“ท่องเที่ยว” เครื่องยนต์ปั๊มเศรษฐกิจ เลื่อนค่าเหยียบแผ่นดิน 1 ก.ย.

เลื่อนเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน
REUTERS/ Athit Perawongmetha/ File Photo

“พิพัฒน์” ชี้การท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นำรายได้เข้าประเทศ คาดอีก 4 ปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเป็น 80 ล้านคน สร้างรายได้ 25% ของ GDP ล่าสุดประกาศเลื่อนจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินเป็น 1 ก.ย. 66 เหตุติดขัดข้อกฎหมาย พร้อมเร่งประสานรัฐบาลจีนจัดการทัวร์ศูนย์เหรียญ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงท้าทาย ทั้งจากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อเร่งตัว นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย จึงเชื่อว่าปี 2566 นี้ การท่องเที่ยวยังคงเป็นเครื่องจักรที่สำคัญในการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

โดยปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเขาประเทศไทยไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน และเพิ่มเป็น 40 ล้านคนในปี 2567 หรือฟื้นตัวเท่ากับก่อนสถานการณ์โควิด-19

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายว่าในปี 2570 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาเยือน 80 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศ

นายพิพัฒน์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ด้วยว่า ล่าสุดจำเป็นต้องเลื่อนการจัดเก็บออกไป โดยคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ในวันที่ 1 กันยายน 2566

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือผู้จัดเก็บ และจัดหาวิธีการจัดเก็บที่สะดวก รวมถึงเพื่อให้สอดคล้องอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรืออนุสัญญาชิคาโก และกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งปลัดกระทรวงกำลังประสานงานกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)

สำหรับปัญหาทัวร์คิกแบ็ก ทัวร์ศูนย์เหรียญนั้น นายพิพัฒน์กล่าวว่า ตนไม่ได้นิ่งนอนใจ เช่นเดียวกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เรียกตนไปสอบถามและเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

และได้ข้อมูลว่าการจัดทำทัวร์ศูนย์เหรียญนั้นไม่เพียงเกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศจีนเองด้วย อีกทั้งบริษัทเหล่านี้ยังตามไปทำธุรกิจในประเทศที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปเยือน และทางการจีนขอความอนุเคราะห์จากทางการไทยให้ช่วยดูแลคุ้มครองนักท่องเที่ยวจีนด้วย

ขณะเดียวกันกรมการท่องเที่ยวยังได้หารือร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย หากทางการไทยสามารถจับกุมผู้ประกอบการสีเทาที่กระทำผิด สามารถส่งข้อมูลไปยังสถานทูต เพื่อที่ทางการจีนจะลงโทษผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือร่วมกันกับพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอความร่วมมือและขอความอนุเคราะห์จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วยกวดขัน เนื่องจากปัจจุบันจำนวนตำรวจท่องเที่ยวมีไม่เพียงพอ