สธ.คาดยอดเสียชีวิตจากโควิดสูงขึ้น สายพันธุ์อังกฤษรุนแรง

สธ.คาดยอดเสียชีวิตจากโควิดสูงขึ้น
ภาพจาก Reuters

กระทรวงสาธารณสุข เผย ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ระบาดรอบนี้สูงขึ้น คาดเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์อังกฤษรุนแรง

วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภาพรวมการติดเชื้อในประเทศ วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,940 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ขณะที่ในต่างจังหวัดค่อนข้างคงตัว แต่อย่าเพิ่งวางใจ เนื่องจากหลังมาตรการปิดสถานบันเทิง จะพบรายงานการติดเชื้อจากการสัมผัสภายในบ้านและเพื่อนร่วมงานเพิ่มสูงขึ้นจาก 27% เพิ่มขึ้นมากกว่า 50%

ขณะที่การตรวจค้นหาเชิงรุกพบติดเชื้อน้อยลง นอกจากนี้ยังพบว่าจุดเสี่ยงของแต่ละจังหวัดมาจากการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ในสถานศึกษา สถานปฏิบัติธรรม สถานบันเทิง สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานที่จัดเลี้ยง การจัดงานประเพณี สำนักงาน ตลาด ร้านอาหาร เป็นต้น

ดังนั้นจึงต้องเข้มมาตรการเพื่อลดหรือจำกัดการรวมตัวของผู้คน หรือการทำกิจกรรมร่วมกันของคนจำนวนมาก เพื่อป้องกันและยับยั้งโอกาสที่จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิดในวงกว้างมากขึ้น

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า วันนี้มีผู้ป่วยเสียชีวิตอีก 21 ราย เช่นเดียวกับเมื่อวาน (1 พ.ค.) ที่มีผู้เสียชีวิต 21 ราย ซึ่งจะเห็นว่าตอนนี้จำนวนผู้เสียชีวิตเริ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดผู้เสียชีวิตเฉพาะในระลอกสามนี้มีทั้งสิ้น 151 ราย และการระบาดระลอกนี้ยังพบว่าอัตราการเสียชีวิตใช้เวลาค่อนข้างสั้น บางกรณีเสียชีวิตหลังพบเชื้อไม่กี่วัน

ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งคาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับตัวเลขการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นกว่าระลอกอื่น เพราะที่ผ่านมาตัวเลขผู้ติดเชื้อของเราไม่เคยถึงหลักพันเลย แต่มาระลอกเดือนเมษายนนี้พบมากถึงวันละ 1-2 พันคน ประกอบกับน่าจะเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์อังกฤษ ที่มาจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ผับ บาร์ จึงทำให้ระยะเวลาตั้งแต่ทราบว่าติดเชื้อจนถึงเสียชีวิตมีช่วงเวลาที่สั้นลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของทางยุโรปที่รายงานว่าไวรัสสายพันธุ์อังกฤษมีความรุนแรงสูงขึ้น อย่างไรก็ดีทางแพทย์จะมีการติดตามปัจจัยและสาเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

แต่ทั้งนี้ยอดเสียชีวิตโดยภาพรวมยังถือว่าน้อย ข้อมูลการเสียชีวิตพบว่าในระลอกใหม่เมษายน 2564 มีจำนวนมากกว่ารอบธันวาคม 2563 แต่หากเรียงตามกลุ่มอายุ พบว่าระลอกมกราคม 2563 ในกลุ่มอายุ 20-29 ปี อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 0.09 ไล่ขึ้นมาจนถึงกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 11.72 ส่วนระลอกธันวาคม 2563 และเมษายน 2564 ก็มีการไล่เรียงตามกลุ่มอายุจากน้อยไปมากเช่นกัน จะเห็นว่าผู้เสียชีวิตเริ่มเป็นกลุ่มอายุน้อยเพิ่มขึ้น

หรือแม้แต่ประเทศที่ฉีดวัคซีนไปมากแล้วยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเรา ยกตัวอย่างใน อิสราเอล ที่มีการฉีดแล้ว ร้อยละ 62.4 ของประชากร แต่อัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 1 ล้านคน ยังอยู่ที่ร้อยละ 0.28 และสหรัฐอเมริกา ฉีดแล้วร้อยละ 43.3 อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 2.15 ขณะที่ประเทศไทยฉีดวัคซีนแล้วร้อยละ 1.5 แต่อัตราเสียชีวิตเพียงร้อยละ 0.17 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแม้ฉีดวัคซีนสูงแต่ต้องมีมาตรการอื่นประกอบด้วย เพราะวัคซีนไม่ใช่ทางออกเดียว ต้องมีมาตรการป้องกันโรคควบคู่กันไปด้วยจึงได้ผลดี

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 1 พฤษภาคม สะสม 1,484,565 โดส แบ่งเป็นผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 1,097,862 ราย และผู้ที่ได้ครบโดสตามเกณฑ์อีก 386,703 ราย


ขณะที่ข้อมูลการลงทะเบียนจองคิวรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านไลน์บัญชีทางการและแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ณ เวลา 14.00 น. มีผู้ลงทะเบียนรวม 499,873 ราย แบ่งเป็นผ่านไลน์ 379,653 ราย และแอปพลิเคชันอีก 120,220 ราย โดยเชื่อว่าวันนี้จะมีการจองเข้ามาอีกทะลุ 6 แสนราย