ก่อนฉีดวัคซีนโควิด ต้องหยุดยาคุมกำเนิดหรือไม่ ? หมออธิบายแล้ว

ก่อนฉีดวัคซีนโควิดต้องหยุดยาคุมกำเนิดหรือไม่?
ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเนื้อหา (ภาพโดย Gabriela Sanda จาก Pixabay)

กรณีหญิงอายุ 32 ปี เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยคนใกล้ชิดโพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่าผู้เสียชีวิตกินยาคุมก่อนเข้ารับวัคซีน ล่าสุด แพทย์มีคำตอบเรื่องนี้แล้ว 

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกโซเชียลแสดงความกังวลเรื่องข้อปฏิบัติก่อนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 หลังพนักงานคลินิกเสริมความงาม อายุ 32 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม จากอาการเลือดอุดตันในปอด โดยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ผู้เสียชีวิตได้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่จังหวัดสงขลา

ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม มีอาการวูบ ร่างกายอ่อนแรง เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งแล้วอาการดีขึ้น กระทั่งช่วงเช้าวันที่ 27 พฤษภาคม ผู้เสียชีวิตวูบหมดสติ ถูกส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ อาการทรุดลง กระทั่งเสียชีวิตจากอาการลิ่มเลือดอุดตันในปอดในเย็นวันเดียวกัน การเสียชีวิตดังกล่าวญาติกังวลว่าเกี่ยวข้องกับการรับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำลังพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิต โดยผลการพิสูจน์จะรายงานไปยังกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. เป็นผู้แถลงข้อมูลที่ชัดเจนต่อไป

ขณะที่ผู้ใกล้ชิดของผู้เสียชีวิต โพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้โทร.ปรึกษาแพทย์รายหนึ่ง ซึ่งได้ให้ความเห็นว่า การกินยาคุมเพิ่มโอกาสเกิดลิ่มเลือดสูง จึงได้ออกมาโพสต์เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนทั่วไปว่าควรหยุดกินยาคุมก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พล.อ.ท.นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กตอบคำถามกรณีการคุมกำเนิดกับการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ดังนี้

ในฐานะของหมอเมดไม่ใช่หมอสูติ เลยต้องอ้างอิงข้อแนะนำของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศอังกฤษ (Royal College of Obstretricians & Gynecologists) โดย Faculty of Sexual and Reproductive Healthcare (FSRH) เรื่องการคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมกับการรับวัคซีนโควิด-19 สรุปให้อ่านกันตามนี้ครับ

“การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำเพิ่มขึ้น (ถึงแม้ไม่ได้ฉีดวัคซีน) ซึ่งผู้รับการคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมยอมรับต่อความเสี่ยงนี้ เมื่อเทียบกับผลดีจากการใช้การคุมกำเนิดดังกล่าว

“มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำเพียงไม่กี่รายหลังจากได้รับวัคซีนโควิด-19 โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ และไม่มีข้อมูลว่าการคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมทำให้ความเสี่ยงนั้นเพิ่มขึ้น

“การได้รับวัคซีนโควิด-19 ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และป้องกันความรุนแรงของโรค ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ อีกมากมาย

“จากข้อมูลที่มีอยู่จึงแนะนำให้ทุกคน รวมถึงผู้ใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อมีโอกาสได้รับ และอย่ารอช้าในการรอวัคซีนบางชนิด

“ผู้ใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมไม่ควรหยุดใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด แผ่นแปะ หรือวงแหวนช่องคลอดเมื่อถูกเรียกให้ฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากต้องการเปลี่ยนไปใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น เนื่องจากไม่ต้องการเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำในอนาคตก็สามารถทำได้

“อย่างไรก็ตาม ถึงพบน้อย แต่ควรทราบถึงอาการของลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำ เช่น ปวดหัวต่อเนื่อง หายใจไม่ออก ไอเป็นเลือด บวมที่ขา หรือปวดท้องอย่างรุนแรง ซึ่งควรรีบมาพบแพทย์ อ่านข้อแนะนำฉบับเต็มได้ตาม link นี้ครับ คลิก

 

ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้ว่า ผลข้างเคียงของวัคซีนแม้เกิดได้น้อยมาก ๆ ก็ตาม แต่ถ้าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด กลไกของผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด ที่สำคัญประการหนึ่ง (นอกจากการแพ้เฉียบพลัน) คือการจุดให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง และมีผลต่อเนื่อง ทำให้เส้นเลือดหดตัว และลิ่มเลือด และเป็นเหตุผลที่ต้องละเว้นยาที่มีผลทำให้เส้นเลือดหดตัวอยู่แล้ว เช่น ยาแก้ปวดไมเกรนและยาแก้หวัด คัดจมูก กลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้กระทบต่อเส้นเลือดและหัวใจ

แต่สำหรับน้ำมันกัญชานั้น ผู้ป่วยที่ใช้อยู่แล้วเนื่องจากมีโรคประจำตัวซึ่งมีพื้นฐานจากการอักเสบ และประการสำคัญคือน้ำมันกัญชาสามารถลดการอักเสบได้ ดังนั้นผู้ที่ใช้น้ำมันกัญชาอยู่แล้วเช่นของอาจารย์เดชาของกรมการแพทย์แผนไทย เป็นสิ่งที่ควรใช้ต่อโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณ

และสำหรับสตรีที่ใช้ฮอร์โมนเพศหญิงสำหรับคุมกำเนิดหรือภาวะเกี่ยวข้องกับข้อมูลควรที่จะหยุดก่อนที่จะฉีดวัคซีนทั้งนี้อย่างน้อย 14 วัน ถ้าทำได้ ทั้งนี้ข้อแนะนำดังกล่าวควรจะใช้สำหรับวัคซีนอื่นด้วยเช่นกัน

ด้าน ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ออกประกาศเรื่อง การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
และ การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ใจความสำคัญระบุว่า ข้อมูล ณ ปัจจุบัน ซึ่งรวบรวมจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในสตรีทั่วโลกและในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก ไม่พบว่ามีการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันแต่อย่างใด

ยืนยันว่าผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิด สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ แต่หากมีความกังวลใจ และต้องการหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ มาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์