การบินไทย ระดมฝูงบินรับไฮซีซั่น จีนจุดเปลี่ยนธุรกิจการบินปี’66

ปิยสวัสด์ อัมระนันท์
ปิยสวัสด์ อัมระนันท์

แม้ว่าการขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูกิจการของ “การบินไทย” จะคืบหน้าได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่มีความท้าทายสำหรับทีมบริหาร โดยเฉพาะเรื่องการเติมเงินทุนใหม่ ตามแผนที่ยื่นขอแก้ไขไปเมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งต้องติดตามว่าเจ้าหนี้จะโหวตรับแผนใหม่หรือไม่ ในวันที่ 1 กันยายนนี้อีกครั้ง

“ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวโน้มการฟื้นตัว แผนรับมือในช่วงไฮซีซั่นปีนี้ รวมถึงเป้าหมายและความมั่นใจในการนำการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการไว้ดังนี้

ผู้โดยสารระหว่างประเทศฟื้นตัว

“ปิยสวัสดิ์” บอกว่า ตั้งแต่ประเทศต่าง ๆ ผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง การเดินทางระหว่างประเทศตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ทยอยผ่อนคลายเช่นกัน ผู้โดยสารเดินทางระหว่างประเทศเข้า-ออกประเทศไทยเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก

ในส่วนของการบินไทยนั้น พบว่ามีจำนวนผู้โดยสารเข้า-ออกประเทศไทยจากประมาณ 500 คนต่อวัน ในช่วง 10 เดือนแรกของปีที่แล้ว ขึ้นมาสู่ระดับ 16,500 คนต่อวัน เมื่อเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2565

หากรวมผู้โดยสารของไทยสมายด์ ที่มีผู้โดยสารระหว่างประเทศอีกประมาณ 3,000 กว่าคนต่อวัน รวมเป็นประมาณ 20,000 คนต่อวัน เท่ากับประมาณ 31% ของผู้โดยสารที่เดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สัดส่วนนี้ใกล้เคียงกับการเดินทางในช่วงก่อนโควิด

ติดหล่ม “จีน-ญี่ปุ่น” ปิดประเทศ

เรียกว่าการบินไทยฟื้นตัวพร้อมกับการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศไทย เพียงแต่ว่าถ้าเทียบกับสายการบินในบางทวีป เช่น ในยุโรป การบินไทยยังสู้ไม่ได้ เพราะในยุโรป อเมริกา นั้นมีการเปิดประเทศมากกว่า

ขณะที่ประเทศไทยยังติดปัญหาที่ประเทศจีนยังไม่เปิดประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน ยังเปิดประเทศแบบมีข้อจำกัด มีเพียงเกาหลีเท่านั้นที่เปิดค่อนข้างจะเสรี ซึ่งประเทศเหล่านี้คิดเป็นผู้โดยสาร 1 ใน 3 ของการบินไทยในช่วงก่อนโควิด

“ตอนนี้จีนแทบจะไม่เปิดเลย แม้ว่าตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป จะมีการเพิ่มเที่ยวบินให้กับสายการบินในประเทศไทยจาก 3 เที่ยวบิน เป็น 15 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ แต่ยังถือว่าน้อยมาก ส่วนญี่ปุ่นเครื่องบินที่เข้าญี่ปุ่นยังจำกัดจำนวนผู้โดยสารขั้นสูงสุด กล่าวคือถ้าเดินทางวันธรรมดากำหนดให้ผู้โดยสารไม่เกิน 190 คนต่อลำ ส่วนวันหยุดไม่เกิน 160 คนต่อลำ ขณะที่ไต้หวันและฮ่องกงก็ยังมีข้อจำกัดมากมาย”

เตรียมเพิ่มฝูงบินรับไฮซีซั่น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไฮซีซั่นนี้การบินไทยได้เตรียมเพิ่มฝูงบินอีกจำนวนหนึ่ง จากปัจจุบันมีเครื่องบินใช้งานอยู่จำนวน 61 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินที่เช่าดำเนินการ หรือเช่าซื้อ จำนวน 57 ลำ อีก 4 ลำเป็นเครื่องบินของการบินไทย

โดยในไตรมาส 4 นี้การบินไทยมีแผนนำเครื่องบินเก่าที่อยู่ในสภาพค่อนข้างดีมาใช้งานเพิ่มเติมอีก 5 ลำ รวมเป็น 66 ลำ และจะมีเครื่องใหม่ที่ลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นเป็นเช่าดำเนินการอีกจำนวน 2 ลำ ซึ่งจะเข้ามาในเดือนมกราคม 2566 ทำให้ต้นปีหน้าการบินไทยจะมีเครื่องบินในฝูงบินจำนวน 68 ลำ

ทั้งนี้ เครื่องบินใหม่ที่จะทยอยเข้ามาดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนรองรับช่วงไฮซีซั่นของปีนี้ ซึ่งจะนำมาใช้เพื่อเพิ่มความถี่ในเส้นทางยุโรป หรือบางสนามบินอาจเพิ่มขนาดเครื่องบิน เช่น ลอนดอน ก็มีความเป็นไปได้ถ้าหากสนามบินฮีโทรว์ยกเลิกการจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางออก

นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มความถี่เส้นทางญี่ปุ่น เพราะว่าคาดว่าญี่ปุ่นอาจจะเริ่มทยอยผ่อนคลายการเดินทางและปลดล็อกเรื่องการจำกัดจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน

“สำหรับเส้นทางสู่จีน ตอนนี้เรายังไม่ได้วางแผนว่าจะเพิ่มเที่ยวบินแต่อย่างใด แค่นี้ก็น่าจะใช้เครื่องบินที่มีอยู่เต็มที่แล้ว”

“โควิด-น้ำมัน” ยังเป็นปัจจัยเสี่ยง

ต่อคำถามว่า ท่ามกลางแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีต่อเนื่องนี้ มีอะไรที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงบ้าง “ปิยสวัสดิ์” บอกว่า หากมองเรื่องของปัจจัยเสี่ยงในภาคธุรกิจการบินนั้น ยังคงเป็น 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ที่แม้ว่าคงจะไม่มีประเทศไหนกลับไปล็อกดาวน์อีกแล้ว แต่โควิดก็เป็นปัจจัยที่ทำให้บางประเทศในเอเชียยังไม่เปิด

ที่สำคัญ ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเปิดหรือผ่อนคลายเมื่อไหร่ โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของการบินไทย

และ 2.คือราคาน้ำมัน โดยราคาน้ำมันยังถือว่าเป็นความเสี่ยงค่อนข้างมาก แม้ว่าสายการบินจะสามารถปรับขึ้นค่าโดยสารตามต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้ แต่ความผันผวนยังสูงมาก เช่น ในเดือนกรกฎาคม-ต้นสิ่งหาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเครื่องบินอ่อนตัวลงต่อเนื่อง แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งแล้ว

ชูตัวเลข EBITDA ดัชนีชี้วัด

สำหรับเป้าหมายด้านรายได้ในปี 2565 นั้น “ปิยสวัสดิ์” ตอบอย่างมั่นใจว่า ตัวเลขทั้งปีน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ในประมาณการฐานะการเงินที่อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการที่บริษัทเพิ่งจะขอปรับใหม่ และยื่นต่อศาลไปเมื่อ 1กรกฎาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ตัวเลขการดำเนินการจริงในช่วง 6-7 เดือนแรกของปีนี้ก็เป็นไปตามเป้าหมาย ฉะนั้น คิดว่าในส่วนที่เหลือของปีนี้ไม่น่ามีปัญหา ซึ่งรายได้จากการบินตลอดทั้งปีนี้น่าจะอยู่ในระดับ 80,000 ล้านบาท

“อยากบอกว่าการดูผลประกอบการอย่าดูกำไรสุทธิ กำไรสุทธิดูยาก เพราะมีรายการพิเศษเยอะ อย่างปีที่ผ่านมามีรายการพิเศษเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ ขายสินทรัพย์ ฯลฯ ทำให้ไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิเป็นบวก 50,000 ล้านบาท แต่ไตรมาส 2 ปีนี้เราไม่มีรายการพิเศษ มีหนี้ที่เป็นดอลลาร์สูง และมีค่าเช่าเครื่องบินที่จ่ายในอนาคต ซึ่งในหลักการบัญชีต้องตีเป็นมูลค่าปัจจุบัน ทำให้ตัวเลขกำไรสุทธิติดลบ”

“ปิยสวัสดิ์” ย้ำว่า ตัวสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดจริง ๆ ที่นักวิเคราะห์ใช้กันคือ EBITDA ในแผนฟื้นฟูที่ยื่นขอแก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา จึงกำหนดใช้ EBIDTA เป็นตัวชี้วัด โดยระบุไว้ในแผนอันหนึ่งว่า จะออกจากแผนได้ EBITDA ต้องเกิน 20,000 ล้านบาท”

ซึ่งในไตรมาส 2/2565 การบินไทยมี EBITDA หลังจากหักค่าเช่าเครื่องบินเป็นบวกครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ไตรมาส 2 ของปี 2564 EBITDA ติดลบ 9,000 ล้านบาท ดังนั้น ผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก

และเชื่อว่าตัวเลข EBITDA ในไตรมาส 3/2565 นี้ จะยังดีต่อเนื่อง และดีกว่าไตรมาส 2 เรียกว่าตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนและประมาณการตามแผนที่ยื่นขอแก้ไข

คาดออกจากแผนฟื้นฟูต้นปี’68

“ปิยสวัสดิ์” บอกด้วยว่า สำหรับปีหน้านั้น ตัวเลขจะดีขึ้นแค่ไหน ตัวแปรสำคัญอยู่ที่ตลาดจีน แต่ถึงแม้ว่าจีนไม่เปิดตัวเลขปีหน้า ก็น่าดีกว่าปีนี้ หากจีนเปิดก็จะเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

“ในแผนใหม่เราไม่ได้หวังว่าจีนจะเปิดเร็ว แต่มองว่าตลาดยุโรปยังมีช่องว่างที่จะเติมเส้นทางบินและความถี่ได้อีก เพราะบางเมืองที่การบินไทยเคยบินยังกลับมาไม่ครบ เช่น มิลาน (อิตาลี), ออสโล (นอร์เวย์) เป็นต้น”

พร้อมทิ้งท้ายถึงความมั่นใจในการนำบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูกิจการว่า ตามแผนที่ขอปรับใหม่เงื่อนไขออกจากแผน 2 เงื่อนไขคือ 1.ทุนกลับมาเป็นบวก ซึ่งเราคิดว่าจะเกิดขึ้นในปลายปี 2567 และ 2. ตัวเลข EBITDA ในรอบ 12 เดือนเกิน 20,000 ล้านบาท ก็คาดว่าน่าจะสามารถทำได้ในปี 2567 เช่นกัน

จึงเชื่อมั่นว่า “การบินไทย” จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมกับนำหุ้นกลับมาซื้อ-ขายในตลาดอีกครั้งได้ในปี 2568