
วัฒนธรรมที่กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เกิดดราม่ากรณีล่าสุดระหว่างไทย–กัมพูชา ว่าด้วย ดอกลำดวน
วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 จากกรณีดราม่าชาวเน็ต ไทย–กัมพูชา ถกเถียงกันเรื่องความเป็นเจ้าของ ดอกลำดวน ที่เชื่อมโยงกับ ภาพยนตร์ “บุพเพสันนิวาส ๒” นั้น สะท้อนถึงกระแสชาตินิยมที่ยังเข้มข้นอยู่ในกลุ่มประชาชนส่วนหนึ่งของสองประเทศ
กรณีดังกล่าวเริ่มเป็นที่พูดถึงในเพจเฟซบุ๊กของบริษัท GDH ค่ายหนังดัง ซึ่งโพสต์ภาพโปสเตอร์โปรโมตภาพยนตร์ “บุพเพสันนิวาส ๒“ วันที่ 23 ก.ค. 2565 วาระนับถอยหลัง 5 วันก่อนที่หนังจะเข้าฉายวันที่ 28 ก.ค. เป็นภาพพระเอกนางเอก โป๊ป ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ และ เบลล่า ราณี แคมเปน ถือดอกลำดวน ที่สื่อความหมาย แทนความรักที่ยั่งยืน
พร้อมข้อความว่า “ดอกลำดวนหวนคำนึงคิดถึงเจ้า แม้รักเรานั้นผันผ่านนานแค่ไหน รักของพี่จักไม่หวั่นผันแปรไป ทุกห้องใจมีแต่เจ้ามิรู้ลืม“
โพสต์ดังกล่าวมีผู้เข้ามาเขียนความเห็นว่า “ขอบคุณสำหรับการส่งเสริมดอกไม้ประจำชาติของเราให้โลกรู้ แต่ครั้งหน้าอย่าลืมให้เครดิตเจ้าของด้วยนะคะ …..” จากนั้น มีชาวเน็ตคนอื่นเข้าไปโต้แย้ง โดยเฉพาะประเด็นการแสดงความเป็นเจ้าของ จนมีความเห็นท่วมท้นเกิน 16,000 คอมเมนต์
ส่วนหนึ่งระบุว่า ดอกลำดวน เป็นดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา นับตั้งแต่ปี 2548 และบ้างว่า ไทยก็มีจังหวัดศรีสะเกษ เลือกดอกลำดวนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด ตามที่ปรากฏในตำนานเมืองศรีนครลำดวน และบ้างว่า เป็นดอกไม้ร่วมกันของภูมิภาค จากที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอินโดจีน เป็นต้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่สืบค้นได้จากกูเกิล เสิร์ชเอ็นจินรายใหญ่ของโลก ประเทศกัมพูชา ยกย่องให้ดอกลำดวน หรือ ดอกผการ็อมดวล เป็นดอกไม้ประจำชาติ ตามประกาศ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2548
พระบาทสมเด็จ พระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ทรงตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ประจำชาติกัมพูชา ในวันดังกล่าวให้ดอกลำดวนเป็นดอกไม้ประจำชาติของราชอาณาจักรกัมพูชา และเป็น 1 ใน 7 อย่างของสัญลักษณ์ของประเทศ
ข้อมูลระบุด้วยว่า ชาวกัมพูชานิยมปลูกต้นลำดวนไว้ตกแต่งตามบริเวณบ้านเรือน และในสวนสาธารณะ
ประเด็นดราม่าดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงมาข้ามวัน โดยวันที่ 24 ก.ค. เพจ gdh โพสต์ภาพโปสเตอร์นับถอยหลัง 4 วันอีกรูปหนึ่ง เป็นภาพพระเอกนางเอก โป๊ป–เบลล่า พร้อมดอกชงโค ในมือนางเอก พร้อมคำบรรยายว่า ดอกชงโค สื่อถึง ความรักที่ซื่อสัตย์
“ดอกชงโคแด่รักไม่ย่อท้อ แม้ต้องรอกี่สิบปีมิขัดขืน ร้อยพันหมื่นอุปสรรคสู้หยัดยืน ทุกวันคืนมีกานดาเพียงผู้เดียว”
ส่วนวันที่ 25 ก.ค. เป็นภาพ ดอกดาหลา แทนความรักที่มั่นคง เตรียมพบกับความรักที่มั่นคง.. “ดอกดาหลาโหยหาใครคนหนึ่ง ใจรำพึงถึงออเจ้าเฝ้าฝันหา จักคงมั่นจนถึงวันรักนำพา คราสบตาดั่งศรรักปักดวงใจ”
โพสต์ทั้งสองวันที่มีดอกไม้ 2 ชนิดยังคงมีคอมเมนต์เข้ามาเขียนถึงปมชิงดอกลำดวนอีก พร้อมข้อความภาษาไทยประชดว่า จะมีใครมาอ้างเป็นเจ้าของดอกชงโค หรือดอกดาหลาอีกหรือไม่ บ้างระบุว่า การใช้ดอกไม้เป็นไปตามแผนโปรโมตหนังแต่แรกแล้วว่าจะมี 5 ชนิด ในช่วงนับถอยหลัง 5 วัน ขณะที่ยังมีข้อความภาษาเขมรเข้ามาคอมเมนต์โต้แย้งปมดอกลำดวนอีก แต่ไม่ท่วมท้นเท่ากับวันแรก
กระแสโต้แย้งแย่งชิงความเป็นเจ้าของวัฒนธรรมในภูมิภาคปรากฏมาเป็นระลอก โดยเฉพาะระหว่าง ไทย–กัมพูชา เช่น การออกแบบชุดแต่งกายประจำชาติบนเวทีประกวดนางงาม ไปจนถึง อาหาร พันธุ์พืช วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์
อย่างไรก็ตาม ในแวดวงการศึกษาประวัติศาสตร์ มีนักวิชาการหลายท่านพยายามให้ข้อมูลความรู้ที่เปิดกว้าง ให้เห็นว่า คนในอาเซียนมีวัฒนธรรมร่วมกันหลายเรื่องหลายวิถีทาง และรณรงค์ให้ลดกระแสชาตินิยมสุดโต่งลง เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างกัน
แผลเก่า–บทเรียนปี 2546
ไทยและกัมพูชาเคยเผชิญเหตุการณ์ความรุนแรง จากปมเข้าใจผิดทางวัฒนธรรม เมื่อปี 2546 ครั้งนั้นมีสื่อสิ่งพิมพ์กัมพูชา ตีพิมพ์ข้อความกล่าวหานางเอกสาว สุวนันท์ คงยิ่ง ซึ่งไม่มีที่มาที่ไป และไม่ได้รับการตรวจสอบ อ้างว่านางเอกสาวพูดว่าไทยเป็นเจ้าของนครวัด จนลือกันบานปลายเป็นความโกรธแค้น และมีผู้ใช้ข่าวลือนี้เป็นประโยชน์ทางการเมือง
กระทั่งวันที่ 29 มกราคม 2546 มีม็อบผู้ประท้วงบุกโจมตีเผาสถานทูตไทยในพนมเปญจนเสียหาย นอกจากนี้ยังมีอาคารสำนักงานการบินไทยและสำนักงานบริษัทชินคอร์ปถูกโจมตีเช่นกัน

ต่อมา ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ต่อสายถึงนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อเจรจาขอให้ระงับเหตุจลาจลและคุ้มครองความปลอดภัยของคนไทยโดยเร็ว พร้อมกับที่รัฐบาลไทยได้ส่งเครื่องบินทหารไปอพยพเจ้าหน้าที่และชาวไทยออกมา และมีการตอบโต้ทางการทูต รวมถึงการปิดด่านชายแดน

จากนั้นเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลกัมพูชาจ่ายเงิน 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชดเชยความเสียหายของอาคารสถานทูต ดำเนินคดีผู้ก่อจลาจลและผู้ปล่อยข่าวลือ ส่วนฝ่ายไทยเปิดพรมแดนฝั่งกัมพูชาอีกครั้ง วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2546
ขณะที่ความสัมพันธ์ของสองประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แม้จะมีความขัดแย้งด้านพรมแดน รวมถึงกรณีพิพาทพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหาร แต่สองฝ่ายหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ โดยมีเหตุการณ์จลาจลดังกล่าวเป็นบทเรียน
….