เวียตเจ็ทรุกบินต่างประเทศ เปิด “เชียงใหม่ – โอซากา” เริ่มบิน ก.พ. 66

เครื่องบินสายการบินไทยเวียตเจ็ท เทคออฟจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

เวียตเจ็ทรุกหนัก ฟื้นบินดาลัด-เวียดนาม กางแผนปีหน้า เน้นขยายต่างประเทศเป็นหลัก เปิดเส้นทางใหม่ “เชียงใหม่-โอซากา” เริ่มบิน ก.พ. 66 ตั้งเป้าผู้โดยสารรวมทั้งปี 8 ล้านคน จับตาสงครามปัจจัยเสี่ยง ปีหน้าผลประกอบการฟื้น ส่วนปีนี้ยังไม่มีกำไร

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยเวียตเจ็ท เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดที่ผ่านมา สายการบินไทยเวียตเจ็ทได้ดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุก (Aggressive Marketing) เปลี่ยนสู่การให้ความสำคัญกับตลาดการบินในประเทศ ประกอบกับสายการบินมีฝูงบินที่เล็ก ทำให้บริษัทสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

สายการบินให้บริการเส้นทางบินในประเทศ 12 เส้นทาง โดย 10 เส้นทางเข้าและออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ยต่อวันประมาณ 100 เที่ยวบิน สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดสายการบินในประเทศได้ 25% ในเส้นทางที่ปฏิบัติการบิน

ปัจจุบันสายการบินมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เส้นทางบินในประเทศเฉลี่ยประมาณ 83% เส้นทางบินต่างประเทศประมาณ 75-82% ให้บริการผู้โดยสารทั้งสิ้น ณ เดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ประมาณ 5.2 ล้านคน ทั้งนี้ สายการบินตั้งเป้าตลอดทั้งปี 2565 ขนส่งผู้โดยสารจำนวน 6.3 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศ 5.3 ล้านคน เส้นทางบินต่างประเทศ 668,000 คน

“ในปี 2566 เราคงไม่เปิดเส้นทางบินในประเทศเพิ่มเติม เนื่องจากครอบคลุมทุกจุดบินใหญ่ครบแล้ว แต่เราจะโฟกัสเส้นทางบินต่างประเทศมากขึ้น เช่น ประเทศแถบอินโดจีน เอเชียตะวันออก และเวียดนาม ส่วนเส้นทางอินเดียอยู่ในระหว่างการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าสายการบินอาจให้บริการเส้นทางบินอินเดียสูงถึง 15 จุดบิน” นายวรเนติกล่าว

วรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยเวียตเจ็ท

พร้อมบินจีน

นายวรเนติกล่าวเสริมว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 สายการบินได้ให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำเส้นทางประเทศจีนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทางการจีนควบคุมปริมาณเที่ยวบินเข้า-ออกประเทศ ทำให้สายการบินให้บริการเพียงสองเส้นทางคือ นานกิงและคุนหมิง

“เราคาดว่าจีนน่าจะผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ในไตรมาสที่ 2/2566 และเรามองว่าจะบินไปยังเฉิงตู เจิ้งโจว และหางโจวก่อน” นายวรเนติกล่าว

เปิดแผนไฮซีซั่น เตรียมเปิดเชียงใหม่ – โอซากา

นายปิ่นยศ พิบูลสงคราม ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ทกล่าวว่า ปัจจุบันสายการบินให้บริการเส้นทางบินต่างประเทศอยู่ทั้งสิ้น 7 เส้นทางคือ สิงคโปร์ ฟูกูโอกะ ไทเป พนมเปญ โฮจิมินห์ซิตี ดานัง และฟู้โกว๊ก โดยในอนาคตสายการบินมีแผนการเปิดเส้นทางบินใหม่ กลับมาให้บริการเส้นทางเดิม และเพิ่มความถี่เส้นทางต่างประเทศที่ให้บริการอยู่ ดังนี้

เส้นทางบินใหม่

  • เชียงใหม่-โอซากา ความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มทำการบิน 1 กุมภาพันธ์ 2566

กลับมาให้บริการ

  • เส้นทางบินกรุงเทพฯ-ดาลัด ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2565

เพิ่มความถี่เที่ยวบิน

  • เส้นทางบินกรุงเทพฯ-ฟู้โกว๊ก เพิ่มความถี่เป็น 1 เที่ยวบินต่อวัน จากเดิม 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
  • เส้นทางบินกรุงเทพฯ-ไทเป เพิ่มความถี่เป็น 10 เที่ยวบินต่อวัน จากเดิม 7 เที่ยวบินต่อวัน ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้ และคาดว่าจะเพิ่มความถี่เป็น 2 เที่ยวบินต่อวัน ในเดือนมกราคม 2566
  • เส้นทางกรุงเทพฯ-พนมเปญ และ กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ เป็น 3 เที่ยวบินต่อวัน จากเดิม 2 เที่ยวบินต่อวัน (อยู่ในระหว่างการขออนุญาต-การพิจารณาของบริษัท)

“สายการบินไทยเวียตเจ็ทคาดว่า ในเดือนธันวาคม 2565 นี้ จะมีสัดส่วนของผู้โดยสารเส้นทางบินในประเทศต่อเส้นทางบินต่างประเทศอยู่ที่ 59% ต่อ 41% ส่วนเส้นทางบินใหม่อย่าง เชียงใหม่-โอซากา เราคาดว่าผู้โดยสารน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่” นายปิ่นยศกล่าว

อัพเกรดประสบการณ์ลูกค้า

นายปิ่นยศกล่าวว่า นอกจากการเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ แล้ว สายการบินยังเปิดตัวการจับมือร่วมกับ Coral Lounge โดยผู้โดยสารสายการบินไทยเวียตเจ็ทที่สำรองบัตรโดยสารชั้น Sky Boss ห้องรับรองพิเศษ Coral Lounge ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ (ยกเว้นเที่ยวบินภายในประเทศไทย)

รวมถึงได้รับสิทธิพิเศษทั้งสามารถนำสัมภาระพกพาขึ้นเครื่อง 10 กิโลกรัม, สัมภาระโหลดใต้เครื่อง 30 กิโลกรัม และถุงกอล์ฟ 1 ใบ หนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม-ช่องทางเช็กอินพิเศษ-บริการรถส่วนตัว SkyBOSS ไปยังเครื่องบิน (กรณีเครื่องบินจอดในลานจอด)-บริการที่นั่งพิเศษ และอาหารเครื่องดื่มบนเครื่องบิน เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน วันเดินทาง และเส้นทางบินโดยไม่มีค่าธรรมเนียม (อาจมีส่วนต่างราคาบัตรโดยสาร) ฯลฯ

พร้อมกันนี้ สายการบินได้เปิดตัว ‘Sky Café’ คาเฟ่บนอากาศยาน ให้บริการอาหารไทยและอาหารนานาชาติแก่ผู้โดยสารบนเที่ยวบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ Sky Café บริการ AMY AI Chatbot ที่จะช่วยบริการลูกค้า ลดการรอสายผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์

บาทอ่อน – สงคราม ปัจจัยเสี่ยง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจสายการบินในปี 2566 นายวรเนติวิเคราะห์ว่า สงครามรัสเซียและยูเครนจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อภาคการบิน เนื่องจากจะส่งผลต่อราคาพลังงาน ค่าเงินเฟ้อ ฯลฯ ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของบริษัท เนื่องจากค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของสายการบินเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงนี้จะเป็นฤดูกาลออกเดินทางและค่าบัตรโดยสารจะปรับตัวเพิ่มขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นก็สามารถแบ่งเบาต้นทุนด้านค่าเงินไปได้เท่านั้น ส่วนปัจจัยบวกของปีหน้าคือการเปิดประเทศของจีน

ปีหน้าตั้งเป้าผู้โดยสาร 8 ล้านคน

นายวรเนติกล่าวว่า ในปี 2566 สายการบินตั้งเป้าให้บริการผู้โดยสารรวม 7.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารจากเส้นทางในประเทศ 4.8 ล้านคน ลดลงจากปี 2565 ราว 10% ขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางบินต่างประเทศ 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 326%

ในปี 2566 สายการบินตั้งเป้าสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 99% หรือเกือบเท่าตัว มีสัดส่วนรายได้จากเส้นทางประเทศจีน 20% ปริมาณที่นั่งให้บริการเพิ่มขึ้น 96% จากปี 2565 และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 80%

ในปี 2566 สายการบินตั้งเป้าขยายฝูงบินโดยรับเครื่องบินเข้าฝูงบินอีก 3 ลำ รวมมี 20 ลำ และในปี 2569 สายการบินตั้งเป้ามีเครื่องบินในฝูงบินทั้งสิ้น 50 ลำ ทั้งนี้ ในปี 2567 สายการบินมีแผนเปลี่ยนแปลงรูปแบบเครื่องบินจากเดิมแอร์บัส เอ 320 และ เอ 321 เป็นเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737 แม็กซ์ ซึ่งมีพิสัยการบินที่ไกลกว่า และทำให้สายการบินสามารถขยายเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นได้เกือบครบทุกเมือง จากที่ปัจจุบันมีข้อจำกัดด้านพิสัยการบิน


“ปี 2565 ผมเชื่อว่าไม่มีสายการบินไหนทำกำไร แต่ในปี 2566 เชื่อว่าอัตราการใช้งานเครื่องบินจะเพิ่มขึ้น มีเส้นทางบินต่างประเทศที่ช่วยให้ใช้เครื่องบินเวลากลางคืน ปีหน้าน่าจะเป็นปีที่ดีสำหรับเรา” นายวรเนติกล่าว

เวียตเจ็ท ยืนยันคำสั่งซื้อ “โบอิ้ง 737 Max”
เวียตเจ็ทแอร์ โบอิ้ง 737 แม็กซ์