สทท.ปั้น Tourism Clinic หนุนซัพพลายไซด์เดินหน้าท่องเที่ยว

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์
ชำนาญ ศรีสวัสดิ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

มีสัญญาณที่ดีขึ้นต่อเนื่องสำหรับธุรกิจภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทั้งในด้านการฟื้นตัว (recover) และการจ้างงาน และยังคงมีแนวโน้มดีต่อเนื่องในไตรมาส 2 ซึ่งปกติแล้วจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยว

“โกจง-ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โดยรวมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และแนวทางเดินหน้าภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ไว้ดังนี้

“ชำนาญ” บอกว่า สถานการณ์โดยรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฝั่งของดีมานด์ (demand side) โดยคาดการณ์ว่าไตรมาสแรก (1/2566) จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประมาณ 6.4 ล้านคน และตลอดทั้งปี 2566 ที่จำนวน 30 ล้านคน

โดยประเด็นที่เป็นปัญหาและอุปสรรคของการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเป็นข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนที่นั่งสายการบินเช่นเดิม

ขณะที่ผู้ประกอบการฝั่งซัพพลายไซด์นั้นก็ฟื้นตัวในแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก หรือประมาณ 8-10 จังหวัดเท่านั้น เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย หัวหิน ชลบุรี ฯลฯ ที่กลับมาฟื้นตัวได้แล้วราว 70-80% เพราะที่ผ่านมามาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ออกมาเป็นระยะนั้นมุ่งสนับสนุนเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก

“จากการรวบรวมข้อมูลและพูดคุยกับผู้ประกอบการตอนนี้ เราไม่ห่วงเรื่องดีมานด์ไซด์เลย ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา เป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคนเราทำได้แน่นอน เพราะคนอั้นการเดินทางกันมา 3 ปีแล้ว แต่ในอีกหลายจังหวัดโดยเฉพาะเมืองรองก็ส่งเสียงบอกว่าอยากเห็นรัฐบาลใหม่เดินหน้าท่องเที่ยวแบบไร้รอยต่อ โดยอนุมัติงบประชุมสัมมนา ซึ่งเป็นความหวังของกลุ่มผู้ประกอบการตัวเล็กในพื้นที่เมืองรอง”

ดังนั้น ประเด็นที่ สทท.คิดและจะเน้นย้ำตลอดทั้งปีนี้คือ เรื่องของ tourism clinic เพื่อสร้างความพร้อมในด้านซัพพลายไซด์ ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งรายเล็กรายใหญ่อย่างตรงจุด โดยจะทำใน 3 เรื่องหลัก

ประกอบด้วย 1.จับมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตรวจสุขภาพธุรกิจ SMEs ทั่วประเทศ เพื่อวัดศักยภาพ SMEs

2.เติมทุน เติมความรู้ เติมนวัตกรรม และเติมลูกค้าให้ผู้ประกอบการ เช่น เติมทุนผ่านโครงการซอฟต์โลนของธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และเอสเอ็มอีแบงก์ เติมลูกค้าโดยการเข้าร่วมโครงการ BDS ของ สสว. และ ททท. เพื่อไปออกโรดโชว์และยกระดับมาตรฐานสินค้าและองค์กรให้มีคุณภาพ เติมความรู้ด้วยการอัพสกิล-รีสกิลคนท่องเที่ยวร่วมกับกระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กรมการท่องเที่ยว และ สสว. และเติมนวัตกรรม โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและพัฒนา (อว.)

และ 3.จัดทำโครงการ 100 คลังสมองท่องเที่ยวไทย โดยเชิญนักประสบการณ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการและบริษัททัวร์ตลาดอินบาวนด์ทุกตลาด รวมถึงนักวิชาการ คนเก่งทุกแขนงมาร่วมทำงานและร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และสะท้อนว่าวันนี้คนท่องเที่ยวต้องการอะไร

ทั้ง 3 เรื่องนี้คือ ประเด็นที่ สทท.จะเดินหน้าท่องเที่ยวในปีนี้ และเชื่อมั่นว่าจะเป็นการพัฒนาที่ตรงจุดมากที่สุด

“เราต้องสร้างความพร้อมในทุกมิติ เรารู้ว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยไม่มีโอกาส วันนี้ สสว.มีงบฯให้เรากว่า 200 ล้านบาทที่จะมาช่วยสนับสนุนการทำโรด์โชว์ในสัดส่วนถึง 80% หรือไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไปหานักท่องเที่ยวเข้ามา รวมถึงแผนการพัฒนาในด้านมาตรฐานการท่องเที่ยวด้วย”

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ สสว.รีสตาร์ต ที่มีกำหนดเปิดตัววันที่ 4 เมษายน 2566 นี้ โดยคัดเลือกชุมชนท่องเที่ยวจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และ สสว. มาต่อยอด จากนั้นจะวัดผลว่าเทียบระหว่างก่อนดำเนินการและหลังดำเนินการว่าชุมชนเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างไร

ถือเป็นรูปแบบของการช่วยด้านซัพพลายไซด์ที่สามารถจับต้องได้ชัดเจนที่สุด

“ชำนาญ” ยังบอกอีกว่า ไม่เพียงเท่านี้สทท.ยังมีแผนออกแบบการท่องเที่ยวใหม่ (re-design) ด้วยการมุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นแบบ “คลัสเตอร์” และขายเป็นคลัสเตอร์ ไม่เน้นจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง หรือเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลักเท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวมีวันพำนักนานขึ้น มีสินค้าท่องเที่ยวหลากหลายขึ้น และช่วยกระจายนักท่องเที่ยวและรายได้ไปสู่เมืองรองหรือจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับเมืองท่องเที่ยวหลัก

อาทิ การพัฒนาคลัสเตอร์อันดามัน 6 จังหวัด ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระยอง ตรัง และสตูล หรือคลัสเตอร์อีสาน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวรถไฟจีน-ลาว ที่คาดว่าจะส่งผลบวกต่อจังหวัดในภาคอีสาน หรือคลัสเตอร์ภาคเหนือ เป็นต้น

พร้อมย้ำว่า การเดินหน้าท่องเที่ยวไทยแบบคลัสเตอร์และการ re-design ใหม่ จะเป็นการกระจายนักท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่เมืองรองและชุมชนที่ดีที่สุดในอนาคต