แอร์ไลน์ กางแผนบิน ตปท.แห่ปักหมุด ไต้หวัน-ญี่ปุ่น-อินเดีย

แอร์ไลน์

ปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นปีที่มีสัญญาณบวกอย่างมีนัยสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจสายการบิน (airline) หลังจากทั่วโลก (ยกเว้นจีน) เปิดประเทศด้วยการทยอยลดมาตรการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้สายการบินกลับมาเทกออฟกันอีกครั้ง

โดยเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศ ที่กลับมามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 และยังคงทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ ทั้งในส่วนของการเพิ่มความถี่ในเส้นทางเดิมที่เปิดให้บริการไปแล้ว และเพิ่มเส้นทางใหม่เพิ่ม

“นกแอร์” รุกไฟลต์บิน ตปท.

“วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2566-2567 ผลการดำเนินงานของสายการบินนกแอร์จะเป็นไปในทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้นแน่นอน โดยส่วนหนึ่งเกิดจากรายได้จากการเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น

โดยนกแอร์วางแผนเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้สามารถใช้เครื่องบินที่มีให้คุ้มค่ามากขึ้น รวมถึงมีแผนการรับเครื่องบินใหม่เข้าสู่ฝูงบินจำนวน 2 ลำ จากปัจจุบันที่ทำการบินเส้นทางต่างประเทศ 2 เส้นทางคือ ดอนเมือง-ย่างกุ้ง (เมียนมา) และดอนเมือง-โฮจิมินห์ (เวียดนาม)

สำหรับปี 2566 นี้ “วุฒิภูมิ” บอกว่านกแอร์มีแผนเปิดเส้นทางใหม่อย่างต่อเนื่องคือ เส้นทางดอนเมือง-ไฮเดอราบัด (อินเดีย) ในเดือนมกราคม ตามด้วยเส้นทางดอนเมือง-สิงคโปร์ ในเดือนมีนาคม จากนั้นมีแผนเปิดเส้นทางดอนเมือง-ไทเป (ไต้หวัน) และเส้นทางดอนเมือง-ชัยปุระ (อินเดีย) ในช่วงต้นเดือนเมษายน

พร้อมเปิดบินสู่ “จีน”

ส่วนเส้นทางบินสู่ประเทศจีนนั้น แม้รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการเข้าออกพรมแดนแล้ว แต่ยังต้องติดตามในรายละเอียด แนวทางการอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกต่างประเทศที่ชัดเจนจากรัฐบาลจีน รวมถึงข้อกำหนดสำนักงานการบินพลเรือนจีน หรือ CAAC อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนกแอร์มีความพร้อมเต็มที่

แอร์ไลน์

พร้อมระบุว่า การเปิดเส้นทางใหม่จะพิจารณาเส้นทางที่เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 สามารถทำการบินได้ แต่หากในเส้นทางเดียวกัน สายการบินอื่นใช้เครื่องบินลำตัวกว้างให้บริการอยู่ นกแอร์อาจหลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยตรง เพราะเครื่องบินใหญ่ต้นทุนอาจถูกกว่า

“ไทยเวียตเจ็ท” เล็งจีน-อินเดีย

ด้าน “วรเนติ หล้าพระบาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยเวียตเจ็ท ให้ข้อมูลแผนงานสำหรับปี 2566 ว่า ปีนี้ไทยเวียตเจ็ทจะไม่เปิดเส้นทางบินในประเทศเพิ่ม

เนื่องจากปัจจุบันให้บริการครอบคลุมทุกจุดบินหลักแล้ว แต่จะโฟกัสเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น ประเทศแถบอินโดจีน เอเชียตะวันออก และเวียดนาม

ส่วนเส้นทางอินเดียนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าไทยเวียตเจ็ทอาจให้บริการเส้นทางบินอินเดียสูงถึง 15 จุดบิน

เช่นเดียวกับเส้นทางบินสู่จีน โดยหลังสำนักงานการบินพลเรือนจีน (CAAC) ผ่อนคลายการควบคุมเที่ยวบินขาเข้าและขาออกแล้ว ไทยเวียตเจ็ทก็มีแผนกลับไปให้บริการ ซึ่งเบื้องต้นมองว่าจะเป็นเส้นทางบินสู่เฉิงตู เจิ้งโจว และหางโจว

รุกเวียดนาม-ไต้หวัน-สิงคโปร์

สอดรับกับ “ปิ่นยศ พิบูลสงคราม” ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสายการบินให้บริการเส้นทางบินต่างประเทศอยู่ทั้งสิ้น 8 เส้นทางคือ

สิงคโปร์ ฟูกูโอกะ (ญี่ปุ่น) จำนวน 1 เที่ยวบินต่อวัน ไทเป (ไต้หวัน) พนมเปญ (กัมพูชา) จำนวน 2 เที่ยวบินต่อวัน โฮจิมินห์ซิตี้ (เวียดนาม) จำนวน 2 เที่ยวบินต่อวัน ดานัง (เวียดนาม) จำนวน 3 เที่ยวบินต่อวัน ดาลัด (เวียดนาม) จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และฟูโกว๊ก (เวียดนาม) จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

และมีแผนการเปิดเส้นทางบินใหม่และกลับมาให้บริการเส้นทางเดิม และเพิ่มความถี่เส้นทางระหว่างประเทศที่ให้บริการอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1.เส้นทางบินใหม่ ได้แก่ เชียงใหม่-โอซากา (ญี่ปุ่น) ความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เลื่อนจากเดิม 31 ม.ค. 2566 เป็นภายในไตรมาส 1/2566

2.เพิ่มความถี่เที่ยวบิน ได้แก่ เส้นทางบินกรุงเทพฯ-ฟูโกว๊ก (เวียดนาม) เพิ่มความถี่เป็น 1 เที่ยวบินต่อวัน จากเดิม 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เส้นทางบินกรุงเทพฯ-ไทเป (ไต้หวัน) เพิ่มความถี่เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากเดิม 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มความถี่เป็น 2 เที่ยวบินต่อวันในเดือนมกราคมนี้

แอร์ไลน์

เส้นทางกรุงเทพฯ-พนมเปญ (กัมพูชา) และกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ เป็น 3 เที่ยวบินต่อวัน จากเดิม 2 เที่ยวบินต่อวัน (อยู่ในระหว่างการขออนุญาต-การพิจารณาของบริษัท)

ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ไทยเวียตเจ็ทมีสัดส่วนของผู้โดยสารเส้นทางบินในประเทศประมาณ 59% และเส้นทางบินระหว่างประเทศ 41% มีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) เส้นทางบินในประเทศเฉลี่ยประมาณ 83% เส้นทางบินระหว่างประเทศประมาณ 75-82%

และคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2565 ที่ผ่านมา จะมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารจำนวน 6.3 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารในประเทศ 5.3 ล้านคน เส้นทางบินต่างประเทศ 668,000 คน

แอร์เอเชียจัดหนักตั้งแต่ Q4/65

สำหรับสายการบินไทยแอร์เอเชียนั้น แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า ในไตรมาส 4/2565 สายการบินไทยแอร์เอเชียได้เปิดเส้นทางใหม่และฟื้นเส้นทางบินเดิมที่เคยทำการบินในช่วงก่อนโควิด

โดยเริ่มต้นที่เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ฟูกูโอกะ (ญี่ปุ่น) เส้นทางเชียงใหม่-ฮานอย (เวียดนาม) เมื่อเดือนตุลาคม, เส้นทางเชียงใหม่-ดานัง (เวียดนาม) เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ธากา (บังกลาเทศ) เดือนพฤศจิกายน และเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ลัคเนา (อินเดีย) และเชียงใหม่-ไทเป (ไต้หวัน)เมื่อเดือนธันวาคม 2565

ขณะเดียวกัน สายการบินยังได้เพิ่มความถี่เส้นทางบินกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ฟูกูโอกะ (ญี่ปุ่น) จาก 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 1 เที่ยวบินต่อวัน และเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ฮ่องกง จาก 1 เป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

และในเดือนมกราคม 2566 นี้ สายการบินเตรียมเปิดให้บริการเส้นทางบินกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ไทเป (ไต้หวัน) ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มทำการบิน 20 มกราคมนี้เป็นต้นไป

ผู้โดยสารปีนี้ 20 ล้านคน

ด้าน “สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย บอกว่า สำหรับปี 2566 นี้ “ไทยแอร์เอเชีย” ตั้งเป้าขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 20 ล้านคน จากเดิม 10 ล้านคน ในปี 2565 โดยตั้งเป้ามีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 87-88% มีสัดส่วนผู้โดยสารเส้นทางในประเทศต่อต่างประเทศอยู่ที่ 60% และ 40% และมีสัดส่วนรายได้จากเส้นทางในประเทศและต่างประเทศอยู่ที่ 40% และ 60%

ทั้งนี้ ประเมินว่าจำนวนเที่ยวบินในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวเท่าปี 2562 ได้ในช่วงต้นปี 2566 นี้ ส่วนจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศคาดว่าจะกลับมาเท่ากับก่อนการระบาดของโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566

“เรามีความพร้อมทั้งเครื่องบินและบุคลากรในการขยายเส้นทาง และเพิ่มความถี่เที่ยวบิน โดยมีเครื่องบินจำนวน 10 ลำที่ยังไม่ได้นำมาใช้งาน และพร้อมรองรับการกลับมาให้บริการเส้นทางประเทศจีน”

“จีน” ปัจจัยบวกปี’66

ซีอีโอไทยแอร์เอเชียบอกด้วยว่า สำหรับปี 2566 นี้การเปิดประเทศของจีนตั้งแต่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไปจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญ ขณะที่ราคาน้ำมันยังคงเป็นตัวแปรสำคัญของธุรกิจสายการบิน ส่วนเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยนั้น อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางในระยะใกล้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคนยังออกเดินทาง และภาคท่องเที่ยวจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวหลักของไทย และสายการบินราคาประหยัดยังเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ต่อสถานการณ์ดังกล่าว