ท่องเที่ยวชี้ ปี’66 ฟื้นตัวแรง แนะเตรียมซัพพลายรับดีมานด์พุ่ง

ท่องเที่ยวฟื้น

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องในเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะไต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่กลับมามีอัตราการเติบโตอย่างชัดเจน หลังจากที่ได้ทยอยเปิดประเทศมาเป็นระยะตั้งแต่ต้นปี 2565

ทั้งนี้ คาดการณ์กันว่าภาคการท่องเที่ยวโดยรวมจะพลิกฟื้นกลับมาได้ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิดได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 รวมถึงประเทศไทย

“วิลเฟรด ฟาน” ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ “คลูก ทราเวล เทคโนโลยี” ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น Klook ระบุว่า ข้อมูลจากองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) และหน่วยงานการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศพบว่า การเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน

“เอเชีย-แปซิฟิก” ฟื้นตัวแรง

โดยในเดือนตุลาคม 2565 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีปริมาณการเดินทางคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของเดือนตุลาคม 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งมีสัดส่วนที่ราว 30% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562

สำหรับประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกงนั้นประเมินว่า ในเดือนตุลาคม 2565 จะมีปริมาณการเดินทางคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของเดือนตุลาคม 2562 ส่วนหนึ่งเกิดจากประเทศดังกล่าวเพิ่งจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกพรมแดนของนักท่องเที่ยว

สวนทางกับประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่พบว่า ในเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มีปริมาณการท่องเที่ยวสูงเทียบเท่ากับปี 2562 ไปเรียบร้อยแล้ว

ไทยสวนกระแส Q3 ฟื้นตัวลด

ส่วนประเทศไทย พบว่าในเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ที่เดินทางเข้าประเทศไทยฟื้นตัวใกล้เคียงกับก่อนการระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 ตามด้วยนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศในทวีปยุโรป

ขณะที่อัตราการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยนั้นพบว่า ไตรมาส 3 ที่ผ่านมายังลดลงถึง 61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 สวนทางกับประเทศ/ดินแดนอื่นในภูมิภาค เช่น ไต้หวัน ที่มีอัตราการเติบโตถึง 397% มาเลเซียเติบโต 83% และฟิลิปปินส์ที่เติบโต 23% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

“ปัญหาหนึ่งที่ประเทศไทยเจอคือ ข้อจำกัดด้านเที่ยวบิน”

ตั้งรับ 5 พฤติกรรมนักท่องเที่ยว

สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องเตรียมตัวรับมือแนวโน้มพฤติกรรมการท่องเที่ยว ดังต่อไปนี้

1.นักท่องเที่ยวสนใจเดินทางเป็นกลุ่ม โดยการท่องเที่ยวพร้อมครอบครัว-คนที่รักอยู่ในช่วงเติบโต 2.นักเดินทาง โดยเฉพาะกลุ่มเจน Z มองหาประสบการณ์จากท้องถิ่น

3.นักท่องเที่ยวกว่า 46% มองว่าราคาตั๋วเครื่องบิน ที่พักที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนออกเดินทาง โดยเฉพาะกลุ่มเจน Z

4.นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มจองการท่องเที่ยวล่วงหน้า พร้อมหาข้อมูลด้านมาตรการของแต่ละท้องที่ และค้นหาข้อมูลด้านประกันภัยมากขึ้น

และ 5.นักท่องเที่ยวกว่า 60% ใช้แอปพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อหาข้อมูลการเดินทาง พร้อมกับสำรองผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวเจน Z ใช้วิธีดังกล่าวมากที่สุด

คาดปี’66 ไทยฟื้นตัว 80%

ด้าน “วรฉัตร ลักขณาโรจน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ “แกร็บ ประเทศไทย” บอกว่า ในมุมของแกร็บ ประเทศไทย ประเมินว่าไตรมาสที่ 4/2565 นี้ ภาคการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับ 55% เมื่อเทียบกับปี 2562 และประเมินว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2566 ภาพรวมการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวราว 80% ของปี 2562

และคาดด้วยว่า ในครึ่งหลังของปี 2566 ภาพรวมการท่องเที่ยวไทยจะมีสัดส่วน 110% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 หรือมากกว่าช่วงก่อนโควิด โดยปัจจัยสำคัญมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทย

“เราเห็นอุปสงค์การท่องเที่ยวพุ่งสูงขึ้น ตอนนี้อยู่ที่ 55% แต่ไตรมาสแรกของปีหน้าเตรียมพุ่งขึ้นเป็น 80% คำถามคือ เราเตรียมอุปทานรองรับไว้แล้วหรือยัง และราคาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่แพงเกินไป สุดท้ายนักท่องเที่ยวก็จะหายไปหมด”

“วรฉัตร” บอกด้วยว่า ฝ่ายวิจัยของแกร็บประเมินว่าแนวโน้มในปี 2566 นี้ การท่องเที่ยวในประเทศจะยังมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวระยะแรก ตามด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวให้ความสนใจแหล่งท่องเที่ยวระดับรองมากขึ้น

อยากเที่ยวที่ที่ไปยาก-ยังไม่นิยม

ขณะที่ “มิเชล เกา” ผู้จัดการประจำภูมิภาค ประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาว booking.com บอกว่า จากการสำรวจของบริษัทใน 32 ประเทศทั่วโลกพบว่า นักท่องเที่ยวมากกว่าครึ่งต้องการเดินทางไปยังสถานที่เดินทางไปยาก ไร้สัญญาณโทรศัพท์ (off-grid) รวมถึงชาวไทยกว่า 70% ต้องการเดินทางไปยังสถานที่ที่ยังไม่เป็นที่นิยม

อีกทั้งนักท่องเที่ยวต้องการเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่คุ้นชิน ดังนั้น สถานที่ท่องเที่ยวที่สร้าง “culture shock” หรือสภาวะตื่นตระหนกทางวัฒนธรรมได้ อาจดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มได้

“ราคา” มีผลต่อการตัดสินใจ

นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มนักท่องเที่ยวต้องการออกเดินทาง เพื่อหวนรำลึกถึงวันเก่า ๆ รวมถึงการให้ความสำคัญกับสุขภาวะ ความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) ร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านราคายังส่งผลกับนักท่องเที่ยว โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 50% มองว่าต้องการออกเดินทางพร้อมกับคำนึงถึงงบประมาณที่ใช้

เร่งเพิ่มที่นั่ง “สายการบิน”

ด้าน “ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ” รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวไทยประสบปัญหาเที่ยวบินพาณิชย์มีน้อย รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการของนักเดินทาง ตามแนวโน้มของการท่องเที่ยวเพื่อล้างแค้น (revenge tourism)

“เราต้องเตรียมอุปทานให้พร้อมรับกับอุปสงค์ที่มีมาอย่างมหาศาล พร้อมกับหยุดการหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง เช่น การโก่งราคานักท่องเที่ยว ไปพร้อมกัน”

โดยในปี 2566 จะพยายามเร่งเจรจาเพื่อเพิ่มที่นั่งสายการบินให้มีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้าสู่ประเทศไทย

เช่นเดียวกับ “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) บอกว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทยออกเดินทางมากขึ้นกว่าในอดีต ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย เห็นสัญญาณนักท่องเที่ยวจากประเทศแถบตะวันออกกลางเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ส่วนแนวโน้มภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 2566 ประเมินว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากปัจจุบันอัตราการฟื้นตัวของไทยยังอยู่ห่างจากระดับเดิมในปี 2562

วอนรัฐช่วยเหลือโรงแรมต่างจังหวัด

“มาริสา” บอกด้วยว่า อยากให้ภาครัฐพิจารณาช่วยเหลือโรงแรมในต่างจังหวัดผ่านการจัดประชุมสัมมนา ฯลฯ ธุรกิจไมซ์ (MICE) และเสนอให้ด้านฝั่งผู้ประกอบการเพิ่มความสำคัญกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และปรับแนวคิดว่าการลงทุนด้านความยั่งยืนมีส่วนช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

พร้อมทั้งอยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ด้วยว่า อยากให้มองว่าท่องเที่ยวไม่ขึ้นอยู่กับกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เพราะภาคการท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง เพราะการท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ภาครัฐจะออกนโยบายอะไรก็ตามควรศึกษาอย่างรอบคอบ เพราะตอนนี้ธุรกิจยังประสบปัญหาอยู่