เปิดประวัติช่อง 7HD 57 ปี สถานีโทรทัศน์สีแห่งแรกของเมืองไทย

CH7HD ช่อง 7HD ช่อง 7 สี

เปิดประวัติช่อง 7 สี (ช่อง 7HD) สถานีโทรทัศน์สีแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ออกอากาศมายาวนานถึง 57 ปี ตั้งแต่ยุคแอนะล็อกจนถึงยุคดิจิทัล

โทรทัศน์ หนึ่งในสื่อที่อยู่คู่กับคนไทยทุกยุค ทุกพื้นที่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 และผ่านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมาแล้วมากมาย แต่หากพูดถึงสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศด้วยระบบภาพสีเป็นแห่งแรกของประเทศไทย จะเป็นสถานีโทรทัศน์ไหนไปไม่ได้ นอกจาก “ช่อง 7 สี” หรือ “ช่อง 7HD” ในปัจจุบัน ซึ่งออกอากาศมาแล้วถึง 57 ปี ในวันนี้ (27 พฤศจิกายน 2567) พร้อมกับสโลแกนที่คุ้นหูคุ้นตามานานอย่าง “ช่อง 7 สี ทีวีเพื่อคุณ”

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนย้อนประวัติศาสตร์ของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ไปด้วยกัน

ADVERTISMENT

จุดเริ่มต้น “ช่อง 7 สี”

ช่อง 7 สี ดำเนินการโดยบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (BBTV) ได้รับสัมปทานออกอากาศโทรทัศน์จากกองทัพบก ออกอากาศในมาตรฐาน CCIR 625 เส้น ระบบ PAL เริ่มแพร่ภาพครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2510 โดยนำเทปบันทึกภาพการประกวดนางสาวไทย ในงานวชิราวุธานุสรณ์ จากบริเวณวังสราญรมย์ มาออกอากาศ ก่อนจะยุติออกอากาศชั่วคราว เพื่อปรับปรุงทางเทคนิค และออกอากาศอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ 1 ธันวาคมในปีเดียวกัน มาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในปี 2516 ช่อง 7 ได้เริ่มจัดตั้งสถานีถ่ายทอดสัญญาณในต่างจังหวัด และริเริ่มการออกอากาศ โดยถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมจากกรุงเทพมหานครไปสู่สถานีเครือข่ายในทุกภูมิภาคเป็นสถานีแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2521

โดยสถานีเครือข่ายถ่ายทอดสัญญาณ รวม 37 สถานี แพร่ภาพครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ดังนี้

ADVERTISMENT
  • กรุงเทพมหานคร 1 สถานี
  • ภาคตะวันออก 4 สถานี
  • ภาคตะวันตก 3 สถานี
  • ภาคเหนือ 10 สถานี
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 สถานี
  • ภาคใต้ 10 สถานี

นอกจากนี้ ช่อง 7 ยังเป็นผู้ริเริ่มการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการออกอากาศ ทั้งดาวเทียมนานาชาติ (International Satellite) หรือ INTELSAT ในการถ่ายทอดเหตุการณ์จากทั่วทุกมุมโลกมายังประเทศไทย จนถึงการนำรถถ่ายทอดสัญญาณดาวเทียมใช้ย่านความถี่สูง (Ku-Band) และรถถ่ายทอดนอกสถานที่ (Outside-Broadcasting Vans) หรือ OB ใช้ย่านความถี่ C-Band เพื่อทำหน้าที่เป็นสถานีแม่ข่ายชั่วคราว ถ่ายทอดงานประเพณี กีฬา และเหตุการณ์สำคัญตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

และเมื่อปี 2556 ช่อง 7 สี ได้เข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตโทรทัศน์ระบบดิจิทัล และเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ประเภทบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไป ความคมชัดสูง (High Definition-HD) ด้วยมูลค่า 3,370 ล้านบาท โดยออกอากาศผ่านระบบดิจิทัลอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ 25 เมษายน 2557 ในชื่อ “ช่อง 7HD” และนำเสนอเนื้อหารายการ คู่ขนานกับช่อง 7 สี ในระบบแอนะล็อก ก่อนยุติการออกอากาศในระบบเดิมโดยสมบูรณ์ เมื่อปี 2561 และออกอากาศผ่านระบบดิจิทัลเพียงระบบเดียว

ADVERTISMENT

หลากรายการ สร้างชื่อ “ช่อง 7”

ตลอด 57 ปีที่ผ่านมา ช่อง 7 สี หรือช่อง 7HD มีรายการที่สร้างชื่อ และเป็นที่รู้จักมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งละคร ข่าว กีฬา และรายการวาไรตี้

ละครโทรทัศน์ ประเภทรายการที่ทั้งสร้างชื่อ และได้รับการตอบรับจากผู้ชมมาอย่างต่อเนื่อง จากหลากหลายผู้ผลิตละคร ทั้งละครหลังข่าว และละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ช่วงเช้าวันสุดสัปดาห์ เช่น คู่กรรม, ดาวพระศุกร์, คมแฝก, นักสู้พันธุ์ข้าวเหนียว, สิงหไกรภพ, เกราะเพชรเจ็ดสี, ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง หรือซีรีส์ต่างประเทศ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อย่าง Full House

ขณะที่รายการข่าว มีความเข้มข้นในการนำเสนอ ทั้งข่าวประจำวัน เช้า-เที่ยง-ค่ำ และรายการข่าวรูปแบบต่าง ๆ ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี เช่น เช้านี้ที่หมอชิต, สนามข่าว 7 สี, ประเด็นเด็ด 7 สี จนถึงคอลัมน์ข่าว เช่น สะเก็ดข่าว, คอลัมน์หมายเลข 7

รวมถึงเทคโนโลยีในการนำเสนอข่าวที่ทันสมัย โดยเฉพาะการพัฒนาสตูดิโอข่าว ที่เพิ่มจอ Video Wall ความชัด 4K ยาว 22 เมตร พร้อมเทคโนโลยีใหม่ เพิ่มประสบการณ์การรับชมข่าวแบบเสมือนจริง

ส่วนรายการวาไรตี้ รายการที่เป็นที่รู้จัก เช่น นาทีทอง, ประตูดวง, จ้อจี้, คดีเด็ด, ปลดหนี้ จนถึง “7 สีคอนเสิร์ต” รายการฟรีคอนเสิร์ต รายการแรก ๆ ของเมืองไทย และยืนระยะมาอย่างยาวนาน “Big Cinema” รายการที่หยิบหนังเด็ด หนังดัง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาให้ชมฟรีทางทีวี และ “ดิสนีย์คลับ” รายการการ์ตูนจากดิสนีย์

อีกหนึ่งประเภทรายการที่ขึ้นชื่อมาตลอด คือ รายการกีฬา การถ่ายทอดสดกีฬาต่าง ๆ ซึ่งช่อง 7 ได้รับความไว้ใจให้ถ่ายทอดสดมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล, มวย, กอล์ฟ, วอลเลย์บอล รวมถึงรายการกีฬาของช่อง 7 เอง ทั้งแชมป์กีฬา 7 สี, มวยไทย 7 สี, สปอร์ตแฟน

เรื่องราว 5 ทศวรรษ ผ่าน “พิพิธโทรทัศน์”

ตลอดกว่า 5 ทศวรรษที่ช่อง 7 ทำหน้าที่รับใช้สังคมมาอย่างต่อเนื่อง ต่างมีเรื่องราวให้ได้เรียนรู้และศึกษามากมาย โดยเฉพาะอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในฐานะที่ช่อง 7 เป็นสถานีโทรทัศน์สีแห่งแรกของไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลายเป็นที่มาของ “พิพิธโทรทัศน์ 7HD Museum”

โดยเมื่อพฤศจิกายน 2566 บจก.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU กับช่อง 7HD เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาพิพิธโทรทัศน์ 7HD Museum

พิพิธโทรทัศน์ 7HD Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมาของช่อง 7HD ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของสถานีโทรทัศน์สีแห่งแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทคโนโลยี อุปกรณ์สำหรับการทำงาน การออกอากาศ และจดหมายเหตุ เทป และไฟล์ภาพต่าง ๆ ที่มีคุณค่าเพื่อการศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีการจำลองห้องส่ง หรือห้อง MCR (Master Control Room) การตัดต่อเทปฟิล์ม และมีการรวบรวมจดหมายเหตุ ทั้งบทละคร บทข่าว เพื่อศึกษารูปแบบการเขียนบทในอดีต

ภาพจาก Facebook Museum Siam
ภาพจาก Facebook Museum Siam
ภาพจาก Facebook Museum Siam
ภาพจาก Facebook Museum Siam
ภาพจาก Facebook Museum Siam

ต่อยอดหน้าจอทีวี สู่ออนไลน์

นอกจากโทรทัศน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่อยู่กับช่อง 7 มาอย่างยาวนาน ยังมีช่องทางออนไลน์ ทั้งโซเชียลมีเดียของช่อง 7HD และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง “Bugaboo.tv” และ “Bugaboo Inter” ที่รวมรายการและละครต่าง ๆ ของช่อง 7 ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

รวมถึงการต่อยอดคลังภาพข่าว ที่ช่อง 7 สะสมมากว่า 5 ทศวรรษ เป็นแพลตฟอร์มการจำหน่ายภาพข่าว “7HDSTOCK” โดยมีทั้งภาพบรรยากาศต่าง ๆ ในอดีต ซึ่งแปลงภาพจากระบบฟิล์ม จนถึงภาพสต๊อก บรรยากาศ ธรรมชาติ สถานที่ต่าง ๆ ให้บริการทั้งภาครัฐ องค์กร ธุรกิจ โปรดักชั่นเฮาส์ และสำนักข่าวต่าง ๆ

ส่วนธุรกิจอื่น ๆ นอกจากสื่อทีวีและสื่อออนไลน์ ช่อง 7HD ยังมีสถานีวิทยุในเครือ คือ Goodtime Radio ออกอากาศในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร (FM 88.5) เชียงใหม่ (FM 88) สงขลา (FM 94.5) และอุบลราชธานี (FM 104)

เปิดรายได้ BBTV

สำหรับช่อง 7HD หรือ BBTV มี 2 บริษัทหลัก คือ บจก.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ ดำเนินธุรกิจโทรทัศน์ และ บจก.บีบีทีวี นิว มีเดีย ดำเนินธุรกิจดูแลช่องทางนิวมีเดียของช่อง 7

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2510 ทุนจดทะเบียน 61 ล้านบาท ประกอบธุรกิจการจัดผังรายการและการออกอากาศทางโทรทัศน์โดยไม่ต้องสมัครสมาชิก (ยกเว้นทางออนไลน์) โดยรายได้ 5 ปีล่าสุด เป็นดังนี้

ปี 2562

  • รายได้รวม 4,832,284,761.14 บาท
  • รายจ่ายรวม 3,195,392,252.17 บาท
  • กำไรสุทธิ 1,400,004,927.08 บาท

ปี 2563

  • รายได้รวม 4,168,966,230.58 บาท
  • รายจ่ายรวม 3,002,928,714.36 บาท
  • กำไรสุทธิ 972,593,608.75 บาท

ปี 2564

  • รายได้รวม 5,016,430,766.73 บาท
  • รายจ่ายรวม 2,847,381,313.77 บาท
  • กำไรสุทธิ 1,964,513,255.68 บาท

ปี 2565

  • รายได้รวม 4,017,616,960.18 บาท
  • รายจ่ายรวม 2,543,247,460.78 บาท
  • กำไรสุทธิ 1,250,464,816.38 บาท

ปี 2566

  • รายได้รวม 3,284,387,110.86 บาท
  • รายจ่ายรวม 2,431,497,465.14 บาท
  • กำไรสุทธิ 732,804,479.43 บาท

ขณะที่บริษัท บีบีทีวี นิว มีเดีย จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบธุรกิจกิจกรรมการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคอมพิวเตอร์ โดยรายได้ 5 ปีล่าสุด เป็นดังนี้

ปี 2562

  • รายได้รวม 170,509,879.46 บาท
  • รายจ่ายรวม 164,113,107.87 บาท
  • กำไรสุทธิ 6,396,771.59 บาท

ปี 2563

  • รายได้รวม 214,286,455.47 บาท
  • รายจ่ายรวม 209,725,817.21 บาท
  • กำไรสุทธิ 2,915,083.72 บาท

ปี 2564

  • รายได้รวม 240,559,652.23 บาท
  • รายจ่ายรวม 245,516,362.99 บาท
  • ขาดทุนสุทธิ 4,956,710.76 บาท

ปี 2565

  • รายได้รวม 277,518,697.96 บาท
  • รายจ่ายรวม 251,596,430.18 บาท
  • กำไรสุทธิ 20,671,323.88 บาท

ปี 2566

  • รายได้รวม 230,652,092.31 บาท
  • รายจ่ายรวม 224,068,069.18 บาท
  • กำไรสุทธิ 3,988,781.21 บาท

ข้อมูลจาก ช่อง 7HD, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า