The Crown ซีซั่น 4 เมื่อพระราชินีขัดแย้งกับนายกฯ สูงกว่าไม่ได้แปลว่าจะชนะ

ท้องฟ้าสีเทา : เรื่อง

แม้ไม่ได้เป็นกระแสในหมู่วัยรุ่นเท่ากับซีรีส์หลาย ๆ เรื่องของเน็ตฟลิกซ์ แต่ The Crown ยังเป็นซีรีส์ที่สื่อทั่วโลกต้องพูดถึง เดือนพฤศจิกายนปี 2020 ซีรีส์ว่าด้วยเรื่องราวของราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งเขียนบทโดย ปีเตอร์ มอร์แกน (Peter Morgan) และกำกับการแสดงโดย สตีเฟน ดาลดรีย์ (Stephen Daldry) เดินทางมาถึงซีซั่นที่ 4 แล้ว

เรื่องใหญ่ ๆ ในซีซั่น 4 มีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ปัญหาชีวิตคู่ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลสกับเจ้าหญิงไดอาน่าซึ่งถูกครอบครัวเร่งรัดให้แต่งงานทั้งที่เพิ่งเดตกันไม่นาน อีกเรื่องคือความขัดแย้งระหว่างควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher)

เรื่องราวเทพนิยายที่ไม่ happy ending ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลสกับเจ้าหญิงไดอาน่าถูกหยิบยกมาพูดถึงมากกว่า แต่เรื่องความขัดแย้งระหว่างควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับแธตเชอร์ก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน

ความไม่ลงรอยกันระหว่างสองสตรีที่มีอำนาจสูงสุดของอังกฤษถูกนำเสนอให้เห็นเรื่อยมาตั้งแต่ตอนที่ 1 แต่เน้นหนักให้เห็นในตอนที่ 8 ที่ชื่อตอนว่า 48:1

ในซีรีส์ตอนนี้นำเสนอว่า หลังจากที่ไม่เคยแสดงความเห็นทางการเมืองมา 34 ปี เพราะยึดถือปฏิบัติในกฎประจำตำแหน่งที่ว่า “กษัตริย์ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” สมเด็จพระราชินีนาถกลับแสดงความเห็นทางการเมืองครั้งแรกในปี 1986 เมื่อชาติสมาชิกเครือจักรภพมีมติตรงกันว่าต้องการคว่ำบาตรรัฐบาลแอฟริกาใต้ในกรณีกฎหมายแบ่งแยกสีผิว

48 เสียงของชาติสมาชิกเครือจักรภพต้องการอีกลายเซ็นเดียวของ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าแธตเชอร์ไม่เห็นด้วยและไม่ได้ให้ความสำคัญกับเครือจักรภพ สมเด็จพระราชินีต้องการให้สมาชิกเครือจักรภพเห็นว่าราชวงศ์และสหราชอาณาจักรเอาใจใส่ความต้องการของชาติสมาชิก พระองค์จึงคุยกับแธตเชอร์ในเรื่องนี้

การพูดคุยด้วยบรรยากาศตึงเครียดเกิดขึ้นในห้องพักส่วนพระองค์บนเรือยอชต์ แสงไฟโทนอุ่น (แต่ค่อนข้างสลัว) ในห้องนั้นพอจะทำให้บรรยากาศดูเย็นเยือกน้อยลง

พระราชินี (รับบทโดย โอลิเวีย โคลแมน) นั่งประจันหน้ากับมาร์กาเรต แธตเชอร์ (รับบทโดย จิลเลียน แอนเดอร์สัน) ห่างกันราว 2 เมตร

การเชือดเฉือนปะทะทางความคิดระหว่างสตรีทรงอิทธิพลระดับโลกย่อมไม่ได้เป็นการพ่นคำหยาบคายหรือขึ้นเสียงใส่กันเหมือนชาวบ้านทั่วไป แต่เป็นการเชือดเฉือนอย่างสุภาพและเอาความนิ่งเข้าสู้

แธตเชอร์ยืนกรานไม่ลงนามคว่ำบาตรแอฟริกาใต้ เพราะเห็นว่าไม่ใช่ธุระอะไรของอังกฤษ แถมยังจะทำให้อังกฤษเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ชาติสมาชิกเครือจักรภพโดยความช่วยเหลือของพระราชินีแก้ร่างแถลงการณ์หลายครั้ง พยายามหาคำอื่นมาใช้แทนคำว่า “sanction” แต่ให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน จนในที่สุดแธตเชอร์ก็จดปากกาลงนามให้กับคำว่า “signal” (economic signals)

พระราชินีคิดว่าพระองค์มีชัยเหนือแธตเชอร์ในกรณีนี้ แต่เมื่อนักข่าวเปรยคำถามต่อแธตเชอร์ว่า “ท่านถูกบีบให้ลดท่าทีอย่างหนัก” นายกฯหญิงเหล็กตอบกลับว่า “ดิฉันไม่เห็นว่าเป็นอย่างนั้นนะ … ดิฉันเซ็นไปจริง แต่คำถามคือ คนคนเดียวเปลี่ยนตามคน 48 คน หรือคน 48 คนต้องเปลี่ยนตามคนคนเดียว…” เป็นการเชือดเฉือนอีกครั้งแม้ไม่ได้ประจันหน้ากับคู่กรณี

นั่นคือสิ่งที่ The Crown เล่า โดยนำเสนอว่าเรื่องราวความขัดแย้งนี้ถูกเผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์ The Sunday Times อ้างอิงแหล่งข่าวระดับสูงในราชสำนัก และในความเป็นจริงก็มีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าวจริง

ถึงแม้รู้ว่าละครมีการเติมแต่ง แต่การจะแยกแยะว่าอะไรจริง อะไรแต่ง เรื่องราวที่ได้เห็นนั้นเป็นความจริงแค่ไหน ใส่สีตีไข่มากน้อยแค่ไหน อันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เท่าที่พอจะมีข้อมูล ในความเป็นจริง หนังสือพิมพ์ The Sunday Times ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม 1986 เผยแพร่ข่าวว่า สมเด็จพระราชินีทรงผิดหวังกับหลายนโยบายของมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ อย่างนโยบายทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาการว่างงาน นโยบายต่างประเทศ เช่น กรณีที่อนุญาตให้เครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐใช้ฐานทัพอากาศของอังกฤษในการโจมตีลิเบีย และกรณีแอฟริกาใต้ ที่ซีรีส์นำมาขยายความ

หลังจากข่าวถูกตีพิมพ์เผยแพร่ออกไป ทางสำนักพระราชวังบักกิงแฮมก็แก้ข่าวว่า ไม่เป็นความจริง เป็นข่าวที่ไม่มีหลักฐาน

ฝั่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Sunday Times แสดงความเห็นโต้กลับว่า ไม่แปลกใจกับการที่สำนักพระราชวังปฏิเสธข่าว “ผมคิดว่าสิ่งที่พูดในที่สาธารณะและสิ่งที่พูดเป็นการส่วนตัวเป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน และพระราชวังต้องรักษาตำแหน่งของพวกเขาไว้”

กลับมาที่เรื่องราวในซีรีส์ The Crown นำเสนอความขัดแย้งระหว่างพระราชินีกับนายกรัฐมนตรีด้วยมุมมองที่อยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่า แม้พระราชินีอยู่ในสถานะที่สูงกว่า แต่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระราชินีก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือกว่านายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงของประชาชน

ย้อนกลับไปฉากสำคัญที่คุยกันในเรือยอชต์ พระราชินีบอกว่า “สิ่งที่เราอยากให้คุณทำคือลงชื่อในแถลงการณ์นั้น”

“ถ้าหม่อมฉันฟังไม่ผิด นั่นดูเหมือนเป็นคำสั่ง” แธตเชอร์ตอบ

“ถือเป็นคำถามก็แล้วกัน” พระราชินีปิดท้ายบทสนทนา

แล้วภาพก็ตัดไป หลังจากนั้นทุกคนรวมถึงพระราชินีก็ต้องรอคอยการตัดสินใจของแธตเชอร์ รวมถึงการแก้ร่างแถลงการณ์ซ้ำ ๆ นั่นก็พอจะบอกอะไรอยู่บ้างว่าใครเป็นฝ่ายเหนือกว่า

ท้ายที่สุด ทั้งในความเป็นจริงและในซีรีส์ แม้แธตเชอร์ต้องลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เธอรักยิ่งกว่าสิ่งใด นั่นก็เป็นไปตามกลไกทางการเมือง หาใช่เพราะว่าเธอไม่ลงรอยกับพระราชินี