
ผู้ว่าฯ กกท. ยืนยันคนไทยได้ดูบอลโลก 2022 แน่นอน พร้อมเข้าไปดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเอง หากดีลเอกชนไม่สำเร็จ
วันที่ 7 ตุลาคม 2565 อีกเพียง 1 เดือนข้างหน้า จะถึงเวลาของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2565 แต่ชาวไทยยังคงสงสัยถึงช่องทางการชมถ่ายทอดสด และยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดการแข่งขัน
ล่าสุด ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยกับมติชนถึงประเด็นการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ว่า ถึงแม้เวลานี้ในประเทศไทยจะยังคงไม่มีภาคเอกชนรายใดที่ประกาศความชัดเจนในการยื่นซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ไปยังสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เพื่อนำมาถ่ายทอดสดให้แฟน ๆ ชาวไทยได้รับชมกัน
ทว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานของรัฐได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่าใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากท้ายที่สุดแล้วยังไม่มีหน่วยงานภาคเอกชนรายใดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทางภาครัฐก็พร้อมจะเข้าไปดำเนินการเจรจากับฟีฟ่าทันที เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้คนไทยได้รับชมฟรี
ดร.ก้องศักด กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าคนไทยจะได้ดูการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 สด และฟรี เป็นไปตามตามกฎ “มัสต์แฮฟ” อย่างแน่นอน เพียงแต่ตอนนี้ได้เปิดทางให้ภาคเอกชนที่มีความสนใจ หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือ “ทีวีพูล” ในการเข้าไปติดต่อกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ซึ่งจากข้อมูลที่ได้ทราบมานั้น เวลานี้กำลังมีผู้ที่ให้ความสนใจอยู่ด้วย
แต่หากในที่สุดแล้วเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ในส่วนของประเทศไทยยังคงไม่คืบหน้า ภาครัฐพร้อมยื่นมือเข้าไปดำเนินการเรื่องนี้ทันที ส่วนประเด็นเรื่องของแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ อาจเป็นงบประมาณจากรัฐบาล หรือไม่งบประมาณผ่านทางกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) อย่างไรก็ตามยังหวังว่าในช่วงเวลาที่้เหลือนี้ ภาคเอกชนจะสามารถดำเนินการตกลงรายละเอียด และซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 กับทางฟีฟ่าได้
ทั้งนี้ประกาศจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อปี พ.ศ. 2555 ว่าด้วยเรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ทางฟรีทีวี กำหนด 7 รายการแข่งขันกีฬาสำคัญ ให้ออกอากาศทางฟรีทีวี เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับชม ตามกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) ประกอบด้วย
- กีฬาซีเกมส์
- อาเซียนพาราเกมส์
- เอเชี่ยนเกมส์
- เอเชี่ยนพาราเกมส์
- โอลิมปิกเกมส์
- พาราลิมปิกเกมส์
- ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวมติชน สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกจากฟีฟ่า ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ระบุว่า ขณะนี้มี 95 ประเทศซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากฟีฟ่าเรียบร้อยแล้ว โดยยังไม่มีประเทศไทย แต่ในส่วนชาติชาติในภูมิภาคอาเซียนที่ซื้อลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้วมี 4 ชาติ ประกอบด้วย บรูไน, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย
ประเทศที่ลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 แพงที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา ที่ซื้อแพคเกจ 2 ครั้งคือ ปี 2018 พ่วงปี 2022 จ่ายไปทั้งสิ้น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ศึกฟุตบอลโลก 2018 ที่ผ่านมา ประเทศเวียดนาม เป็นประเทศสุดท้ายที่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดด้วยมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 380 ล้านบาท
สื่อเวียดนามสำนักหนึ่งรายงานว่า เวลานี้ประเทศเวียดนามกำลังเจรจากับเอเย่นต์ที่ดูแลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของฟีฟ่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยระบุว่า ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดครั้งนี้อยู่ที่ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 570 ล้านบาท นั่นหมายความว่า ค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ในส่วนประเทศไทย ตัวเลขในการยื่นซื้อลิขสิทธิ์จะใกล้เคียงกับประเทศเวียดนามที่กำลังดำเนินการในเวลานี้