“บิ๊กสายการบิน” ยัน 4 แอร์ไลน์น้องใหม่ “ไม่ใช่คู่แข่ง”

สายการบิน
แฟ้มภาพ

จากข่าวสายการบินใหม่ 4 รายคือ เรียลลีคูล แอร์ไลนส์, P80 Air, แลนดาร์ช แอร์ไลน์ และสยามซีเพลน มีแผนทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2566 นี้เป็นต้นไป โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (AOL) และยื่นขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

โดยทุกค่ายให้เหตุผลที่ลงทุนในอุตสาหกรรมการบินว่า เนื่องจากเห็นช่องว่างทางการตลาด และเชื่อว่าประเทศไทยมีดีมานด์จากนักท่องเที่ยวมหาศาล

ขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมที่ให้บริการอยู่แล้วกลับมองว่า การเปิดตัวของสายการบินใหม่ทั้ง 4 รายดังกล่าวนี้ เชื่อว่าจะยังไม่สร้างแรงสั่นสะเทือนในเชิงการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิมได้

ชี้รายใหม่แข่งขันยาก

“สันติสุข คล่องใช้ยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย บอกว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีปัญหาด้านอุปทาน (supply) ภาคการบินมีมากกว่าความต้องการโดยสาร (demand) จนนำไปสู่การใช้กลยุทธ์สงครามราคา

เมื่อประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า สายการบินของไทยแต่ละรายต่างมีเครื่องบินรวมกันสูงเกือบ 200 ลำ จึงอาจเป็นเรื่องยากที่สายการบินรายใหม่ ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีเครื่องบินในฝูงบินเพียงไม่กี่ลำจะเข้ามาแข่งขันในตลาด

สันติสุข คล่องใช้ยา
สันติสุข คล่องใช้ยา

พร้อมระบุว่า หากสายการบินรายใหม่มีผู้โดยสารกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน จับตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche) จริง ๆ เช่น ทำการบินเครื่องบินส่วนตัว เน้นจุดหมายปลายทางไม่กี่แห่ง อาจมี
ช่องทางทางการตลาด แต่หากต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายเดียวกับสายการบินในปัจจุบันอาจเป็นความท้าทาย

ยกตัวอย่างสายการบิน P80 Air ที่มุ่งเจาะตลาดประเทศจีนนั้น อาจยังไม่ได้สร้างผลกระทบต่อไทยแอร์เอเชียมากนัก เนื่องจากจีนถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก หรือเรียลลีคูล แอร์ไลนส์ ที่มุ่งเจาะตลาดระยะไกล ก็เป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกับไทยแอร์เอเชีย

“ถ้าจะมาบินแข่งกับสายการบินที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งรวม ๆ มีเครื่องบินเกือบ 200 ลำ มองว่าค่อนข้างยาก เลือกนำเงินลงทุนไปอย่างอื่นอาจจะดีกว่า”

ยันไม่ใช่คู่แข่ง

ด้าน “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ระบุว่า สายการบินที่มีข่าวว่าเตรียมเปิดตัวทั้ง 4 รายนั้นไม่ใช่คู่แข่งของนกแอร์ ไม่ว่าจะเป็นสายการบินเรียลลีคูล แอร์ไลนส์ ซึ่งมุ่งเจาะตลาดเส้นทางบินระยะไกล คนละกลุ่มเป้าหมายของนกแอร์

วุฒิภูมิ จุฬางกูร
วุฒิภูมิ จุฬางกูร

หรือ “แลนดาร์ช แอร์ไลน์” ซึ่งใช้เครื่องบินขนาดเล็กเจาะตลาดภาคใต้ เชื่อมเมืองรอง เขาอาจเลือกใช้กลยุทธ์เป็นพันธมิตรที่เป็นสายการบินอื่นเพื่อเติมเต็มผู้โดยสาร

“เชื่อว่าแต่ละสายการบินจะมาช่วยส่งเสริมการบินซึ่งกันและกัน ไม่ได้มีข้อขัดแย้งหรือเป็นคู่แข่งกัน ซึ่งเราก็เคยได้พูดคุยเอ็ม-แลนดาร์ช บริษัทแม่ของสายการบินแลนดาร์ช แอร์ไลน์ เช่นกัน”

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า สายการบินใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ไม่ใช่คู่แข่งโดยตรง แต่น่าจะเป็นอะไรที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันมากกว่า โดยเฉพาะการเชื่อมต่อเส้นทางการบินระหว่างกัน เช่น เรียลลีคูล แอร์ไลนส์ ซึ่งทำการบินระยะไกล ซึ่งอนาคตอาจมีความร่วมมือในลักษณะการบินโค้ดแชร์กับบางกอกแอร์เวย์สได้

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ
พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

เป็นจังหวะแจ้งเกิดรายใหม่

ขณะที่ “วรกัญญา สิริพิเดช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “สยาม ซีเพลน” หรือเครื่องบินน้ำ 1 ใน 4 ผู้ประกอบการรายใหม่ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก มีความต้องการเดินทางมาเป็นจำนวนมาก สวนทางกับอุปทานด้านการบินที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงเป็นการดีสำหรับการเปิดตัวสายการบินใหม่

“ปัจจุบันตลาดเครื่องบินส่วนตัวมีผู้ให้บริการน้อยราย และยังไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของผู้โดยสารได้”

พร้อมระบุว่า แม้ว่าสายการบินแลนด์ดาร์ช กับสายการบินสยาม ซีเพลน จะเป็นเครื่องขนาดเล็กเหมือนกัน แต่เจาะกลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน ซึ่งสยาม ซีเพลนก็ไม่ปิดโอกาสในการร่วมเป็นพันธมิตรกันกับผู้ประกอบการ หรือสายการบินรายอื่น ๆ


คงต้องติดตามกันต่อไปว่าผู้เล่นรายใหม่ทั้ง 4 รายจะช่วยปลุกน่านฟ้าไทยให้คึกคักได้อีกครั้งหรือไม่ ช่องว่างทางการตลาดที่มีอยู่จะทำให้น้องใหม่แจ้งเกิดได้แค่ไหน และพี่ใหญ่เจ้าตลาดจะมีกลยุทธ์รับมือน้องอย่างไร อีกไม่นานได้เห็นแน่ ๆ