![smartphone-gd03fde724_1920](https://www.prachachat.net/wp-content/uploads/2022/02/smartphone-gd03fde724_1920-728x485.jpg)
กสทช.ผนึก ศปอส.ตร กระทรวงดีอีเอส และค่ายมือถือ ชำแหละ 14 กลโกงมิจฉาชีพ พร้อมเร่งแก้ไขให้ประชาชนรู้เท่าทันแก๊ง Call Center และ SMS หลอกลวง
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ร่วมประชุมหารือกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือศูนย์ PCT ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ได้แก่ AIS TRUE DTAC และ NT เกี่ยวกับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา Call Center และ SMS หลอกลวง
โดยสำนักงาน กสทช. พร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงดีอีเอส ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และยังจะร่วมกับโอเปอเรเตอร์ในการดำเนินการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับรูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มิจฉาชีพนิยมใช้ในการหลอกลวง เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตราย สังเกตเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นการหลอกลวงของมิจฉาชีพ จะได้ไม่หลงให้ข้อมูลส่วนตัวไปกับใครง่าย ๆ ซึ่งอาจทำให้เสียทรัพย์สิน
ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พบว่ารูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวงประชาชน จำนวน 14 รูปแบบ ได้แก่
1.หลอกขายของออนไลน์
2.Call Center หลอกลวงข่มขู่ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ให้เหยื่อโอนเงินให้
3.เงินกู้ออนไลน์ดอกเบี้ยโหด
4.เงินกู้ออนไลน์ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์)
5.หลอกให้ลงทุนต่าง ๆ โดยอ้างผลตอบแทนสูงที่ไม่มีจริง
6.หลอกให้เล่นพนันออนไลน์
7.Romance scam หรือ Hybrid scam หลอกให้รักลวงเอาทรัพย์สิน ลวงให้ลงทุน
8.ลิงก์ปลอมหลอกแฮกข้อมูลโทรศัพท์
9.แชต Line/Facebook ปลอม Account ลวงยืมเงิน
10.หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว – OTP
11.ข่าวปลอม (Fake news) – ชัวร์ก่อนแชร์
12.หลอกลวงเอาภาพโป๊เปลือยเพื่อใช้แบล็กเมล์
13.โฆษณาออนไลน์ลวงทำงาน หลอกบังคับทำงานในต่างประเทศ
14.ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หรือฟอกเงิน
อย่างไรก็ตาม สำนักงานและโอเปอเรเตอร์จะช่วยกันประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลอุบายของมิจฉาชีพ
“ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา Call Center และ SMS หลอกลวงอยู่นั้น สำนักงานก็อยากขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโทรศัพท์ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ DSI พนักงานธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ อย่าเพิ่งให้ข้อมูลส่วนตัว หรือโอนเงินไปตามที่เขาขอ อย่ากดลิงก์ที่แนบมาพร้อม SMS ที่ไม่ทราบที่มา แต่ให้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าสายที่โทร.มา หรือผู้ที่ส่ง SMS มานั้นไม่ใช่มิจฉาชีพ เพื่อป้องกันการสูญเสียเงินทองของท่าน”