เช็กด่วนก่อนซื้อเเหลก! เงื่อนไข “ช้อปช่วยชาติ 2017” ใช้อย่างไรให้คุ้ม อะไรลดหย่อนภาษีได้-ไม่ได้ ?

ปลุกมู้ดจับจ่าย กระตุ้นจีดีพี ขาช้อบปลายปีใจเต้นกันระนาว หลังวันนี้ ครม.ประกาศไฟเขียว  “ช้อปช่วยชาติ 2017” จัดเต็มยาวนานกว่าทุกปีถึง 23 วัน  ตั้งเเต่วันที่ 11 พ.ย. จนถึง 3 ธ.ค. นี้

หลายคนคงสงสัย จะมีสินค้าหรือบริการอะไรบ้างที่นำไปลดหย่อนภาษีได้ และวิธีการขอลดหย่อนภาษีเขาทำกันอย่างไร ใครบ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” นำสิ่ง “ต้องรู้” กับมาตรการช้อปช่วยชาติ มาฝากกันเเบบทันใจ

โดย “ช้อปช่วยชาติ” เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีที่ประชาชนสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

แม้กระทรวงการคลัง ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้มีภาษีที่ต้องสูญเสียประมาณ 2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีผู้ใช้สิทธิลดหย่อนเป็นมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท สูญเสียรายได้ภาษีราว 1,800 ล้านบาทแต่ก็จะช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าหรือการให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 0.05% ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า “ช้อปช่วยชาติ” ตลอด 23 วัน มีคนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีราว 2.25 หมื่นล้านบาท

จากข้อมูลระบุว่า มาตรการช้อปช่วยชาติปลายปี 2559 ที่ผ่านมา สามารถจัดเก็บภาษี VAT เดือน ม.ค. 2560 อยู่ที่ 245,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ม.ค. 2559 รวม 3,688 ล้านบาท หรือ 1.5% ขณะที่เดือน ธ.ค. 2559 เก็บภาษี VAT ได้ 61,589 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือน ธ.ค. 2558 ราว 644 ล้านบาท หรือ 1%

โดยรัฐบาลใช้มาตรการช็อปช่วยชาติกระตุ้นเศรษฐกิจมาแล้ว 2 ครั้ง มีการดำเนินการครั้งแรกช่วงปลายปี 2558 เป็นเวลารวม 7 วัน ระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค.2558 และต่อมาในปี 2559 มีการเพิ่มระยะเวลาเป็น 18 วัน ระหว่างวันที่ 14-31 ธ.ค.2559 และครั้งนี้ปี 2560 คือครั้งที่ 3 เพิ่มระยะเวลาเป็น 23 วัน ระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560

 ใครใช้ได้บ้าง?

ประชาชนที่ซื้อสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยต้องนำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่ได้จากห้างร้านที่จดทะเบียน VAT กับกรมสรรพากร มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน 15,000 บาท

ทั้งนี้ ผู้ที่มีเงินได้ต่อปีรวมไม่ถึง 150,000 บาท ไม่ต้องไปรอคิวให้เสียเวลา เพราะอยู่ในเกณฑ์ยกเว้นภาษีอยู่แล้ว

เงื่อนไขการใช้สิทธิ “ช้อปช่วยชาติ”

คุณต้องซื้อสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2560 โดยต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อยู่แล้ว ไม่เป็นสินค้าหรือบริการที่ต้องห้ามไม่ได้รับสิทธิลดหย่อน โดยซื้อกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม  พร้อมต้องได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ ไม่สามารถใช้สลิปใบเสร็จหรือใบกำกับภาษีอย่างย่อได้

 

สินค้าและบริการที่สามารถลดหย่อนภาษีได้…มีอะไรบ้าง ?

-ค่าซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า

-ค่าซื้อสินค้าจากร้านค้า duty free

-ค่าอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหารและโรงแรมที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

-ค่าศัลยกรรมกับสถานเสริมความงามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

-ค่าซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถ อะไหล่รถยนต์

-ค่าซื้ออุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

-ค่าบริการทำสปา นวดหน้า

-ค่าตั๋วหนัง

-ค่าซ่อมรถ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560

-ค่าบริการเทรดหุ้น ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560

-ค่าตั๋วเครื่องบินที่บินในประเทศ ของสายการบินที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560โดยต้องซื้อและบินภายในช่วงเวลามาตรการเท่านั้น

 

สินค้าและบริการ…อะไรที่ใช้ไม่ได้บ้าง?

สินค้าหรือบริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว เช่น ผักสด ของสด หนังสือ ทองคำแท่ง สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ ค่าที่พักและโรงแรม ค่านำเที่ยว มัคคุเทศก์ การรับบริการจากสถานพยาบาลและซื้อบัตรของขวัญห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ การซื้อทองรูปพรรณ สามารถนํามาหักลดหย่อนภาษีได้เฉพาะค่ากำเหน็จหรือค่าบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ส่วนทองคำแท่ง ไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้

อ้างอิงจากข้อมูล ปี2559

 

ขอใบกำกับภาษีอย่างไร ต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง ใช้ยื่นภาษีได้ถึงเมื่อไหร่?

เบื้องต้นต้องสอบถามทางร้านและผู้ประกอบการ ว่าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ โดยผู้ซื้อสินค้าสามารถแจ้งกับพนักงานที่เราไปใช้บริการได้ โดยระบุว่า “ขอใบกำกับภาษีในนามบุคคล” พร้อมยื่นบัตรประชาชนเพื่อให้พนักงานกรอกข้อมูล

ส่วนการขอลดหย่อนภาษีจากมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ต้องใช้ใบกํากับภาษีแบบเต็มรูปแบบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

-ต้องมีคำว่า “ใบกำกับภาษี” อย่างชัดเจน

-ต้องมีชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของร้านค้า

-ต้องมีชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวประชาชนของผู้ซื้อ

-หมายเลขของใบกำกับภาษี (ถ้ามี)

-ต้องมีชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ

-ต้องมีจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม

-ต้องมีวัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

-ข้อความอื่นๆ (ถ้ามี)

 

โดยเราจะใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่ได้ มาทำการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2560 ซึ่งสามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มี.ค. 2561

สำหรับใบกำกับภาษีที่ไม่สมบูรณ์ เช่น เขียนชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการเเก้ไข จะสามารถนำมาใช้หักลดหย่อนได้หรือไม่  กรมสรรพกร ระบุว่า หากใบกำกับภาษีนั้นมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เเม้จะมีการเขียนชื่อ หรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการเเก้ไขข้อความก็สามารถใช้หักลดหย่อนได้

ขณะที่ในกรณีใบกำกับภาษี มีทั้งรายการสินค้าเเละบริการ ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเเละไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะหักลดหย่อนอย่างไรนั้น ผู้ซื้อสามารถนำใบกำกับภาษีดังกล่าวมาลดหย่อนได้ โดยจะให้เฉพาะค่าสินค้าเเละบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น

รู้ขั้นตอน-ข้อมูลครบถ้วนเเบบนี้ ก็ถึงเวลาเตรียมพร้อมเงินในประเป๋า เเล้วก้าวไปช้อปกันเลย…