WHO ประกาศ “ฝีดาษลิง” เป็น “ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ”

WHO
สำนักงานใหญ่ WHO (ภาพโดย Denis Balibouse/REUTERS)

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ “โรคฝีดาษลิง” เป็น “ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (PHEIC) หลังระบาดหนักในประเทศคองโกและอีกมากกว่า 10 ประเทศในทวีปแอฟริกา ปีนี้พบผู้ป่วยแล้วราว 14,000 ราย เสียชีวิตแล้วมากกว่า 500 ราย

วันที่ 14 สิงหาคม 2024 ตามเวลาสวิตเซอร์แลนด์ (15 สิงหาคม เวลาไทย) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ประกาศให้ Mpox หรือโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ที่ระบาดในมากกว่า 10 ประเทศในทวีปแอฟริกา เป็น “ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) 

ตามการรายงานของสำนักข่าวเอพี (AP) นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องที่เราทุกคนควรกังวล … ความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดเพิ่มเติมในแอฟริกาและที่ที่ไกลออกไปนั้นน่ากังวลอย่างยิ่ง” 

ก่อนหน้านี้ หน่วยงานควบคุมโรคติดต่อของทวีปแอฟริกากล่าวว่า ในปีนี้มีการตรวจพบโรคฝีดาษลิงใน 13 ประเทศในแอฟริกา และมากกว่า 96% ของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในประเทศคองโก จำนวนผู้ป่วยรวมทั้งทวีปในปีนี้เพิ่มขึ้น 160% และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023 โดยจากต้นปีจนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยมากกว่า 14,000 ราย และเสียชีวิตแล้ว 524 ราย 

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทย อธิบายไว้ว่า “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” หมายถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศอื่น ๆ จากการแพร่ระบาดระหว่างประเทศและต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศในการรับมือกับเหตุการณ์นั้น

การพิจารณาว่าเหตุการณ์ใดเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ต้องเป็นเหตุการณ์ที่เข้ากับเงื่อนไขอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อต่อไปนี้ (1.) เป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบด้านสาธารณสุขที่รุนแรง (2.) เป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติหรือไม่คาดคิดมาก่อน (3.) มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ระบาดข้ามประเทศได้ (4.) มีความเสี่ยงสูงที่จะต้องจำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศ 

ADVERTISMENT

ส่วนโรคฝีดาษวานรนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เคยให้ข้อมูลว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส Monkeypox เป็นเชื้อกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า เดิมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน โรคนี้พบได้ในสัตว์ฟันแทะหลายชนิดเช่น หนู กระรอกและสัตว์ตระกูลลิง แต่ปัจจุบันพบมีการติดต่อจากคนสู่คนด้วย 

สำหรับการติดต่อจากสัตว์สู่คน สามารถติดต่อได้ผ่านทางการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ รวมถึงการบริโภคเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก ส่วนการติดเชื้อจากคนสู่คน สามารถติดต่อผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่งสัมผัสรอยโรค หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ติดเชื้อ ส่วนการติดต่อผ่านทางละอองฝอยจากการหายใจเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดเป็นเวลานาน หลังจากได้รับเชื้อผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายในเวลา 5-21 วัน

ADVERTISMENT

อาการของโรค แบ่งเป็นสองระยะ ระยะแรก ได้แก่ อาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต บางรายมีอาการไอ เจ็บคอ โดยอาการต่อมน้ำเหลืองโต ถือเป็นลักษณะเด่นที่ทำให้แยกจากโรคไข้ออกผื่นชนิดอื่น ๆ ได้ ส่วนระยะที่สองคือระยะออกผื่น ซึ่งอาการนี้จะเกิดขึ้นหลังอาการไข้ 1-3 วัน ลักษณะของผื่นจะเริ่มจากผื่นแดงราบ ผื่นแดงนูน ตุ่มน้ำ และตุ่มหนองตามลำดับ จากนั้นจะตกสะเก็ดและหลุดลอกออก โดยผื่นจะพบมากที่บริเวณใบหน้า แขนขา ฝ่ามือฝ่าเท้ามากกว่าบริเวณลำตัว ในบางรายอาจมีผื่นบริเวณเยื่อบุช่องปาก อวัยวะเพศ และเยื่อบุตาได้ 

ในผู้ที่ติดเชื้อจะเริ่มแพร่เชื้อได้เล็กน้อยตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีอาการไข้ แต่จะแพร่เชื้อได้สูงที่สุดตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีผื่นขึ้นจนกระทั่งสะเก็ดหลุดลอกออกทั้งหมด โดยทั่วไปโรคฝีดาษวานรจะหายได้เองใน 2-4 สัปดาห์แต่ในผู้ป่วยที่อายุน้อยหรือภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในกระจกตาซึ่งส่งผลต่อการมองเห็นได้โอกาสเสียชีวิตจากโรคฝีดาษวานรในคนทั่วไป คือ 3-6% และผู้ป่วยเด็กจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ใหญ่