แม่ค้าน้ำส้มช้ำใจ โดนล่อซื้อ 500 ขวด มิจฉาชีพหลอกปรับเงินหลักหมื่น

แม่ค้าน้ำส้ม

แม่ค้าน้ำส้มออนไลน์ดีใจลูกค้าสั่งออร์เดอร์ 500 ขวด ถึงวันนัดเพิ่งรู้ทำงานเป็นแก๊ง ทำทีตรวจร้าน ถามหาใบอนุญาต เรียกค่าปรับ 12,000 บาท คนแห่คอมเมนต์ให้เอาผิด

วันที่ 15 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกออนไลน์แห่คอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์ในเฟซบุ๊ก แม่ค้าขายน้ำส้มรายหนึ่ง ที่ได้โพสต์ข้อความระบุว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ได้รับรายการสั่งซื้อน้ำส้มจำนวน 500 ขวด และลูกค้าแจ้งว่าจะมารับสินค้าที่ร้าน พร้อมชำระเป็นเงินสด ตนดีใจมาก จึงจ้างคนมาช่วยงานทั้งเช้าและเย็น

แม่ค้าเล่าว่า พอถึงเวลานัดรับสินค้า มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งจำนวน 5 คน ได้เข้ามานั่งรับประทานอาหารที่ร้าน สักพักขอเข้าไปดูภายในร้านว่า มีสินค้าอะไรขายบ้าง และเดินเข้าไปในห้องทำน้ำส้ม เพื่อตามหาน้ำส้ม 500 ขวด พร้อมขอดูใบอนุญาตขายน้ำ ซึ่งตนยังไม่เข้าใจว่า เป็นเพียงร้านเล็ก ๆ ไม่ใช่โรงงาน จำเป็นต้องมีด้วยหรือ

จากนั้นจึงให้พนักงานสอบถามถึงขั้นตอนการทำใบอนุญาต โดยผู้ที่เป็นลูกค้าก็ได้นับสินค้าในร้านว่ามีจำนวนเท่าไร และสุดท้ายมีการคิดค่าปรับจำนวน 12,000 บาท แต่สุดท้ายพบว่า ลูกค้าที่สั่งสินค้ากับคนที่คิดค่าปรับ เป็นพวกเดียวกัน

หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มีการส่งต่อถึง 11,000 ครั้ง (ข้อมูลเวลา 11.00 น. วันที่ 16 มิ.ย.) และมีผู้มาแสดงความเห็นเป็นจำนวนมากถึง 4,000 ครั้ง โดยส่วนใหญ่บอกให้แม่ค้าไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มคนดังกล่าว พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว เพื่อความเข้าใจในข้อกฎหมายที่ถูกต้อง

ล่าสุด วันนี้ (16 มิ.ย.) แม่ค้าขายน้ำส้ม ได้โพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้ง แจ้งว่า ตนได้โทรสอบถามกับทางกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ถึงประเด็นการขอใบอนุญาตในการจำหน่ายสินค้า และได้คำตอบว่า การจำหน่ายสินค้าแบบตนไม่ต้องมีใบอนุญาตก็ได้ เนื่องจากไม่ได้มีการผลิตที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ พร้อมทิ้งท้ายว่า โพสต์ของตนก่อนหน้านี้เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนตนเองและแม่ค้าด้วยกัน ไม่ได้มีเจตนาอื่นใด

ขณะที่ The MATTER (วันที่ 5 พ.ย. 62) ได้เคยนำเสนอคอนเทนต์อธิบายความหมายระหว่าง “การล่อซื้อ” กับ “การล่อให้กระทำผิด” ระบุว่า คำว่า ล่อซื้อ คือ รู้ว่าทำผิดแต่ขาดพยานหลักฐาน เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้การล่อซื้อเพื่อให้ผู้ต้องสงสัยคนนั้น ๆ กระทำผิด เป็นหนึ่งในวิธีการเสาะหาพยานหลักฐานเพื่อจับกุมผู้กระทำผิดที่ใช้กับในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในไทย ที่มีการล่อซื้อในคดีอาญาต่าง ๆ ค่อนข้างหลากหลาย

ส่วนคำว่า ล่อให้กระทำผิด คือ การสร้างแรงจูงใจโดยใช้ผลประโยชน์บางอย่างเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำผิด ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะกระทำผิดแต่แรก

แม้ไทยจะไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการ “ล่อซื้อ” ไว้อย่างชัดเจน (ยกเว้นกฎกระทรวงและระเบียบเกี่ยวกับการล่อซื้อยาเสพติด) แต่ก็ถือเป็นวิธีการที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และที่ผ่านมาก็มีคำพิพากษาของศาลฎีการองรับไว้เป็นจำนวนมาก ว่าการล่อซื้อเป็นหนึ่งในวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ขณะเดียวกันหากการล่อซื้อนั้น ๆ ถูกตัดสินว่าเป็นการ “ล่อให้กระทำผิด” ระบบศาลหลายชาติก็จะมีวิธีดำเนินการที่แตกต่างกัน เช่น ศาลสหรัฐอเมริกาให้ยกฟ้องไปเลย ศาลอังกฤษใช้วิธีตัดพยาน ศาลสิงคโปร์ให้ยังรับฟังได้แต่ชั่งน้ำหนัก เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเคยมีงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่า การล่อซื้อของไทยยังไม่มีมาตรการควบคุมเจ้าหน้าที่และสายลับที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางคดีที่เอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องได้ เช่น การกระทำผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

สิ่งที่ตามมาก็คือ “จะก่อให้เกิดผลกระทบกับหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ล่อให้กระทำผิด ฝ่ายผู้ถูกล่อให้กระทำผิด เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนทั่วไป” โดยเฉพาะเรื่องความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม การถูกใช้เป็นเครื่องมือดำเนินคดี ไปจนถึงเปิดโอกาสให้เกิดคอร์รัปชั่น