ทศวรรษที่ 3 “คิง เพาเวอร์” เขย่าพอร์ตเป็นมากกว่า “ดิวตี้ฟรี”

อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา
อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา
คอลัมน์ : รายงาน

ถือเป็นก้าวสำคัญในรอบ 3 ทศวรรษของกลุ่ม “คิง เพาเวอร์” ที่ได้ประกาศนโยบายและแผนธุรกิจ พร้อมโครงสร้างธุรกิจใหม่จาก 4 กลุ่ม เป็น 8 กลุ่ม

ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจสินค้าปลอดอากร (traveler retail) กลุ่มธุรกิจค้าปลีก (retail) กลุ่มธุรกิจอาหาร (dining) กลุ่มธุรกิจโรงแรม (hospitality) กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภค (consumer products) กลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ประสบการณ์ (travel experiences) กลุ่มธุรกิจกีฬา (sports) และ กลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR)

มุ่งเป็นมากกว่า “ดิวตี้ฟรี”

พร้อมทั้งปรับแบรนด์โพซิชันนิ่ง (re-positioning) และวางแนวทางการสื่อสารการตลาดและสร้างการรับรู้ในแบรนด์ใหม่ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และเทรนด์ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

เรียกว่า จากนี้เป็นต้นไปกลุ่ม บริษัท คิง เพาเวอร์ จะทรานส์ฟอร์มองค์กรตัวเองให้เป็นมากกว่า “ดิวตี้ฟรี” หรือพูดง่าย ๆ คือ “คิง เพาเวอร์” จะไม่ได้มีแค่ธุรกิจดิวตี้ฟรี (traveler retail) อีกต่อไป

ผ่านช่วงยากลำบากที่สุดแล้ว

“อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา “คิง เพาเวอร์” ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ธุรกิจดิวตี้ฟรีปิดดำเนินการทั้งหมด (ปี 2563-2564) ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย

กลุ่มบริษัทจึงต้องพลิกกลยุทธ์ และลุกขึ้นมาปรับรูปแบบธุรกิจในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วยการผนึกพันธมิตรและพนักงานเปิดตัวโครงการเฉพาะกิจทางออนไลน์หลายแคมเปญเพื่อสร้างรายได้ในช่วงวิกฤตโควิด

อาทิ โครงการ SHOP SAVE STAY SAFE ไม่มีไฟลต์บินก็ช็อปได้ ซึ่งเป็นการช่วยพันธมิตรและผู้บริโภคได้มีช่องทางจำหน่ายและซื้อสินค้าต่าง ๆ พร้อมจัดส่งถึงบ้านฟรี

โครงการ KING POWER TEAM POWER ที่เปลี่ยนพนักงานกว่า 12,000 คนสู่นักขายออนไลน์มืออาชีพ ทำให้มียอดขายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 12,000% และมีรายได้เข้ามาในช่วงที่ธุรกิจอยู่ในช่วงยากลำบากที่สุด

โครงการ THAILAND SMILES WITH YOU #ยิ้มให้โลกให้โลกยิ้ม ด้วยการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยสู่สายตาชาวโลก โดยการส่งกำลังใจให้ผู้คนทั่วโลกด้วยรอยยิ้มของคนไทยทุกคนให้ก้าวผ่าน
วิกฤตครั้งนี้ร่วมกัน

และสร้างการจดจำประเทศไทยด้วยการสื่อว่าเมื่อทุกอย่างพร้อมขอให้ทุกคนกลับมาประเทศไทย บนเสื้อของสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย

ปรับพอร์ตรับนักท่องเที่ยวหวนคืน

พร้อมทั้งหันกลับมาเตรียมความพร้อมรับการกลับมาของการท่องเที่ยวในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนรีโนเวตพื้นที่ดิวตี้ฟรีและปรับปรุงตกแต่งร้านค้าภายในสนามบินสุวรรณภูมิครั้งใหญ่บนพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตร เนื่องจากเปิดดำเนินการมาแล้ว 14 ปี ร้านค้าต่าง ๆ ที่มีเริ่มโทรม รวมถึงหาแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่ม

ภายใต้แนวคิด World Junction สร้างปรากฏการณ์ Duty Free World Class Shopping Destination เพื่อยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค ตอกย้ำภาพลักษณ์สนามบินที่มีความครบครันของแฟลกชิปสโตร์ของแบรนด์เนมระดับโลก

นำเสนอบริการใหม่ในสนามบิน เรียกว่า KING POWER CLICK & COLLECT ผ่านระบบออนไลน์ ช็อปดิวตี้ฟรีออนไลน์ 24 ชม. ช็อปง่ายรับสบายทั้งขาเข้าและขาออก

รวมถึงขยายธุรกิจรับเทรนด์ช็อปปิ้งออนไลน์และพฤติกรรมนักช็อปรุ่นใหม่ ด้วยการเปิดตัว FIRSTER มัลติแพลตฟอร์มแห่งการช็อปปิ้งสายบิวตี้และไลฟ์สไตล์ ในรูปแบบ O2O (online to offline) ทั้งเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น และ FIRSTER แฟลกชิปสโตร์ ณ คิง เพาเวอร์ มหานคร และสยามสแควร์ รวมพื้นที่กว่า 2,800 ตารางเมตร

การเปิดตัวโรงแรม The Standard Bangkok Mahanakhon ณ อาคาร คิง เพาเวอร์ มหานคร ซึ่งเป็นแฟลกชิปโฮเทลของ The Standard ในเอเชีย ที่สะท้อนทุกจุดเด่นของ The Standard ตั้งแต่ ดีไซน์ แฟชั่น ศิลปะ ดนตรี และยังเป็นแหล่งรวมร้านอาหาร ชื่อดังอย่าง OJO MOTT32 และ TEASE ROOM เป็นต้น

และเปิดตัว “คิง เพาเวอร์ มหานคร” อย่างเต็มรูปแบบ landmark destination ท่องเที่ยวใจกลางกรุงเทพฯ ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติ โดยชูอัตลักษณ์ความเป็น “มหานครกรุงเทพ” เมืองหลวงแห่งสีสันที่ผสมผสานทุกวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์

นอกจากนี้ ยังลงทุนอีกราว 2,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนใน King Power Duty Free ณ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (satellite building) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รองรับผู้โดยสารได้ราว 151,000 รายต่อวัน ซึ่งมีแผนเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2566 นี้

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนงานธุรกิจเพื่อกระตุ้นบรรยากาศท่องเที่ยว และร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในอนาคตของกลุ่ม “คิง เพาเวอร์”

ไม่หยุดค้นหาความ “เป็นไปได้”

“อัยยวัฒน์” บอกว่า วันนี้ “คิง เพาเวอร์” ก้าวผ่านวิกฤตและช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดมาได้ ส่วนสำคัญที่สุดคือความร่วมมือร่วมใจของพนักงานทุกระดับ ซึ่งทำให้เกิดแนวคิด “WE are powerful than I” ซึ่งบริษัทได้นำมาต่อยอดเป็น brand idea ขององค์กรที่ก่อเกิดจากความมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคนในการสร้างพลังแห่งความเป็นไปได้

และสร้างสรรค์เป็นแนวคิดหลัก THE POWER OF POSSIBILITIES : ชีวิตไม่หยุดค้นหาความเป็นไปได้ โดยมุ่งเน้นที่จะค้นหาและสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางเพื่อผู้คนทั่วโลก ตามแนวคิดของ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” ประธานบริษัทผู้ล่วงลับที่ได้วางไว้ครั้งเริ่มต้นบริษัทเมื่อ 34 ปีก่อน

เข้าถึงทั้งกลุ่ม “มี-ไม่มี” ไฟลต์บิน

และเพื่อตอกย้ำภาพความเป็นมากกว่าดิวตี้ฟรี ล่าสุด “คิง เพาเวอร์” จึงได้ทำการปรับทัพ e-Commerce ecosystem ซึ่งได้พัฒนารองรับผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดทั้งระบบใหม่ โดยปรับรูปแบบการนำเสนอสินค้าและบริการสู่ digital transformation ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ต้องการสินค้าที่หลากหลายและเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น

พร้อมทั้งเชื่อมโยงทุกการช็อปปิ้งให้เป็น single gateway ภายใต้ระบบ SHOP ALL POSSIBILITIES IN ONE CLICK โดยผนวกแอปพลิเคชั่น FIRSTER.COM เข้ามาอยู่ใน KINGPOWER.COM เข้าถึงนักช็อปทุกคนทั้งที่มีไฟลต์บิน และไม่มีไฟลต์บิน

โดยลูกค้าที่มีไฟลต์บินคลิกที่ KINGPOWER.COM ส่วนลูกค้าที่ไม่มีไฟลต์บินคลิกที่ FIRSTER.COM พร้อมทั้งเพิ่มสินค้า non-duty free เช่น สินค้าเพื่อการท่องเที่ยว สินค้าเครื่องใช้ในบ้าน ฯลฯ ใน FIRSTER.COM จากที่มีแค่สินค้าในหมวดความงามและไลฟ์สไตล์เท่านั้น ทำให้ KINGPOWER.COM มีสินค้าบนแพลตฟอร์มรวมกว่า 250,000 รายการ

และผู้ที่ซื้อสินค้าสามารถเลือกประเภทของบริการจัดส่งสินค้าได้ 2 รูปแบบคือ บริการ Airport Pick up รับสินค้าได้ที่สนามบินทั้งขาเข้าและขาออกสำหรับผู้ที่มีไฟลต์บิน และบริการ FIRSTER Home and Hotel Delivery in Thailand รับสินค้าที่บ้านหรือโรงแรมในประเทศไทยสำหรับลูกค้าต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย และลูกค้าทั่วไปที่ไม่มีไฟลต์บิน

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปี 2566 นี้ กลุ่ม “คิง เพาเวอร์” จะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 80% ของปี 2562 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปีนี้เป็นต้นไป


แน่นอนว่า รายได้หลักจะยังคงมาจากธุรกิจ “ดิวตี้ฟรี” หรือกลุ่มธุรกิจสินค้าปลอดอากร (traveler retail) แต่เชื่อว่ารายได้จากกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ จะมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต