ปิ๋ม ซีโฟร์ อำนวยการสร้าง MV #อย่าโอน ดีเอสไอสั่งทำ สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์

นายกฯ ร่วมประชาสัมพันธ์ชุดความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในบทเพลง “อย่าโอน”ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (22 มี.ค. 65) ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ

เปิดตัว “ปิ๋ม ซีโฟร์” ผู้รังสรรค์ MV ต้านแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยอดนิยม “อย่าโอน” หลัง “ประยุทธ์-สมศักดิ์” จัดให้ออนแอร์ทางยูทูบวานนี้ (22 มีนาคม 2565)

วันที่ 22 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกระทรวงยุติธรรมและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประชาสัมพันธ์ภายใต้ “โครงการรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูลการป้องกันภัยคุกคามจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้กับประชาชน” ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวานนี้ (21 มีนาคม 2565)

โดยสิ่งที่เป็นประเด็นฮือฮาและวิจารณ์หนาหูในโลกโซเชียลมีเดีย คือการปล่อยซิงเกิลเพลง “อย่าโอน” ซึ่งมีการแชร์ภาพการแจกแผ่นซีดีเพลงดังกล่าวจากเฟซบุ๊กผู้สื่อข่าวรายหนึ่ง ยิ่งทำให้คนวิจารณ์หนักขึ้นไปอีก

“สมศักดิ์” เปิดใจที่มา

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ตัวเองเป็นคนมอบหมายให้กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จัดทำเพลงดังกล่าวเอง

เพราะเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 พลเอกประยุทธ์ ได้ให้นโยบายกับทุกกระทรวง ขอให้ช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนได้รู้ถึงปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ประกอบกับ ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีหลายคน ก็พบว่าล้วนแล้วแต่เคยรับสายโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่แจ้งให้โอนเงินเช่นกัน

Advertisment

จึงคิดว่าถ้ายังใช้วิธีการปราบปรามแบบเดิม คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันแน่ เลยเป็นที่มาของการออกเพลงดังกล่าวในที่สุด โดยได้รับความร่วมมือจากศิลปินดารานักร้องทั้งหมด 10 คนมาร่วมแสดงและช่วยโดยไม่ได้คิดค่าตอบแทน ซึ่งเป็นการบูรณาการความสามัคคีของคนในชาติ

แบนเนอร์โปรโมตเพลง “อย่าโอน” ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ปิ๋ม ซีโฟร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ เวลา 12.43 น. วันที่ 23 มีนาคม 2565 เพลง อย่าโอน ที่เผยแพร่ทาง Youtube ช่อง DSI_PR : ประชาสัมพันธ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม มีผู้เข้าชม MV เพลงอย่าโอนแล้ว 118,834 ครั้ง มีคนกดไลก์ให้ 1,300 ครั้ง ยอดดิสไลก์ยังไม่มี

Advertisment

รายละเอียดใต้คลิประบุว่า เพลง อย่าโอน

  • เรียบเรียง คำร้องและทำนอง : นางสาวรัศมี สีตลวรางค์นายสะอาด ฤทธิ์บัณฑิต
  • อำนวยการผลิต : นายสมศักดิ์ เทพสุทิน , นายอนุชา นาคาศัย
  • ดูแลการผลิต : นางสาวรัศมี สีตลวรางค์ ตำแหน่งในปัจจุบันเป็น ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ
  • ขับร้อง : อี๊ด โปงลางสะออน , ลำไย ไหทองคำ
  • นักแสดงประกอบด้วย ต้าวหยอง ระเบียบวาทะศิลป์ , เก้า เกริกพล , แจ็คเกอรีน ผู้สื่อข่าวบันเทิง , จุ๋ม ปอยเด้ง ผู้สื่อข่าว , เจน นุ่น โบว์ ซูปเปอร์วาเลนไทน์ และทับทิม อัญรินทร์

“ปิ๋ม ซีโฟร์” ทำเอ็มวี

อย่างไรก็ตาม การถ่ายทำมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ ปรากฏว่าผู้ที่กำกับและอำนวยสร้างคือ “ปิ๋ม ซีโฟร์”

ผู้สื่อข่าวสืบค้นทางแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก ในเพจปิ๋ม ซีโฟร์ พบว่ามีการโพสต์ภาพและข้อความต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวในหลากหลายโอกาส อาทิ โพสต์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ที่เจ้าตัวระบุว่า

และอีกโพสต์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 ที่เจ้าตัวระบุชัดว่า

สำหรับประวัติคร่าว ๆ ของปิ๋ม ซีโฟร์ เธอมีชื่อจริงว่า ชาลิภา รินรดามณี (ตรีชฎา แสงอุทัย) ปัจจุบันอายุ 47 ปี  ทำงานอยู่ที่ Sony Music

แต่เดิมปิ๋มเป็นแดนเซอร์ของนักร้องลูกทุ่งชื่อดังหลายคน เพลงที่สร้างชื่อให้เจ้าตัวคือไปเป็นแดนเซอร์ในเพลง รักจริงให้ติงนัง ของ รุ่ง สุริยา และท่าชูนิ้วโป้งยอดฮิต ปิ๋มเป็นคนคิดเอง และสร้างชื่อด้วยการเป็นนักออกแบบท่าเต้นแนวเซ็กซี่

นอกจากผลงานการเป็นดาวเต้นแล้ว เมื่อหลายปีก่อนเธอก็มีซิงเกิลฮอตฮิตติดชาร์ตมากมาย ทั้ง สาวนาคอยคู่ หนูไม่ยอม ท้ารัก ฯลฯ

ทั้งนี้ เมื่อหลายสิบปีก่อน เจ้าตัวเคยตกเป็นข่าวกรณีที่นายเสาวภาคย์ นิสัยชล อดีตประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์ สามีของเธอใช้อาวุธปืนยิง 2 นัด ขณะที่เธออยู่ในรถตู้ หลังกลับจากการแสดงคอนเสิร์ตลูกทุ่งเวทีไท เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2546

โดย ปิ๋ม ซีโฟร์ ได้รับบาดเจ็บสาหัส กระสุนเจาะหน้าอกทะลุด้านหลัง 1 นัด ซึ่งแพทย์ได้ผ่าตัดช่วยชีวิตได้สำเร็จ จนที่สุดอดีตสามีก็ถูกพิพากษาจำคุก 10 ปีไปเมื่อปี 2548

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลว่า การผลิตสื่อมิวสิกวิดีโอดังกล่าวใช้งบประมาณเท่าไหร่ และใช้งบส่วนไหนของหน่วยงานใดในการผลิต จึงเป็นคำถามที่ต้องติดตามกันต่อไป เพราะการผลิตสื่อดังกล่าวของภาครัฐย่อมหนีไม่พ้นการใช้ภาษีประชาชนในการสร้างแน่นอน และความคุ้มค่าที่ได้กลับมาจะเป็นอีกคำถามสำคัญที่รัฐบาลต้องตอบอีกเช่นกันในคราวถัดไป