แอร์บัสเชื่อ “เอเชียอาคเนย์” เป็นผู้นำการเติบโตการบินโลก

ปิแอร์ อองเดรย์

แอร์บัสเชื่อธุรกิจการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตต่อเนื่อง พร้อมเป็นผู้นำการเติบโตของอุตสาหกรรม ย้ำความมุ่งมั่นพัฒนาด้านธุรกิจในไทยทั้งเครื่องบินพาณิชย์ เฮลิคอปเตอร์ เทคโนโลยีอวกาศ

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 นายปิแอร์ อองเดรย์ ประธานกรรมการแอร์บัสประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ความต้องการใช้อากาศยานพาณิชย์ในภูมิภาคมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการการจำกัดการเดินทาง

โดยคาดว่านับจากนี้อุตสาหกรรมการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นผู้นำการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของทั้งโลก ในอีก 20 ปี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีปริมาณการเดินทางทางอากาศที่เติบโตขึ้นทุกปี

“แอร์บัสมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังสายการผลิตให้ตอบสนองกับความต้องการที่กลับมา” นายปิแอร์ กล่าว

ปัจจุบันเครื่องบินเชิงพาณิชย์ของแอร์บัสที่ให้ปฏิบัติการบินโดยสายการบินหลักในประเทศไทยมีจำนวน 62 ลำ ซึ่งครอบคลุมเกือบจะทุกรุ่นในสายการผลิต ดังนี้ เครื่องบินตระกูลเอ 320 (A320) ตระกูลเอ 330 (A330) เอ 350 (A350) และเอ 380 (A380)

นอกจากนี้ แอร์บัสยังให้ความสำคัญกับเครื่องบินทางทหารและเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งนำไปปฏิบัติการในภารกิจที่หลากหลาย เช่น การค้นหาและกู้ภัย บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สาธารณประโยชน์ และการท่องเที่ยว รวมถึงการสนับสนุนด้านอวกาศของไทย

“หลังจากที่ดาวเทียมสำรวจโลกธีออส-1 (THEOS-1) ของประเทศไทยขึ้นสู่อวกาศในปี 2551 แอร์บัสภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้สร้างระบบข้อมูลทางภูมิศาสตร์ธีออส-2 (THEOS-2) โดยดาวเทียมดวงนี้มีกำหนดการปล่อยในช่วงปลายปี 2565 หรือช่วงต้นปี 2566” นายปิแอร์กล่าว

ด้านการผลิต แอร์บัสได้ทำสัญญาหลายฉบับร่วมกับไทรอัมพ์ เอวิเอชั่น เซอร์วิสเซส เอเชีย โดยครอบคลุมในเรื่องการซ่อมแซม ยกเครื่อง และดัดแปลงโครงสร้างเฟรมของเครื่องบินเอ 320 เอ 330 และเอ 340 ที่ดำเนินการโดยสายการบินต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยคาร์บอน เอวิเอชั่น ยังได้ผลิตชิ้นส่วนคอมโพสิตสำหรับเครื่องบินรุ่น A320 A330 และ A350