ไวรัล “ลูกบิด” จากเรื่องเล่าของอาจารย์ดังนิด้ายังไม่จบ เมื่อชาวเน็ตแห่แชร์โพสต์ของอาจารย์สาวในญี่ปุ่น ที่ออกมาตอบโต้โพสต์ต้นเรื่องทีละประโยค
วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์เล่าประสบการณ์ตอนใช้ชีวิตอยู่อเมริกา เจอปัญหาใช้มือเปล่าจับลูกบิดท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ทำให้มือติดกับลูกบิดประตู ซึ่งเป็นจุดพลิกผันให้ตัดสินใจกลับประเทศไทยเพื่อมารับใช้ชาติบ้านเมือง ก่อนเขียนปิดท้ายว่า “ฝากให้คนชังชาติที่คิดจะไปอยู่บ้านเมืองอื่น สักวันจะเข้าใจ ขออวยพรให้โชคดี ได้เข้าใจชีวิตจริง ๆ” ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
- “ลูกบิด” ประสบการณ์คืนหนาวเหน็บ เกี่ยวอะไรกับ “ย้ายประเทศกันเถอะ”
- ย้ายประเทศกันเถอะ กลุ่มเฟซบุ๊กที่ชวนให้สงสัย คุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ที่ไหน?
หลังเรื่องลูกบิดของ ผศ.ดร.อานนท์ กลายเป็นไวรัลในโซเชียลเมืองไทย ต่อมาชาวเน็ตได้พากันแชร์โพสต์ของ ผศ.ดร.พัทธจิต ตั้งสินมั่นคง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น หรือ อาจารย์เจ ที่สวนกลับข้อความแต่ละประโยคของ ผศ.ดร.อานนท์ พร้อมแท็กบัญชีเฟซบุ๊ก ผศ.ดร.อานนท์ ดังนี้
อ่านสเตตัสนี่จบ ทำให้เราสงสัยในความหมายของการเรียนปริญญาเอก เคยเข้าใจว่า ที่สังคมให้ค่าและฟังคนที่เรียนจบ ป. เอก เพราะการเรียนปริญญาเอกนอกเหนือจากจะเป็นบททดสอบองค์ความรู้ที่เรามีในแต่ละสาขาวิชาแล้ว แล้วยังเป็นกระบวนการที่ทุกคนน่าจะเกิด…
1) critical thinking skill การตั้งคำถามและหาคำตอบอย่างมีเหตุผล
2) problem solving skill เพราะต้องแก้ปัญหาจากกระบวนการตั้งคำถามที่งอกขึ้นมาตลอดเวลา และ
3) perseverance ความอดทนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เพราะต้องอยู่กับ self-doubt ตลอดเวลาว่าสิ่งที่ทำอยู่มีคุณค่าจริง ๆ ไหม…งานวิจัยก็ออกมาว่าคนเรียน ป. โท เอก มีอัตราเผชิญภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป 6 เท่าตัว…
ไม่เข้าใจว่า คนที่เคยผ่านกระบวนการแบบนี้มา ก่อนจะพิมพ์ status นี้ออกมา ทำไมถึงไม่เกิดคำถาม…
“ผมไปทำงานเป็น adjunct assistant professor สอนนักศึกษาปริญญาเอกในโรงเรียนบริหารธุรกิจที่ Zicklin school of business, Baruch College, City University of New York. ”
–> คำถาม 1: ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมเหยียดคุณ และมองคุณเป็นพลเมืองชั้นสองจริง เค้าจะให้คุณเป็น adjunct assitant professor สอนนักเรียนปริญญาเอกได้อย่างไร?
“กูเป็นคนไทย จากประเทศไทย ไม่ใช่คนจีน หรอกหนา ไอ้มืดตัวดำปี๋ มันโกรธมาก ความรู้สึกคือ โห คนดำ เป็นพลเมืองชั้นสองของอเมริกา ยังเหยียดและดูถูกเรา แล้วเราเองเล่าจะเป็นพลเมืองชั้นไหนกันแน่”
–> คำถาม 2: เราถูกเหยียดเพราะเราเป็นคนไทย เราเป็น “พลเมืองชั้นสอง” เพราะเราเป็นต่างชาติและเอเชีย หรือเพราะคนที่เหยียดคุณมีโลกทัศน์ที่คับแคบและค่านิยมที่บิดเบี้ยว?
“พร้อมกับคำถามในใจว่า เราจะมาอยู่ทรมานเป็นพลเมืองชั้นสามชั้นสี่ในที่ ๆ ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของเราไปทำไม”
–> คำถาม 3: การที่คุณบอกว่าคุณเป็น “พลเมืองชั้นสอง สาม สี่ ห้า” คุณได้สิทธิรักษาพยาบาล สิทธิในการใช้ชีวิตในสหรัฐ ต่างจากพลเมืองอย่างไร? และคุณแน่ใจเหรอ ว่าคนอย่างคุณและเรา ไม่ใช่พลเมืองชั้นสามชั้นสี่ในบ้านตัวเอง?
“วันหนึ่งอากาศหนาวมาก ผมจะเข้าบ้านเช้า เลยถอดถุงมือเพื่อให้จับลูกกุญแจไขลูกบิดได้ถนัด เอามือเปล่าจับประตูแล้วเนื่องจากหนาวเย็นจัดมาก มือเปล่าๆ เลยเกิดน้ำแข็งเกาะติดกับลูกบิดประตู ผมต้องก้มเอาลมปากร้อนๆ เป่ามือจนเอามือออกจากลูกบิด”
–> คำถาม 4: คุณผ่านกระบวนการทดสอบความอดทนที่ทำให้มีอัตราเผชิญภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป 6 เท่าตัว…แต่คุณยอมแพ้ให้กับลูกบิดประตูที่น้ำแข็งเกาะในอากาศหนาวเหน็บ…ที่มันคาดเดาได้และแก้ปัญหาได้ด้วย problem solving skill ง่าย ๆ?
“แต่ถ้าเรายึดมั่นในการทำความดีเพื่อชาติบ้านเมือง ผมเชื่อมั่นว่าแล้วความดีจะคุ้มครองเรา อยู่ที่ไหน ทำเพื่อใครก็ไม่เท่ากับทำให้แผ่นดินเกิด”
–> คำถาม 5: การเรียกคนเห็นต่างว่า “ขยะ” และเรียกร้องให้คนกลุ่มนี้ถูกกำจัดก่อนจะให้ทหารอออกมาทำรัฐประหาร คือ “การยึดมั่นในการทำดีเพื่อชาติบ้านเมือง”?
“ฝากให้คนชังชาติที่คิดจะไปอยู่บ้านเมืองอื่น ชาติอื่น แล้วสักวันคุณจะเข้าใจ”
–>คำถาม 6: คุณทราบมั้ยว่ามีคนไทยที่รักชาติมากมายที่เลือกที่จะอยู่เมืองนอก เพราะมันช่วยเป็นกระบอกเสียง ช่วยสร้าง recognition ให้ประเทศไทยได้มากกว่าการอยู่ในประเทศ?
ด้วยความไม่เคารพ
จากใจคนไทย “ชังชาติ” ในญี่ปุ่น
ปล. ขออนุญาตแคปหน้าจอมาเลย เดี๋ยวจะถูกลบอีก
ปล. 2 หากมีคำตอบ หนูอยากฟังค่ะ Arnond Sakworawich
อ่านสเตตัสนี่จบ ทำให้เราสงสัยในความหมายของการเรียนปริญญาเอก
.
เคยเข้าใจว่า ที่สังคมให้ค่าและฟังคนที่เรียนจบ ป. เอก เพราะ…โพสต์โดย Jay Pattajit Tangsinmunkong เมื่อ วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม 2021