ทัศนัย เศรษฐเสรี: ถ้าเสรีภาพทางวิชาการถูกละเมิด เราไม่มีหวังได้เสรีภาพแบบอื่น

ตัวตนและแนวคิดอ.ทัศนัย
ภาพจากเฟซบุ๊ก Thasnai Sethaseree

ย้อนอ่านแนวคิด “ทัศนัย เศรษฐเสรี” หลังถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในโลกโซเชียล กรณีปกป้องงานศิลปะของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

วันที่ 23 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีอาจารย์ ผู้บริหารและรองคณบดี เก็บงานศิลปะของนักศึกษา ที่กำลังแสดงและอยู่ในขั้นตอนการสร้างสรรค์งานไปทิ้งถุงขยะ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามถึงเสรีภาพ ขอบเขตการแสดงออกของผู้ทำงานศิลปะ กระทั่งสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกจดหมายเปิดผนึกซักถามต่อเหตุการณ์รื้อถอนงานศิลปะของนักศึกษา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นักศึกษาพยายามเจรจากับบุคลากรคณะวิจิตรศิลป์ที่มาเก็บผลงานศิลปะ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ ได้ออกมายืนเคียงข้างนักศึกษา เพื่อร่วมเจรจากับบุคลากรนานเกือบ 1 ชั่วโมง พร้อมกับกล่าวประโยคที่มีการแชร์อย่างแพร่หลายเมื่อช่วงคืนที่ผ่านมาว่า “เป็นศิลปิน ต้องไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร…” สร้างความประทับใจให้กับกลุ่มนักศึกษา ซึ่งพากันปรบมือกันเกรียวกราว

นอกจากนี้ ยังมีประโยคที่ว่า “อย่าทำอย่างนี้อีก ศิลปะอับอายมามากพอแล้ว เพราะคนที่ไม่รักเสรีภาพแบบนี้” รวมถึงกล่าวถึงคณบดีว่า “เป็นหน้าที่อะไรของคณบดีต้องมาเดินเก็บงานศิลปะ ที่ผ่านมาเป็นศิลปิน เป็นอาจารย์ หนึ่ง เคารพคน สอง เคารพศิลปินด้วยกัน สาม เคารพผลงานศิลปะ ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นจากนักศึกษา ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นจากคนไม่ได้เรียนศิลปะ รู้จักเคารพมันบ้าง นี่อะไร อำนาจบาตรใหญ่”

พร้อมทั้งทิ้งท้ายว่า “หน้าที่ของอาจารย์คือปกป้องลูกศิษย์ รักลูกศิษย์ และพิทักษ์ผลงานศิลปะ คนเรามักใหญ่ใฝ่สูง อยากมีอำนาจบาตรใหญ่ เป็นกันทุกคน ถ้าห้ามใจไม่ได้ ก็เหมือนหมาเหมือนกัน” จนทำให้บุคลากรของคณะฯ ยอมแพ้ ขนงานกลับมาคืนนักศึกษา

เรื่องราวยังไม่ยุติเพียงเท่านั้น เมื่อ อ.ทัศนัย ไปเคลื่อนไหวต่อในเฟซบุ๊กอีกหลายโพสต์ กลายเป็นที่ถูกอกถูกใจของชาวโซเชียล มีการกดแสดงความรู้สึก แสดงความเห็น และแชร์จำนวนมาก

 

 

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี” เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงแนวคิดและตัวตน ก่อนกลายเป็นไอดอลคนใหม่ในโซเชียล

“ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง”

เมื่อปี 2559 คอลัมน์ ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ เรื่อง สัจนิยมเหนือจริง ของกายภาพแห่งมหรสพ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กล่าวถึง อ.ทัศนัย ว่า เป็นศิลปินที่มีบทบาทในการแสดงทัศนคติทางสังคมและการเมืองผ่านการทำงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะเชื่อว่า งานศิลปะเป็นมากกว่าการสะท้อนตัวตนของศิลปิน และยังต้องเป็นปรอทวัดอุณหภูมิของสังคมด้วย

ซึ่งเสรีภาพมีความสำคัญยิ่งในการสร้างผลงานทางศิลปะ และประชาธิปไตยคือหนทางเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น

อ.ทัศนัย ยังร่วมกับเพื่อนศิลปินทำ “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2554 และเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหาร ซึ่งมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อ.ทัศนัย ได้ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ คสช.หยุดจำกัดเสรีภาพนักวิชาการและนักศึกษา

อาจารย์ยืนยันว่า ถ้าแม้แต่เสรีภาพทางวิชาการยังถูกละเมิด เราก็ไม่มีทางหวังได้ว่าเสรีภาพในการแสดงออกแบบอื่น ๆ จะได้รับการเคารพ

ขอบคุณภาพจาก หอศิลป์ เวอร์

ลงชื่อเรียกร้องคืนสิทธิประกันตัว 4 แกนนำราษฎร

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำของการชุมนุมวันที่ 19-20 กันยายน 2563 รวม 4 คน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, และนายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์) โดยให้เหตุผลว่า “หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก”

คณาจารย์ 255 คน จาก 31 สถาบัน จึงร่วมกันลงชื่อขอให้ศาลได้พึงพิจารณาทบทวนคำสั่งไม่ให้ประกันตัว หนึ่งในนั้นคือชื่อของ “ทัศนัย เศรษฐเสรี” สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งร่วมชื่อเป็นรายที่ 91

ขณะที่เดือนสิงหาคม 2563 อ.ทัศนัย กับนักวิชาการกว่า 60 คน ยังใช้ตำแหน่งเป็นนายประกันแก่ผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีจากการชุมนุม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งครั้งนั้นศาลอาญาออกหมายจับ 15 นักศึกษาและประชาชนที่ร่วมปราศรัย

ทั้งนี้ ปรากฏชื่อ อ.ทัศนัย จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นรายชื่อที่ 14

ศิลปะไม่ใช่อาชญากรรม

เมื่อปี 2558 ประชาไท สัมภาษณ์ อ.ทัศนัย ออกมาเป็นบทความเรื่อง คืนความจริงกับทัศนัย เศรษฐเสรี: ศิลปะไม่ใช่อาชญากรรม ในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว อ.ทัศนัย กล่าวว่า ศิลปะเป็นงานที่เกิดขึ้นจากสำนึกที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพอยู่ในตัวเอง เพราะงานศิลปะเกิดขึ้นจากจิตสำนึกและความเชื่อว่าชีวิตของมนุษย์มีระบบคุณค่า ข้อยึดถือ และมีความเชื่อที่หลากหลายแตกต่างกันเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นงานศิลปะจึงไม่สามารถถูกจำกัดด้วยระบบคุณค่าแบบใดแบบหนึ่ง โดยการห้ามไม่ให้ศิลปินชื่นชมหรือวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้

ในเมืองไทยมีศิลปะแขนงต่าง ๆ ถูกเซ็นเซอร์ก็ดีหรือถูกห้ามปราม สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไม่ใช่สังคมที่มีระดับของความเป็นประชาธิปไตยที่สูงนัก”

คนที่ทำงานด้านศิลปะทุกคน ไม่สมควรที่จะไปอยู่ในคุก เพราะศิลปะไม่ใช่อาชญากรรม