“ลูกบิด” ประสบการณ์คืนหนาวเหน็บ เกี่ยวอะไรกับ “ย้ายประเทศกันเถอะ”

ไวรัลลูกบิดจากย้ายประเทศกันเถอะ
ภาพโดย CJ จาก Pixabay

“ย้ายประเทศกันเถอะ” ยังเป็นกระแสร้อนในโลกโซเชียล นอกจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุม ล่าสุดยังเป็นที่มาของดราม่าเรื่องใหม่ “ลูกบิด” 

วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงวันนี้ ชาวโซเชียลน่าจะเลื่อนฟีดแล้วเจอมุกเกี่ยวกับ “ลูกบิด” มาบ้าง ทีแรกหลายคนอาจคิดว่าเป็นมุกส่วนตัวหรือมุกเฉพาะกลุ่มของเพื่อน ๆ ในเฟซบุ๊ก แต่เชื่อหรือไม่ว่าดราม่านี้เป็นความต่อเนื่องจากกระแส กลุ่มเฟซบุ๊ก “ย้ายประเทศกันเถอะ” ซึ่ง ณ เวลา 13.55 น. วันนี้ จำนวนสมาชิกพุ่งไปถึง 6.7 แสนคน แล้ว

ด้วยความแรงของ “ย้ายประเทศกันเถอะ” ทำให้มีหลายคนออกมาตักเตือนผู้ใหญ่ที่มีอำนาจว่าอย่ามองข้ามเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มองว่า หากสมาชิกในกลุ่มนี้ เพียง 1% หรือ 10% ได้ย้ายไปต่างประเทศจริง ๆ ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะคนที่จะไปได้ต้องเป็นระดับครีมของครีม เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถจริงที่เป็นประเทศนั้นยอมรับ

ด้าน “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) วิเคราะห์ว่า คนหนุ่มสาวรับไม่ได้และไม่เห็นวี่แววความเปลี่ยนแปลง ก็คงอยากย้ายเพราะประเทศส่วนใหญ่ไม่เป็นแบบนี้ แต่ถึงที่สุดพวกเขาจะเข้าใจตรงกันว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และความรู้สึกนี้จะกลายเป็นพลังหันมาสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้มีอนาคตเพื่อคนทุกฝ่าย มีพื้นที่ให้คนทุกกลุ่ม มีความเท่าเทียมให้คนทุกคน

แต่ความเห็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุด กลับมาจากฝั่งที่มีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับสมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” นั่นคือ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งโพสต์เล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เกือบ 6 ปี ตอนเรียนปริญญาเอก โดยยอมรับว่าตอนแรกมีความคิดจะไม่กลับประเทศไทย จะอยู่สหรัฐฯ ต่อ

เมื่ออยู่สหรัฐฯ ได้สักพัก จึงทราบว่าตัวเองเป็นแค่ “พลเมืองชั้นสอง” เจอความลำเอียงหรือการรังเกียจเดียดฉันท์ (prejudice) หลายอย่าง เลยรู้ว่าอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุขเหมือนประเทศไทย

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้อาจารย์คนดังไม่อยากอยู่ต่างประเทศต่อ คือเหตุการณ์ฝังใจในวันที่อากาศหนาวมาก…

“วันหนึ่งอากาศหนาวมาก ผมจะเข้าบ้านเช้า เลยถอดถุงมือเพื่อให้จับลูกกุญแจไขลูกบิดได้ถนัด เอามือเปล่าจับประตูแล้ว เนื่องจากหนาวเย็นจัดมาก มือเปล่า ๆ เลยเกิดน้ำแข็งเกาะติดกับลูกบิดประตู ผมต้องก้มเอาลมปากร้อนๆ เป่ามือจนเอามือออกจากลูกบิด…” ผศ.ดร.อานนท์ เล่า

จุดพลิกผันนี้เองที่ทำให้ ผศ.ดร.อานนท์ เกิดคำถามในใจว่า จะอยู่ทรมานเป็นพลเมืองชั้นสามชั้นสี่ ในที่ที่ไม่ใช่บ้านเกิดทำไม? วินาทีนั้นจึงตัดสินใจว่าต้องกลับมารับใช้ชาติบ้านเมือง

“ชาติบ้านเมืองของเรา อาจจะวุ่นวายไปบ้าง มีความแตกแยก มีคนเลว มีนักการเมืองเลว มีประชาชนเลวและเห็นแก่ตัว มีต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ มีการกลั่นแกล้งรังแกกัน แต่ถ้าเรายึดมั่นในการทำความดีเพื่อชาติบ้านเมือง ผมเชื่อมั่นว่าแล้วความดีจะคุ้มครองเรา อยู่ที่ไหน ทำเพื่อใครก็ไม่เท่ากับทำให้แผ่นดินเกิด”

ก่อนปิดท้ายการโพสต์เล่าประสบการณ์ไม่ดีกับลูกบิดว่า ฝากให้คนชังชาติที่คิดจะไปอยู่บ้านเมืองอื่น ชาติอื่น แล้วสักวันคุณจะเข้าใจ เอาเป็นว่า ขออวยพรให้พวกที่อยากไป ได้ไป ได้พบกับความเป็นจริง ขอให้รีบ ๆ ไปเลยครับ ขออวยพรให้โชคดี ได้เข้าใจชีวิตจริง ๆ ไม่ได้เหนี่ยวรั้ง ไม่ได้ไล่ อวยพรให้จงรีบไปให้เร็วสมใจปรารถนาจงทุกประการ

 

สุดท้ายเรื่องเล่าของ ผศ.ดร.อานนท์ ได้กลายเป็นไวรัลในโซเชียล เพียง 1 วันหลังโพสต์ มีคนกดแชร์กว่า 1 หมื่นครั้ง แสดงความรู้สึกกว่า 3.1 หมื่นครั้ง และแสดงความเห็นมากกว่า 3.3 พันครั้ง

สำหรับผู้ที่เห็นด้วยต่างชื่นชมที่ ผศ.ดร.อานนท์ นำวิชาความรู้กลับมารับใช้ชาติ ทั้งยังเป็นกำลังใจให้สำหรับการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเมือง แต่ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยถล่ม ผศ.ดร.อานนท์ ว่า เป็นคนการศึกษาสูง เหตุใดจึงไม่รู้ว่าควรใส่ถุงมือจับลูกบิดตอนอากาศหนาว ขณะที่อีกหลายคนล้อเลียนว่า หากไม่ใช่เพราะลูกบิด คงไม่กลับมารับใช้ชาติ และต่อมา ผศ.ดร.อานนท์ ได้จำกัดคนที่สามารถแสดงความเห็นต่อโพสต์นี้ แล้ว

ล่าสุด ผศ.ดร.อานนท์ โพสต์ถึงเรื่องนี้อีกครั้ง โดยชี้แจงว่า ตอนจะเข้าบ้าน ไขลูกกุญแจไม่ได้ เพราะอุณหภูมิติดลบ 20 องศาเซลเซียส เลยถอดถุงมือออก แล้วไขกุญแจลูกบิด แล้วหลงลืมใส่ถุงมือก่อนจับลูกบิดประตู เลยทำให้มือติดลูกบิดประตู เป็นเรื่องปกติ คนเราเผลอลืมกันได้

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงชายคนหนึ่งว่า ทะเลาะกับคนในครอบครัว พอเขาปิดล็อกลูกบิดประตู กลับเอาขวานจามลูกบิดและประตูบ้านตัวเองจนเละพังยับ เอาแต่ใจตัวเอง ไร้วุฒิภาวะ มีแต่อารมณ์ ที่สำคัญทำลายบ้านเรือนและบ้านเมืองของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.อานนท์ ไม่ได้ระบุว่ากล่าวพาดพิงถึงใคร