“ท่องเที่ยว” ฟื้นตัว ดีมานด์เดินทางทั่วโลกพุ่ง

ท่องเที่ยว ฟื้นตัว

จากข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวฯ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานว่า ตัวเลขการเดินทางทั่วโลกในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม 2565) ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบปี 2564

โดยองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UNWTO คาดการณ์ว่า ในปี 2565 การท่องเที่ยวระหว่างประเทศของโลกจะอยู่ในระดับ -45% ถึง -30% ของปี 2562 ขณะที่ปี 2563 อยู่ในระดับ -72% และปี 2564 อยู่ในระดับ -71%

และระบุว่าในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2565 ทั่วโลกมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมเฉลี่ยลดลง -54% หรือลดลงจำนวน 291 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนวิกฤต) ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia and The Pacific) ลดลงมากที่สุดถึง -90% รองลงมาคือตะวันออกกลาง (Middle East) -54% แอฟริกา (Africa) -50% อเมริกา (Americas) -40% และยุโรป (Europe) -36%

ทั้งนี้ มีปัจจัยบวกจากจำนวนประเทศที่ยกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป ความต้องการท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่สูง (pen-up demand) รวมถึงเงินยูโรที่อ่อนค่ากว่าเงินดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกยังมีปัจจัยลบในหลายด้าน อาทิ จำนวนที่นั่งสายการบิน (seat capacity) อยู่ที่ระดับ 20-25% เมื่อเทียบกับปี 2562 การขาดแคลนบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2565 เป็น +3.2% จากเดิมที่คาดไว้ที่ +3.6% เป็นต้น

ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศของไทยนั้น พบว่าในไตรมาส 1/2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดหลักคือนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเป็นหลัก

โดยในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม 2565) ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 3.15 ล้านคน หรือ -86.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

ไตรมาส 1/2565 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกเดือน ตลาดหลักคือนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปและอเมริกา ส่วนไตรมาส 2/2565 นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปและรัสเซียลดลง แต่นักท่องเที่ยวอินเดีย มาเลเซีย ตะวันออกกลาง เวียดนาม และสิงคโปร์ มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวมของไทยขยายตัวอย่างชัดเจน

หากดูตัวเลขรายเดือนพบว่า เดือนมกราคมมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ -96.4% กุมภาพันธ์ -95.8% มีนาคม -93.9% และค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยเดือนกรกฎาคมยกเลิก Thailand Pass มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทะลุ 1 ล้านคน เป็นเดือนแรกส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมลดลงเฉลี่ยที่ -68% (เทียบกับปี 2562)

และพบว่านักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศไทยในช่วงแรกของการเปิดประเทศส่วนใหญ่เลือกจุดหมายปลายทางที่เป็นที่รู้จักเป็นหลัก โดยร้อยละ 80 อยู่ใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วน 54% ตามด้วย ภูเก็ต 13% สุราษฎร์ธานี 5% สงขลา 4% และชลบุรี 4%

รายงานดังกล่าวยังคาดการณ์ด้วยว่า ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 รวมประมาณ 2.15 ล้านคน และในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 (ไตรมาส 4/2565) รวมประมาณ 3.70 ล้านคน ทำให้มีตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2565 รวมที่ 9 ล้านคน

โดยมีปัจจัยบวกดังนี้ 1.การเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบิน 2.การยกเลิก Thailand Pass 3.การท่องเที่ยวของกลุ่มครอบครัวในช่วงปิดภาคเรียน และ 4.การเป็นเดสติเนชั่นสำคัญของนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยลบเช่นกัน อาทิ การประท้วงของพนักงานสายการบินในยุโรป ความไม่เพียงพอของจำนวนที่นั่งเครื่องบิน ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินที่อยู่ในระดับสูง ฯลฯ

ส่วนสถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น พบว่าในช่วงมกราคม-มิถุนายน 2565 มีจำนวน 94.27 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 161.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ภาคตะวันตก เป็นภูมิภาคที่เติบโตสูงสุดจำนวน 18.59 ล้านคน-ครั้ง รองลงมาคือ ภาคเหนือ จำนวน 14.96 ล้านคน-ครั้ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 14.78 ล้านคน-ครั้ง ภาคกลาง จำนวน 14.26 ล้านคน-ครั้ง กรุงเทพฯ จำนวน 14.06 ล้านคน-ครั้ง ตะวันออก จำนวน 9.78 ล้านคน-ครั้ง และภาคใต้ จำนวน 7.83 ล้านคน-ครั้ง

ส่วนจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวคนไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ 14.06 ล้านคน-ครั้ง ชลบุรี 5.74 ล้านคน-ครั้ง กาญจนบุรี 5.55 ล้านคน-ครั้ง ประจวบคีรีขันธ์ 4.36 ล้านคน-ครั้ง และเพชรบุรี 4.27 ล้านคน-ครั้ง


พร้อมทั้งประเมินว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้จากคนไทยเที่ยวในประเทศ หรือ “ไทยเที่ยวไทย” จำนวน 2.97 แสนล้านบาท