
โรคเบาหวาน แม้ไม่ใช่โรคร้ายแรงมาก แต่ก็เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญในระดับโลก เห็นได้จากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุให้ “หยุดการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน” เป็นเป้าหมาย 1 ใน 9 เป้าหมายของการดูแลกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องด้วยสถิติผู้ป่วยเบาหวานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นที่น่ากังวล
ล่าสุด สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ ได้รวบรวมข้อมูลจากทั่วโลกพบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึง 415 ล้านคน หรือในทุก 11 คนจะมีผู้ป่วยเป็นเบาหวาน 1 คน อีกทั้ง WHO ยังคาดการณ์ว่าในปี 2583 ยอดผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคน ซึ่งเปรียบเสมือน “ภัยเงียบ” ที่คร่าชีวิต 1 คนในทุก ๆ 6 นาที
- มหาดไทยประกาศ ขอสละสัญชาติไทย 75 ราย แห่ไปขอถือสัญชาติสิงคโปร์
- ปลื้ม 4 มหาวิทยาลัยไทยติด TOP 100 ของโลกด้านความยั่งยืน
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 มิ.ย.นี้ ใครมีสิทธิรับวงเงินค่าซื้อสินค้า 900 บาท
นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคเบาหวานในไทยเป็นปัญหาใหญ่เช่นเดียวกับทั่วโลก ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 แสนคนต่อปี เสียชีวิตปีละ 8,000 คน จากปัจจุบันที่มีผู้ป่วยเบาหวานราว 5 ล้านคน และมีกลุ่มที่มีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคเบาหวานกว่า 7 ล้านคน จากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป
ดังนั้นในยุคปัจจุบัน คุณหมอมองว่า จะต้องใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเข้ามาให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาโรคเบาหวานที่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีโครงการ “Health Literacy” ที่มีอยู่ตามโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ในภาษาเข้าใจง่าย โดยหวังให้ผู้ป่วยเบาหวานรอบรู้เรื่องเบาหวานสามารถจัดการดูแลตัวเองได้
ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ ศรินนภากร นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยจะสำเร็จได้ต้องอาศัยผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จึงต้องส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ โดยแบ่งกลุ่มผู้ป่วยเป็น 3 ระดับ คือ 1.ไม่มีความรู้/ขาดทักษะ : ต้องให้ความรู้ สร้างทักษะให้ผู้ป่วยและญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย 2.มีความรู้แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม : ต้องมีการพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเสริมสร้างพลังใจ 3.มีความรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สามารถดูแลตนเองและแนะนำผู้อื่นได้ ซึ่งวิธีปฏิบัติดังกล่าวจะทำให้การดูแลโรคเบาหวานในยุค Thailand 4.0 เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้าน ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ มองว่าการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในอนาคตจะมีการพัฒนาและใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับโรคเบาหวานแทนมนุษย์ รวมถึงจะมีการนำเครื่องฉีดอินซูลินอัตโนมัติมาใช้กับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ผู้ป่วยจึงต้องฉีดอินซูลินและเจาะเลือดเพื่อตรวจวันละหลายครั้ง
“กุญแจสำคัญในการก้าวไปสู่การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ยุค Thailand 4.0 นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ที่สำคัญที่สุดคือภาคประชาชน โดยจะต้องทำ 3 สิ่งหลัก ๆ ควบคู่กัน คือ 1.การถ่ายทอดความรู้และทักษะที่ถูกต้องไปยังผู้ป่วย ครอบครัวผู้ป่วย และผู้สนใจในแต่ละชมรมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2.การพัฒนาการสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจำเป็นต้องไตร่ตรอง ถึงความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารและแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ รวมถึงต้องใช้สื่อออนไลน์อย่างเข้าใจ และ 3.การพัฒนาชมรมเบาหวาน ให้เป็นพลังสำคัญและนับเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ส่วนมุมของตัวแทนผู้ป่วยเบาหวานยุค 4.0 อุไร พันธุมโพธิ อายุ 90 ปี เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลสุดยอดผู้ป่วยเบาหวาน บอกว่า จากการเข้าร่วมเครือข่ายชมรมเบาหวาน ทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี ไม่มีภาวะโรคแทรกซ้อน สิ่งสำคัญที่ได้จากการเข้าร่วมเครือข่ายคือสามารถเข้าถึงแพทย์และพยาบาลได้อย่างใกล้ชิด โดยใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นตัวกลางในการสื่อสาร เมื่อสงสัยมีข้อซักถามก็จะได้รับคำตอบอย่างถูกต้อง มีการอธิบายเพิ่มเติม ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจมากขึ้น