แพทย์แนะวิธีเลี่ยงโรคไต ห่างไกลอาการรุนแรง เตือนปัจจุบันไม่มี ‘ยาล้างไต’

ไตเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญที่ช่วยคัดกรองสิ่งสกปรกและสารพิษต่างๆของร่างกายแต่หากเริ่มประสบปัญหาปัสสาวะบ่อยและมากช่วงเวลากลางคืนปัสสาวะเป็นเลือดหรือปัสสาวะขุ่นปวดหลังปวดเอวอ่อนเพลียเหนื่อยง่ายรู้หรือไม่ว่ากำลังมีความเสี่ยงในการเป็นโรคไต

เพื่อให้ทุกคนรู้จักโรคไตให้มากขึ้น เวทีรอบรู้เรื่องไตกับ รพ.สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ในงาน ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย จึงเชิญ ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ พญ.ธัญญารัตน์ ธีรพรเลิศรัฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรม โรคไตประธานฝ่ายการแพทย์และวิชาการ โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์  มาถ่ายทอดความรู้ พาทุกคนไปรู้จักโรคไตภัยเสี่ยงใกล้ตัวให้มากขึ้น รวมถึงวิธีดูแลร่างกายให้ห่างจากโรคไต

ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ พญ.ธัญญารัตน์ ธีรพรเลิศรัฐ

รู้รอบเรื่องไต

ไตเป็นอวัยวะภายในร่างกายมีลักษณะคล้ายถั่วอยู่บริเวณบั้นเอว 2 ข้าง ใต้กระดูกซี่โครง และอยู่ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง ไตแต่ละข้างได้รับเลือดผ่านทางหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งออกจากหัวใจ เมื่อเลือดไหลผ่านไตจะมีการกรองผ่านหน่วยไตเล็กๆ ที่มีหน้าที่กรองของเสียจากเลือดผ่านท่อไต และเกิดเป็นน้ำปัสสาวะขับออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะ

ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ พญ.ธัญญารัตน์ ขยายความเพิ่มเติมว่า นอกจากหน้าที่ในการขจัดของเสียในร่างกาย จนกลายเป็นปัสสาวะ ไตยังมีหน้าที่ปรับสมดุลน้ำในร่างกาย ปรับสมดุลเกลือแร่ และกรดต่างๆ รวมถึงสร้างฮอร์โมนจำเป็นหลายชนิด ด้วยเหตุนี้ คนที่มีภาวะไตปกติจึงสามารถดื่มน้ำได้ตามต้องการ หรือหากรับประทานเค็มมากเกินไป ก็สามารถขับเกลือส่วนที่เกินได้ออกไปปกติ

ส่วนผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังนั้น คุณหมอแบ่งสาเหตุหลักๆ ให้พอเห็นภาพดังนี้ 

1. โรคไตที่เกิดจากโรคเบาหวาน 

2. โรคไตจากความดันโลหิตสูง

3. โรคไตจากหลอดเลือดฝอยไตอักเสบ

4.โรคนิ่วในไต

5. กินยาแก้ปวดข้ออย่างแรง (กลุ่มยาเอ็นเสด) เป็นประจำ

6. โรคถุงน้ำไตตั้งแต่กำเนิด

ใครเป็นโรคที่กล่าวมาข้างต้น จึงต้องหมั่นตรวจไตอยู่เสมอ และขอย้ำว่า ปัจจุบันไม่มียาล้างไตเพราะฉะนั้น หากไปพบตามร้านขายยาหรือแหล่งอื่นๆ ที่เอ่ยอ้างสรรพคุณยาในการล้างไตได้ ทำให้ไตสะอาด ยาดังกล่าวไม่เป็นความจริง แถมเป็นอันตราย เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถล้างไตด้วยยาชนิดรับประทานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรม โรคไต เน้นย้ำ

รู้อาการเสี่ยงไตก่อนสายไป

แม้โรคไตจะดูเป็นอันตรายแต่ก็เป็นโรคที่ส่งสัญญาณเตือนให้เรารู้ก่อนอย่างน้อยก็ทำให้เราระมัดระวังและหันมาดูแลตนเองมากขึ้น

อาการเตือนของโรคไต จะเริ่มตั้งแต่ปัสสาวะบ่อย และมากตอนกลางคืน ปัสสาวะเป็นเลือด หรือปัสสาวะขุ่น ปวดหลัง ปวดเอว อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และหากของเสียในไตมีจำนวนมากขึ้น ไตเริ่มทำงานไม่ไหว อาการก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ อาทิ บวมตามตัว หอบเหนื่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน คันตามตัว ตัวซีด ควบคุมความดันโลหิตได้ยาก ซึม ชัก หมดสติ และอาจถึงเสียชีวิตได้ในท้ายที่สุด หากไม่ได้รับการรักษา 

ถึงตรงนี้เชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็นโรคไต แล้วทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นโรคไต ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ พญ.ธัญญารัตน์ ให้คำแนะนำเบื้องต้นถึงหลักพึงปฏิบัติไว้ดังนี้

1. รักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เกาต์ เป็นต้น

2. ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์

3. ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะ หวาน มัน เค็ม

4. ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้วต่อวัน

5. งดสูบบุหรี่

6. งดยาแก้ปวดชนิดรุนแรง (เอ็นเสด)

ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ พญ.ธัญญารัตน์ ธีรพรเลิศรัฐ

แต่สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตแล้ว คุณหมอให้คำแนะนำว่า เริ่มต้นจากการไม่กังวล ไม่เครียด เพราะโรคไตเป็นโรคที่รักษาได้ แม้ว่าจะไม่หายขาด แต่เป็นโรคที่รักษาดูแลให้อยู่กับเรานานๆ ได้ โดยข้อแรก คือ การรักษาแบบประคับประคอง โดยดูแลเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และใช้ยาร่วม เพื่อชะลอการเสื่อมของไต แต่หากเป็นระยะสุดท้าย ต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อการล้างไต โดยการบำบัดทดแทนไตแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ การฟอกเลือดทำไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไตหรือการเปลี่ยนไต 

สรุปสิ่งที่ง่ายที่สุดในการป้องกันการเป็นโรคไตเบื้องต้น คือ การควบคุมอาหาร กินอาหารที่รสชาติพอดีๆ ไม่ปรุงรสเพิ่ม ฝึกนิสัยชิมก่อนปรุง ถ้าต้องการเติมให้เติมทีละน้อย เลี่ยงอาหารรสเค็มจัด เช่น ของหมักดอง ของตากแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมซอง เป็นต้น รวมถึงควบคุมอาหารรสชาติหวานจัด และอาหารมันมากๆ เช่น อาหารทอด เป็นต้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรม โรคไต ทิ้งท้าย