เปิด 6 พฤติกรรมโพสต์โซเชียล เสี่ยงตกงาน

6 พฤติกรรมการโพสต์โซเชียลมีเดีย เสี่ยงตกงาน
Image by MarieXMartin from Pixabay

จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในเขตวัฒนา 31 นอกจาก 5 ครอบครัวที่ต้องสูญเสียแล้ว ยังมีบางคนต้องเสียงาน จากการแสดงความเห็นทางโซเชียล 

วันที่ 5 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี โรงพยาบาลแพทย์รังสิต และ เมืองไทยประกันชีวิต ออกประกาศพ้นสภาพพนักงาน ที่แสดงความเห็นไม่เหมาะสมทางโซเชียล จากเหตุเพลิงไหม้อาคาร 3 ชั้น ในหมู่บ้านกฤษดานคร 31 ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ถือโอกาสรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลิกจ้างของนายจ้าง รวมถึงพฤติกรรมการโพสต์หรือแสดงความเห็นทางโซเชียล ที่ลูกจ้างควรหลีกเลี่ยง หากไม่อยากตกงาน ดังนี้

เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

อย่างแรกที่ต้องกล่าวถึงก่อนคือเรื่อง “การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม” ซึ่งหมายถึง การที่นายจ้างเลิกจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติถึงเหตุอันสมควร ที่นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ โดยลูกจ้างไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ มี 6 ข้อ ดังนี้

  1. ลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
  2. ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
  3. ลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
  4. ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน     หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
  5. ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
  6. ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด หากเป็นความผิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายด้วย

คิดก่อนโพสต์โซเชียล

หลายคนมองว่าเฟซบุ๊ก, ไอจี, ทวิตเตอร์ หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่จะแสดงความเห็นอะไรลงไปก็ได้ แต่ความจริงแล้วแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ได้มีความเป็นส่วนตัวเลย หากตั้งค่าเป็นสาธารณะให้คนทั่วไปเห็น เพราะฉะนั้นการโพสต์หรือแสดงความเห็นที่สุ่มเสี่ยงจึงอาจทำให้เราตกงานได้เลยทีเดียว

JobsDB ระบุถึง 6 พฤติกรรมการโพสต์โซเชียล ที่ควรหลีกเลี่ยงหากไม่อยากตกงาน ดังนี้

1.บ่นเรื่องที่ทำงาน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน ความไม่พอใจในระบบการทำงาน เบื่อเจ้านาย ลูกน้องไม่ได้ดั่งใจ และโดยเฉพาะเรื่องเงินเดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทให้ปิดเป็นความลับเฉพาะคุณ กับบริษัท เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ระหว่างที่ทำงาน และตัวคุณเอง อีกทั้งเคยมีกรณีในต่างประเทศด้วย เมื่อชายคนหนึ่งโพสต์เกี่ยวกับเงินเดือนของเขาว่ามันน้อยเกินไป และถึงแม้จะลบข้อความนี้ออกไปแล้วในภายหลัง แต่ทางบริษัทก็ยังไล่เขาออก ในข้อหาให้ร้ายบริษัท

2.Check in ที่ทำงานพร้อมระบายความในใจ

ควรระวังการระบายทุกความรู้สึกลงในโลกอินเตอร์เน็ตเพราะมันแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะความรู้สึกในแง่ลบ มีหญิงสาวคนหนึ่งในไทย check in ในโซเชียลฯ เป็นที่ทำงานของเธอ พร้อมกับระบายว่าช่างเป็นวันที่น่าเบื่อจริง ๆ หลังจากนั้น 2 วัน ผู้จัดการฝ่ายภูมิภาคเอเชียของบริษัทถึงขนาดบินจากฮ่องกงมาไทย เพื่อเซ็นใบเชิญออกจากงานให้กับเธอ ถ้าไม่อยากรับเกียรตินี้ ขอให้ระวังด้วย

3.ความสูญเสียเป็นเรื่องเศร้า ไม่ใช่มุขตลก

เพราะการนำเรื่องการเสียชีวิต หรือการสูญเสียต่าง ๆ มาเป็นเรื่องตลกนั้น เป็นการไม่ให้เกียรติผู้สูญเสียและญาติของพวกเขา โดยมีดาราตลกชื่อดังชาวอเมริกันคนหนึ่ง นำเหตุการณ์สึนามิปี 2011 ในประเทศญี่ปุ่นมาเล่นตลกผ่านโซเชียลฯ และจากนั้นเขาก็ถูกปลดออกจากงานต่าง ๆ ที่เขาทำอยู่ เพราะความสูญเสียเป็นเรื่องที่ส่งผลถึงจิตใจ ดังนั้นไม่ควรหยิบเรื่องราวเหล่านี้มาเล่นตลก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีประสงค์ร้ายก็ตาม

4.ดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น

ระวังการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นที่ละเอียดอ่อน ในเชิงดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น อาทิ เชื้อชาติ สีผิว ฯ ยกตัวอย่างหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังจะเดินทางไปปฏิบัติงานที่ประเทศแถบแอฟริกา แล้วเธอก็ได้โพสต์ข้อความไม่ควรที่เกี่ยวกับสีผิว และการติดเชื้อเอดส์ และทิ้งท้ายด้วยข้อความว่าเป็นเรื่องล้อเล่นในโซเชียลฯ ส่วนตัวของเธอ และถูกแพร่กระจายไปทั่วโลก

หลังจากที่เธอถึงแอฟริกาได้ไม่นาน เธอก็ถูกปลดออกจากงานทันที ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามุขนั้นมันไม่ตลก และคนอีกครึ่งโลกที่ไม่ได้ขำไปกับมัน

5.โพสต์พฤติกรรมน่ารังเกียจ

ไม่มีองค์กรไหนต้องพนักงานที่มีพฤติกรรมเป็นที่น่ารังเกียจอยู่ในองค์กร เพราะพฤติกรรมเหล่านั้นจะทำลายภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร และไม่สามารถดึงกลับมาดีดังเดิมได้ในเวลาอันสั้น ดังกรณีของชายคนหนึ่งที่ได้โพสต์ภาพเขาปัสสาวะลงอาหารผ่านโซเชียลฯ ของเขา แน่นอนว่าภาพอันแสนสะอิดสะเอียนนั้นได้รับการต่อต้านจากกระแสสังคมอย่างรุนแรง

ถึงแม้เขาพยายามจะอ้างว่าไม่ได้เอาอาหารจานนั้นไปเสิร์ฟก็ตาม เขาก็ถูกไล่ออกในเวลาต่อมาอยู่ดี

6.โกหก และลืม

กรณีนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้โกหกที่ทำงานแบบแนบเนียน เพียงแต่เพื่อความสบายใจของทั้ง 2 ฝ่ายนั้น สิ่งที่ได้เห็นทั้งในโลกแห่งความจริง และโลกโซเชียลฯ ก็ควรจะสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่บอกที่ทำงานว่าป่วย นอนอยู่บ้าน หรือโรงพยาบาล แต่รูปในโซเชียลฯ ทั้งแดนซ์ ทั้งดื่ม อย่างเมามันอยู่ริมทะเล กลับมาจากป่วยการเมืองแล้ว อาจได้พักยาวก็เป็นได้

โซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่มีประโยชน์ แต่ในทางกลับกันอาจเป็นโทษมหันต์สำหรับผู้ที่ใช้งานโดยขาดความไตร่ตรอง ยั้งคิด