“สนามบินเบตง” ส่อปิดชั่วคราว นกแอร์ถอดใจ-ทัวร์เลิกเหมาตั๋ว

นกแอร์

เส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-เบตงส่อสะดุด วงในเผย “นกแอร์” ไปต่อไม่ไหว บริษัททัวร์ถอดใจ เลิกเหมาที่นั่งหลังหมดโครงการทัวร์เที่ยวไทยสิ้นเดือน ต.ค.นี้ ชี้ค่าตั๋วแพงเกินรับไหว หวนขายทัวร์บินลงหาดใหญ่เหมือนเดิม ลุ้น ทย. ลงทุนเฟส 2 ต่อรันเวย์รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงมากว่าหลังสิ้นสุดโครงการทัวร์เที่ยวไทยและเราเที่ยวด้วยกัน ในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 นี้ สนามบินเบตง จังหวัดยะลา อาจจะมีความจำเป็นต้องปิดให้บริการชั่วคราว หลังจากที่ปิดชั่วคราวไปครั้งหนึ่งเมื่อครั้งที่เปิดสนามบินในช่วงแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2565 เนื่องจากสายการบินนกแอร์ไม่สามารถแบกรับต้นทุนการให้บริการต่อไปได้

ประกอบกับ 3 บริษัททัวร์รายใหญ่ ประกอบด้วย บริษัท ซี.ซี.ที. กรุ๊ป จำกัด, บริษัท แตงโมทัวร์ จำกัด และสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) ที่ได้ร่วมเซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) เหมาที่นั่งจำนวน 60 ที่นั่งกับสายการบินนกแอร์ ก็เตรียมยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวเมื่อจบแคมเปญ “#เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์” เฟส 2 ในสิ้นเดือนตุลาคมนี้เช่นกัน

ชี้ “ราคาสูง” ทำตลาดยาก

แหล่งข่าวกล่าวว่า สาเหตุของการยุติแผนการบินสู่เบตง ของสายการบินนกแอร์และยกเลิกข้อตกลงเหมาที่นั่งของกลุ่มบริษัททัวร์ครั้งนี้ เป็นผลจากราคาตั๋วโดยสารเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-เบตง สูงมาก เฉลี่ยไป-กลับ ประมาณ 7,000 บาท ทำให้บริษัททัวร์ไม่สามารถทำต้นทุนแพ็กเกจทัวร์ในราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดได้

“เฟสแรก ในช่วง 3 เดือน (ปลายเดือน เม.ย.-ก.ค.) ที่นกแอร์ทำการบิน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สนับสนุนงบประมาณบางส่วนผ่านแคมเปญ #เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์ ส่วนเฟส 2 ช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. เป็นช่วงต่อโครงการทัวร์เที่ยวไทย รัฐบาลสนับสนุนการเที่ยวผ่านทัวร์สูงสุด 5,000 บาท ทำให้บริษัททัวร์ยังสามารถทำตลาดได้” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ทันทีที่สิ้นสุดโครงการนี้ลง บริษัททัวร์จะไม่สามารถทำตลาดในราคาปัจจุบันที่ขายอยู่ 13,000-14,000 บาท ได้ ซึ่งประเด็นปัญหาราคาตั๋วโดยสารที่แพงมากนี้ ที่ผ่านมาผู้บริหารนกแอร์และตัวแทนบริษัททัวร์มีการเจรจากันหลายครั้งแล้ว แต่นกแอร์ยังยืนยันราคาขายตั๋วไป-กลับ 7,000 บาท ขณะที่บริษัททัวร์รับได้ที่ราคา 5,000 บาท จึงทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถเดินต่อไปได้

บริษัททัวร์ถอดใจเลิกเหมาที่นั่ง

นายธนพล ชีวรัตนพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แตงโมทัวร์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับบริษัทค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าจะยุติการเหมาที่นั่งนกแอร์เส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ-เบตง แค่สิ้นเดือน ต.ค.นี้ หลังจบแคมเปญ #เบตง หรอยแรว แหล่งใต้ สไตล์เบตง เฟส 2 และสิ้นสุดโครงการทัวร์เที่ยวไทย เนื่องจากต้นทุนราคาตั๋วเครื่องบินสูงมาก โดยช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมาทำตลาดได้เพราะรัฐบาลและ ททท.สนับสนุน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงขายแพ็กเกจทัวร์เที่ยวเบตงต่อเนื่อง โดยทำโปรแกรมทัวร์เดินทางผ่านสนามบินหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และต่อรถตู้เข้าเบตง ซึ่งเป็นโปรแกรมที่บริษัทขายอยู่แล้ว

“ในภาพรวมตอนนี้หลาย ๆ ประเทศเปิดแล้ว โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่ขายแพ็กเกจทัวร์อยู่ในระดับ 10,000 บาทต้น ๆ ทำให้คนเลือกไปเที่ยวต่างประเทศดีกว่า จึงมองว่าราคาตั๋วที่สายการบินให้มานั้น ทุกฝ่ายไปต่อยาก และสายการบินก็น่าจะไปต่อยากเช่นกัน หากสายการบินสามารถลดราคาตั๋วลงมาตามที่เคยคุยกันก่อนหน้านี้ บริษัทอาจเปลี่ยนใจและเดินหน้าต่อ แต่ต้องได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้

เช่นเดียวกับ นายวิชิต ประกอบโกศล เจ้าของบริษัท ซี.ซี.ที. กรุ๊ป จำกัด ที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาและนัดเจรจากับสายการบินนกแอร์อีกครั้ง คาดว่าน่าจะภายในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า เพื่อหาข้อสรุปอย่างเป็นทางการภายในเดือน ก.ย.นี้

“หากนกแอร์ยังยืนราคาตั๋วไว้ที่ 7,000 บาท เราก็ยืนยันว่าทำตลาดไม่ได้แน่นอน ตอนนี้ก็รอดูทีท่าของสายการบิน และ ททท. ว่าจะให้การสนับสนุนต่อไปอีกหรือไม่ อย่างไร หากไม่มีงบฯมาช่วยซับซิไดซ์บางส่วนจากรัฐบาล บริษัททัวร์ก็ไม่กล้าเหมาที่นั่งสายการบินต่อ แต่หากมีงบฯซับซิไดซ์หรือสายการบินยอมลดราคาลงก็อาจจะเดินต่อ แต่ขณะนี้ทุกฝ่ายยังมองไม่เห็นความชัดเจนว่าหลัง ต.ค.นี้จะเดินต่อหรือจะพอแค่นี้”

นายวิชิตกล่าวอีกว่า สำหรับแพ็กเกจท่องเที่ยวเบตงช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จมาก มีเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั้งเฟส 1 และเฟส 2 หากต้องยุติก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะปัจจุบันเส้นทางเบตงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในกลุ่มคนไทย

“เบตง” โอดเสียโอกาสยกระดับเมือง

นายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า เมืองเบตงรับรู้ประเด็นปัญหานี้มาต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นเปิดสนามบิน เบตงเป็นเมืองเล็ก มีประชากรเพียง 60,000 กว่าคน การเปิดให้บริการสนามบินจำเป็นต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวเป็นหลัก การเปิดสนามบินช่วงแรกจึงต้องร่วมมือกับบริษัททัวร์ และให้บริษัททัวร์เหมาที่นั่งสายการบินในสัดส่วน 75% เพื่อช่วยให้สายการบินสามารถให้บริการได้ ประกอบกับ ททท.เข้ามาช่วยสนับสนุนในเฟสแรก และมีโครงการทัวร์เที่ยวไทยเข้ามาสนับสนุนในเฟส 2 ทำให้บริษัททัวร์สามารถทำตลาดได้ จากความไม่ชัดเจนนี้ทำให้ปัจจุบันบริษัททัวร์ยุติการขายแพ็กเกจบินตรงกรุงเทพฯ-เบตง ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565 ไปแล้ว

หากนกแอร์ต้องยุติการบิน และสนามบินเบตงอาจต้องปิดให้บริการชั่วคราวอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เนื่องจากการท่องเที่ยวเบตงกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนไทย ที่สำคัญ เมืองเบตงจะได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินแน่นอน นอกจากจะกระทบภาคการท่องเที่ยวแล้วยังทำให้เมืองขาดโอกาสที่จะยกระดับและพัฒนาตามแผนที่วางไว้

ลุ้นกรมท่าอากาศยานลงทุนขยายรันเวย์

นายสกุลกล่าวต่อไปอีกว่า ทางออกของปัญหาดังกล่าวขณะนี้มีอยู่ทางเดียวคือ สายการบินต้องทำราคาตั๋วโดยสารให้ถูกลง เพื่อให้บริษัททัวร์สามารถทำตลาดต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาดูแลและขับเคลื่อน โดยเฉพาะการพิจารณาลงทุนเพิ่มเพื่อขยายรันเวย์ให้รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้

สอดรับกับ นายนรินทร์ เรืองวงศา อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า สมาคมและกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีการประชุมร่วมกันและหารือกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ผู้บริหารสนามบินเบตงถึงปัญหานี้มาเป็นระยะ ๆ ล่าสุดได้รับข้อมูลว่าหากนกแอร์ต้องหยุดบินเชิงพาณิชย์ สนามบินมีแผนจะให้บริการในรูปแบบเช่าเหมาลำ และที่ผ่านมาสนามบินเบตงมีแผนลงทุนต่อในเฟส 2 อีกประมาณ 1,800 ล้านบาท เพื่อขยายรันเวย์เป็น 2,500 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ โดยแผนทั้งหมดผ่านการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว แต่ต้องรอเวลาอีก 7 ปี

“นกแอร์” ขอยังไม่ตอบคำถาม

ดร.วุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีดังกล่าวว่า บริษัทขอยังไม่ตอบคำถามในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากสายการบินกำลังพิจารณาปัจจัยอย่างรอบด้านอยู่

“เส้นทางดังกล่าวมีระยะทางที่ไกล เราใช้เครื่องบินทำการบินไปกลับ ใช้เวลารวมราว 4 ชั่วโมงกว่า ประกอบกับมีต้นทุนด้านราคาน้ำมันที่สูงมาก และยังไม่ทำกำไร” นายวุฒิภูมิกล่าวและว่า

ส่วนแผนว่าจะพิจารณาเปิดเส้นทางเชื่อมสนามบินเบตงไปยังเมืองใกล้เคียงในต่างประเทศ เช่น กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย หรือประเทศสิงคโปร์ จำเป็นต้องพิจารณาความต้องการการโดยสาร (ดีมานด์) ในเส้นทางบินกรุงเทพฯ-เบตง ให้มีมั่นคงก่อน จึงจะพิจารณาเส้นทางบินอื่น ๆ ต่อไป รวมทั้งผู้โดยสารที่เดินทางในเส้นทางกรุงเทพฯ-เบตง ควรมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเองมากขึ้น และมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางกับบริษัททัวร์ในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการเส้นทางเบตง ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มากับกรุ๊ปทัวร์