ดัชนีเชื่อมั่นเที่ยวไทย Q1 ขยับ (แต่) ผู้ประกอบการหวั่นทุนจีนระบาด

เป็นสัญญาณบวกที่อยู่ในทิศทางที่ดีต่อเนื่องสำหรับดัชนีท่องเที่ยวของไทย โดยไตรมาส 1/2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยสำรวจผู้ประกอบการจำนวน 740 ราย ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์-12 มีนาคม 2566 ผ่านช่องทางโทรศัพท์ และลงพื้นที่สัมภาษณ์

“รศ.ผกากรอง เทพรักษ์” อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ระบุว่า จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 74 สะท้อนว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 4/65) เล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19

เมื่อจำแนกตามประเภทธุรกิจ พบว่า ผู้ประกอบการร้านขายของฝาก/ของที่ระลึก ทัวร์ในประเทศ ธุรกิจสปา/นวดแผนไทย มีดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากันอยู่ที่ร้อยละ 80 มีมุมมองเชิงบวกต่อภาคการท่องเที่ยวมากกว่าธุรกิจประเภทอื่น

ขณะที่ธุรกิจประเภทอื่น เช่น ธุรกิจขนส่งนักท่องเที่ยว ที่พักแรม ร้านอาหารประเมินสถานการณ์ดีขึ้น แต่ธุรกิจสถานบันเทิงมีดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าธุรกิจประเภทอื่นที่ร้อยละ 62

ธุรกิจกลับมาเปิดบริการ 93%

ในส่วนของสถานภาพการประกอบกิจการของสถานประกอบการในไตรมาส 1/2566 พบว่าร้อยละ 93 เปิดให้บริการปกติแล้ว โดยสถานประกอบการมีรายได้เฉลี่ยร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับก่อนการระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 4/2565 ธุรกิจร้านอาหารมีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 72 ของรายได้ก่อนโควิด-19 ระบาด ตามมาด้วยธุรกิจรถเช่า โรงแรม สปา/นวดแผนไทย และร้านของฝากในประเทศ

“ตอนนี้ธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการแล้ว 93% ส่วนอีก 7% ที่เหลือคาดว่าไม่น่าจะสามารถกลับมาเปิดธุรกิจได้แล้ว และอาจเลิกกิจการไปแล้ว”

“รศ.ผกากรอง” บอกด้วยว่า จากการสำรวจยังพบว่า ไตรมาส 1/2566 การจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อยละ 86 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยการจ้างงานในธุรกิจขนส่งกลับมามากที่สุด ตามมาด้วยธุรกิจร้านอาหาร ร้านขายของฝาก ที่ร้อยละ 93, 92 และ 91 ตามลำดับ

คาดธุรกิจฟื้นต่อเนื่องใน Q2/66

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวประจำไตรมาส 2/2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 77 สะท้อนว่าผู้ประกอบการเชื่อว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา แม้จะเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ก็ตาม

โดยปัจจัยที่ส่งเสริมสถานการณ์ท่องเที่ยวในไตรมาส 2/2566 ประกอบด้วย การท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวแบบอัตราเร่ง ประเทศจีนมีการผ่อนคลายมาตรการเข้าออกพรมแดน เทศกาลสงกรานต์ของไทย พร้อมทั้งนักท่องเที่ยวที่ออกเดินทางในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 และการเปิดรถไฟจีน-ลาว อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยผ่านด่านช่องทางบกกว่า 1 ล้านคน

ขณะที่สถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวร้อยละ 15 ต้องการรับพนักงานเพิ่ม คิดเป็นแรงงานจำนวน 600,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในธุรกิจสปา สถานบันเทิง ธุรกิจที่พักแรม และทัวร์ภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการร้อยละ 84 ให้ข้อมูลว่า ยังไม่มีแผนการปรับขึ้นค่าแรง ยกเว้นธุรกิจสปา/นวดแผนไทย ร้อยละ 14 มีแผนการปรับขึ้นค่าแรง

ส่วนการคาดการณ์รายได้ ผู้ประกอบการประเมินว่าจะปรับเพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 โดยผู้ประกอบการที่พักแรมอาจมีรายได้สูงถึงร้อยละ 76 ของช่วงก่อนการเกิดโควิด-19 ตามมาด้วยธุรกิจร้านอาหารที่ร้อยละ 75 ขณะที่สถานบันเทิงคาดว่าจะมีรายได้น้อยที่สุดที่ร้อยละ 55 เทียบกับก่อนการระบาดของโควิด-19

หวั่นทุนจีนทุบท่องเที่ยวไทย

“รศ.ผกากรอง” ยังบอกอีกว่า จากความตึงเครียดจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศโลกตะวันตก อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากทวีปยุโรปออกเดินทางลดลง ประกอบกับไตรมาส 2 เป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลออกเดินทาง (low season) รวมทั้งราคาค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน และพลังงาน และค่าเดินทางที่ปรับตัวสูงขึ้น บวกกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านี้ ปัญหาทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้นยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้อยละ 33 โดยกระทบในเรื่องการแย่งลูกค้า แย่งอาชีพคนไทย และต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าทุนเยอะกว่า รวมถึงแรงงานไทยที่มีคุณภาพจะไปทำงานให้กับนายทุนจีน

โดยผู้ประกอบการชี้ว่า การรุกคืบของทุนจีนดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อกับธุรกิจสปาและนวดแผนไทยมากที่สุด ตามด้วยธุรกิจทัวร์ภายในประเทศ ธุรกิจขนส่งนักท่องเที่ยว ร้อยละ 40, 35 และ 35 ตามลำดับ และจังหวัดที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา หัวหิน กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ ชลบุรี ตราด

และทิ้งท้ายไว้ว่า การลงทุนจากต่างชาติเป็นเรื่องที่ดี ทำให้คนไทยมีงานทำ มีเงินไหลเข้ามาในประเทศ แต่ต้องระวังเงินที่ไหลออกนอกประเทศเหมือนกัน ซึ่งผู้ประกอบการฝากไปยังรัฐบาลขอให้แก้ปัญหานอมินีด้วย