถูกขังระหว่างพิจารณาคดี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 เเละข้อหาอื่นจากการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ – สนามหลวง เมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน และจนถึงการเขณะนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยข้อความที่เพจฯศูนย์ทนายฯ โพสต์ มีดังนี้…

บันทึกทนายความ: ในห้องพิจารณาคดีที่ ‘อานนท์ นำภา’ สวมชุดครุยทับชุดนักโทษ

1

ณ ห้องพิจารณาคดี 701 ของศาลอาญา อานนท์ นำภา ในชุดนักโทษสีน้ำตาล หมายเลข 458 ปักอยู่บนหน้าอกของเขาเขานั่งอยู่ยังโต๊ะที่นั่งของจำเลย มือซ้ายถือเอกสารสำนวนคดี มือขวาถือปากกาด้านหลังที่นั่งอยู่ คือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในชุดสีน้ำเงิน 2 นาย หน้าตาเคร่งครึมคอยเฝ้าอานนท์อยู่

ผมเดินเข้าไปทักทายพร้อมกับจับมือเขา นับเป็นการสัมผัสตัวครั้งแรกในรอบ 20 กว่าวัน นับแต่เขาถูกขัง

“สบายดีไหมพี่ เข้มแข็งไว้นะ” “สบายดี” เขาตอบกลับทันควันพร้อมยิ้มใหญ่หน้าตาดูเบิกบาน ผมชวนเขาคุยสนทนากันหลายเรื่อง

วันนี้เขาตบมุขและเล่นมุขกับผมได้อย่างคล่องแคล่ว ชวนให้หวนคิดถึงตอนที่เขายังไม่ถูกจองจำ ลักษณะท่าทาง แววตา ทุกอย่างมันยังคงเป็นเขา

สำรวจสายตาไปทั่วห้องพิจารณาขนาดใหญ่ จึงเห็นว่า แม่ พ่อ น้องสาวของอานนท์ และหลานน้อยของอานนท์ก็มาที่ห้องพิจารณาคดีวันนี้ด้วย

แม่ของอานนท์จากร้อยเอ็ด มาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 64 ซึ่งเป็นวันที่สองหลังอานนท์ถูกคุมขัง ในเมืองหลวง แม่อานนท์ได้ไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองด้วยทุกๆ ครั้ง ทั้งการยืนนิ่งๆ หน้าศาล กิจกรรมหน้าเรือนจำ หรือแม้กระทั่งเดินทะลุฟ้า แกก็บอกว่า แม่อยากจะไปเดินกับเขา

ผมบอกแม่ว่า “แม่ครับ ย่างไปเว่านำอ้ายอานนท์กะได้เด้ครับ” “ได้อยู่ติหล่า เพิ่นสิบ่ว่าเบ๊าะ” แม่ตอบ

“ได้ครับ มาผมสิพาไป” จากนั้นผมก็พาแม่เดินไปคุยกับอานนท์

แม่กับลูกคุยกันอยู่นาน มือของแม่จะวางไว้บนหน้าตักของลูกเสมอ แววตาแม่เป็นห่วง แม้จะไม่ได้พูดคำว่าห่วงออกมา แต่ก็รับรู้ได้ว่าห่วงแสนห่วง สักพักหลานน้อยของอานนท์ก็วิ่งเข้ามา “ลุงนนท์ ลุงนนท์”

อานนท์ก็คว้าตัวหลานเข้ามากอด….

2

“ลุกขึ้นยืนเคารพศาล” เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ตะโกนส่งเสียง ทุกคนในห้องลุกขึ้น เสียงเจื้อยแจ้ว กลับเงียบสนิทลงจนได้ยินเสียงเครื่องปรับอากาศ เป็นช่วงเดียวกันกับที่ อานนท์ นำภา หยิบเสื้อครุยทนายความ ขึ้นมาสวมทับชุดนักโทษเพราะในคดีนี้เขาเป็นทั้งจำเลย และทนายความของจำเลยคนอื่น ๆ

ศาลออกนั่งพิจารณาคดีแล้ว “เชิญทุกท่านนั่งลงได้ครับ” จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3…….ศาลอ่านรายชื่อไล่เรียงทีละคนจนครบทั้งหมด ก่อนจะย้อนกลับมา “คุณอานนท์ เป็นทนายความจำเลยที่เท่าไหร่” “ผมเป็นทนายความจำเลยที่ 12-14 ครับ” เขาตอบชัดถ้อยชัดคำ

“ในเมื่อศาลยังไม่ตัดสิน ก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เมื่อยังเป็นทนายความอยู่ ก็ถือว่ายังมีศักดิ์และสิทธิ์ตามกฎหมาย ควรจะมีสิทธิมานั่งทำหน้าที่ทนายความได้” ผู้พิพากษาท่านนั้นกล่าว

“หากศาลจะให้ทนายอานนท์มานั่งที่โต๊ะทนาย เพื่อปรึกษาคดีกับทนายคนอื่น ๆ ทางราชทัณฑ์พอจะอำนวยความสะดวกให้ได้ไหมครับ” “นั่งได้ครับ ไม่ขัดข้อง” เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ผู้ควบคุมตัวอานนท์มา ตอบรับ

อานนท์เดินจากที่นั่งของจำเลย มานั่งที่โต๊ะทนายความ เมื่อเขาได้มาทำหน้าที่ทนายความที่เขารัก หน้าตาเขาดูอิ่มเอิบ มีชีวิตชีวา ราวดอกไม้ที่กลับมาเบ่งบาน

เขาเคยพูดกับผมถึงอาชีพนี้ว่า “มันคืออาชีพแรกที่ผมอยากจะทำ และผมคงทำมันไปเรื่อยๆ ผมรักการเป็นทนายความ โดยเฉพาะเวลาที่เรากำลังว่าความ ถามพยานมันรู้สึกเท่ห์ มีเสน่ห์ และสนุก เหมือนเรากำลังเสพอะไรบางอย่างอยู่”

อานนท์นั่งปรึกษาคดีกับหัวหน้าคณะทำงานและทนายอาวุโสในคดี กระบวนพิจารณาก็ดำเนินไปเรื่อย ๆ เขายังคงออกความเห็นในคดีเรื่องจำนวนพยานหลักฐาน และแนวทางการต่อสู้คดี

เขายังคงเป็นทนายความอยู่ทุกลมหายใจ

3

ทนายอาวุโสแถลง “จำเลยทุกคนยืนยันว่าได้ไปชุมนุมในวันที่เกิดเหตุจริง แต่ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย เพราะการชุมนุมเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ”

ประเด็นที่จะต้องปรึกษาหารือกับทั้งฝ่ายโจทก์-จำเลย และศาล มีเป็นจำนวนมาก จนต้องพักการพิจารณาเพื่อให้ฝ่ายจำเลยได้นั่งตรวจเอกสาร และรอนัดพิจารณาอีกครั้งในช่วงบ่าย

พอถึงเวลานัดพิจารณาคดียามบ่าย อานนท์ก็เดินขึ้นมาบนห้องพิจารณา หยิบเสื้อครุยมาสวมทับชุดนักโทษอีกครั้ง นั่งพูดคุยกันเรื่องคดีที่กำลังตรวจพยานอยู่ และเรื่องสัพเพเหระอื่น ๆ

ผมถามเขาว่า “พี่ พี่เป็นกวีนะ ทำไมไม่เห็นเขียนงานกวีออกมาบ้างเลย” เขาตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบ “มันต้องใช้อารมณ์หลายอย่าง ถึงจะเขียนออกมาได้ แต่วันนี้ผมมีความสุขมาก ๆ เลยนะ ที่ได้มาทำหน้าที่ทนายความ”

ศาลกลับมานั่งพิจารณาคดี ทนายจำเลยแถลงศาลเรื่องจำนวนพยานหลักฐาน ศาลขอกำหนดวันนัดสืบพยาน ทนายความทั้งหมดปรึกษากันเรื่องวันสืบพยาน อานนท์พูดแบบยิ้ม ๆ ว่า “มอบหน้าที่ให้คุณดูแลเลยนะ ผมว่างทุกวัน เพราะผมอยู่ข้างใน” พลางหัวเราะ

จากนั้นไม่นาน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา

“ทุกท่านฟังรายงานกระบวนพิจารณา” ศาลขาน

ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณา จนเป็นอันเสร็จการตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง

หน้าที่ในคดีความของทนายวันนี้ ผ่านไปอีกวัน

4

อานนท์ถอดเสื้อครุยทนายความออก เหลือเพียงชุดนักโทษที่เขาสวมใส่ ความจริงแล้ว เสื้อครุยไม่ได้มีความหมายอันใดมากนัก เพราะสำหรับผมแล้ว เขาคือ “ทนายอานนท์” ไม่ว่าจะสวมครุยหรือไม่ก็ตาม

เจ้าหน้าที่เรือนจำกำลังจะพาตัวเขาไปห้องควบคุม

ทุกคนเดินไปเอ่ยคำร่ำลา จับมือ และโอบกอด

เจ้าหน้าที่เรือนจำพาเขาเดินออกไปจากห้องพิจารณา

ผมกำลังเก็บของ เตรียมตัวกลับ ก็ได้ยินเสียงเด็กร้องไห้ เมื่อเดินออกไปดูหน้าห้องพิจารณา หลานน้อยกำลังเรียก “ลุงนนท์ ลุงนนท์” หลานน้อยร้องไห้ไม่หยุด

ราวเป็นเสียงอำลาของผู้ร่วมกระบวนการพิจารณาในวันนี้ต่ออานนท์

5

“ผมคิดถึงคุณ” เป็นถ้อยคำที่พี่ชอบพิมพ์อยู่เสมอ

ผมไม่ค่อยเข้าใจความหมายว่าพี่คิดถึงใคร

บางครั้งก็ด่าว่าพี่เวิ่นเว้อ จนถึงวันนี้ผมเข้าใจมันแล้ว

และผมก็อยากจะบอกว่า “ผมคิดถึงคุณ”

จนกว่าเราจะพบกันอีก

———————————–

บันทึกเหตุการณ์ ความรู้สึก และความทรงจำ

วันที่ 3 มีนาคม 2564 จากห้องพิจารณาคดี 701 ศาลอาญา ในวันนัดพร้อมคดีชุมนุมแกนนำคนอยากเลือกตั้ง UN62

++ บันทึกทนายความ: ในห้องพิจารณาคดีที่ ‘อานนท์ นำภา’ สวมชุดครุยทับชุดนักโทษ ++
.
1
.
ณ ห้องพิจารณาคดี 701 ของศาลอาญา…

โพสต์โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2021