น่านฟ้า”ไทย-ญี่ปุ่น”เดือด! โลว์คอสต์จัดหนักท้าชิง”บินไทย-JAL”

น่านฟ้าไทย-ญี่ปุ่นเดือด ! 3 บิ๊กโลว์คอสต์ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์-นกสกู๊ต-ไทยไลอ้อนแอร์” พาเหรดเปิดเส้นทางบินเข้าญี่ปุ่น ดัมพ์ตั๋วโปรฯตุนยอดจองรับไฮซีซั่นปลายปี “บินไทย-JAL-ANA” เจ้าตลาดปรับแผนอัดตั๋วโปรฯเริ่มต้น 1.2 หมื่นบาท ชิงเค้กคนไทยไปญี่ปุ่นทะลุล้านคน

แหล่งข่าวในธุรกิจสายการบินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ประกาศถอดรายชื่อประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงต่อภัยด้านการบินเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินในกลุ่มโลว์คอสต์ (บินระยะกลาง) ของไทยกลับมาคึกคักและทยอยประกาศเปิดเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

โลว์คอสต์แห่เปิดเส้นทางใหม่

โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ประเดิมเปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-ซัปโปโร 1 เที่ยวบินต่อวัน เมื่อ 10 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่เปิดบินสู่ญี่ปุ่น 2 เมืองเมื่อกลางปี 2557 (ก่อน ICAO ปักธงแดง) คือ กรุงเทพฯ-โตเกียว 2 เที่ยวบินต่อวัน และกรุงเทพฯ-โอซากา 2 เที่ยวบินต่อวัน และล่าสุดได้เปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-นาโกยา เพิ่มอีก 1 เส้นทาง จะเริ่มให้บริการในวันที่ 30 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป 1 เที่ยวบินต่อวัน

เช่นเดียวกับสายการบินนกสกู๊ต สายการบินร่วมทุนระหว่างนกแอร์และสกู๊ต สิงคโปร์ ที่ต้องพับแผนเปิดเส้นทางสู่ญี่ปุ่นไปเมื่อหลังเจอธงแดง ICAO ล่าสุดได้เปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ-โตเกียว 1 เที่ยวบิน เมื่อ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา

ขณะที่ไทยไลอ้อนแอร์ที่เดิมโฟกัสตลาดในประเทศเป็นหลัก ก็หันมาขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น พร้อมเปิดบินเส้นทางกรุงเทพฯ-โตเกียว จะเริ่มให้บริการในวันที่ 30 กันยายนนี้เป็นต้นไป วันละ 1 เที่ยวบิน

“ตอนนี้โลว์คอสต์แอร์ไลน์ทั้ง 3 ราย ต่างประกาศทำโปรโมชั่นราคาตั๋วกันอย่างหนัก โดยไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้ทยอยออกโปรฯตั๋วถูกมาเป็นระยะ ๆ ทั้งโปรฯสำหรับเส้นทางเก่าและโปรฯฉลองเปิดเส้นทางใหม่ ตั้งแต่ 2,777-3,990 บาทต่อเที่ยว ขณะที่นกสกู๊ต ช่วงเปิดเส้นทางใหม่ ตั้งราคาไว้ที่ 2,777-2,850 บาทต่อเที่ยว ส่วนไทยไลอ้อนแอร์ก็คาดว่าน่าจะเปิดราคาตั๋วไม่ต่างจากนี้นัก” แหล่งข่าวกล่าว

กระตุ้นยอดขายช่วงโลว์ซีซั่น

แหล่งข่าวจากธุรกิจท่องเที่ยวอีกรายหนึ่งระบุว่า ช่วงเดือนสิงหาคมถือเป็นหน้าขายของบริการท่องเที่ยวที่สำคัญ เพื่อรองรับการเดินทางในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ทั้งสายการบิน บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ต่างเริ่มทยอยเปิดตัวสินค้ารวมถึงโปรโมชั่นใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นการเดินทางและจับจ่ายตั้งแต่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ต่อเนื่องไปจนถึงไฮซีซั่น และหนึ่งในตลาดที่น่าจับตามอง คือ การเดินทางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศต่างวางกลยุทธ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวขาเข้า (อินบาวนด์) ขณะที่สายการบินทั้งพรีเมี่ยมและต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) จะมีการแข่งขันราคาค่อนข้างสูง เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว

ไทยแอร์ฯเอ็กซ์ เปิดจุดบินที่ 4

นายนัตดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดให้บริการเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นแล้ว 3 เส้นทาง จากกรุงเทพฯสู่โตเกียว (นาริตะ) 3 เที่ยวบินต่อวัน, โอซากา 2 เที่ยวบินต่อวัน และซัปโปโร 1 เที่ยวบินต่อวัน มีผู้โดยสารในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มากกว่า 5.3 แสนคน เป็นลูกค้าชาวไทยถึง 70% ส่วนอีก 30% เป็นชาวญี่ปุ่น ตั้งเป้าปรับสัดส่วนให้เท่ากันที่ 50%

โดยมีแผนเปิดเส้นทางบินที่ 4 สู่ญี่ปุ่น คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-นาโกยา ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ราคาเริ่มต้นที่ 2,990 บาทต่อเที่ยวบิน ซึ่งนาโกยาจะเป็นประตูสู่การท่องเที่ยวในภาคกลางของญี่ปุ่น และจะช่วยเสริมเส้นทางบินของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค และเป็นตัวเลือกให้นักท่องเที่ยววางแผนการเดินทางได้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นด้วย

นกสกู๊ต-ไทยไลอ้อนบุกโตเกียว

นายยอดชาย สุทธิธนกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต กล่าวว่า ปีนี้นกสกู๊ตได้ฤกษ์กลับมาเปิดเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่น เส้นทางแรก คือ กรุงเทพฯ-โตเกียว วันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยราคาโปรโมชั่นที่ 2,850 บาทต่อเที่ยว และโปรโมชั่นพิเศษที่ 2,777 บาทต่อเที่ยว และภายในสิ้นปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 1 เมือง คือ โอซากา คาดว่าเส้นทางบินกรุงเทพฯ-โตเกียว จะมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารในปีแรกที่ราว 83% และเป็นเส้นทางสำคัญที่หนุนให้รายได้รวมในปีนี้ถึง 1 หมื่นล้านบาท

เช่นเดียวกับ นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ที่กล่าวว่า เดือนพฤศจิกายนนี้ไทยไลอ้อนแอร์เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ไปญี่ปุ่น เป็นเส้นทางแรก คือ กรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ) จากทั้งหมด 4 เส้นทางที่วางแผนเปิดให้บริการ คือ กรุงเทพฯ-นาโกยา ที่จะพยายามเปิดให้ทันปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ส่วนอีก 2 เส้นทางจะเปิดในปีถัดไป คือ กรุงเทพฯ-ฟูกูโอกะ และโอซากา

“บินไทย-JAL-ANA” อัดโปรฯสู้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากกลุ่มสายการบินโลว์คอสต์ที่อัดโปรโมชั่น “ตั๋วถูก” แล้ว สายการบินที่เป็นเจ้าตลาดญี่ปุ่นอย่างสายการบินไทย และเจแปนแอร์ไลน์ ก็ได้จัดโปรโมชั่นตั๋วโดยสารเพื่อดึงดูดให้คนไทยเดินทางไปญี่ปุ่น ในช่วงโค้งท้ายของโลว์ซีซั่นก่อนไฮซีซั่นจะมาถึงด้วยเช่นกัน โดยการบินไทยเสนอขายตั๋วเดินทางไป-กลับ พร้อมกันตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป กรุงเทพฯ-โตเกียว และกรุงเทพฯ-นาโกยา ราคาเริ่มต้น 15,000 บาท (รวมภาษีสำหรับที่นั่งชั้นประหยัด) เปิดให้จองตั้งแต่วันนี้ถึง 30 กันยายนนี้ และสามารถเดินทางได้ถึง 31 ตุลาคมนี้ ยกเว้นช่วงวันแม่

ขณะที่เจแปนแอร์ไลน์ (JAL) ทำแคมเปญเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ญี่ปุ่น (ไม่รวมภาษี ค่าธรรมเนียมน้ำมันและอื่น ๆ) สำหรับที่นั่งชั้นประหยัดเริ่มต้นที่ 12,000 บาทต่อคน ส่วนออลนิปปอนแอร์เวย์ส (ANA) เส้นทางกรุงเทพฯสู่โตเกียว โอซากา นาโกยา และฟูกูโอกะ ราคาไป-กลับ (ไม่รวมภาษี ค่าธรรมเนียมน้ำมันและอื่น ๆ) สำหรับที่นั่งชั้นประหยัด เริ่มต้นที่ 12,815 บาทต่อคน จองได้ถึง 10 สิงหาคมนี้ และสามารถเดินทางได้ถึง 30 กันยายนนี้

“ทีทีเอเอ” ชี้ญี่ปุ่นฮอตต่อเนื่อง

นายธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ญี่ปุ่นยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวไทย เมื่อต้องการไปเที่ยวต่างประเทศ ด้วยปัจจัยหนุนหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเปิดเส้นทางบินใหม่ของสายการบินต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความถี่เที่ยวบินและทำราคาตั๋วเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเร่งตัดสินใจ ขณะที่ภาพรวมในตลาดมีการเสนอขายแพ็กเกจท่องเที่ยวญี่ปุ่นในราคาค่อนข้างถูกลงอย่างชัดเจนและในงาน “เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลก” ที่จะจัดขึ้น 9-12 สิงหาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หน่วยงานภาครัฐ

ด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นได้ร่วมออกบูทเป็นจำนวนมาก โดยสมาคมคาดว่าช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้ ภาพรวมตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศจะเติบโตขึ้น และญี่ปุ่นยังเป็นจุดหมายที่คนไทยนิยมมากที่สุด

นทท.ไทย-ญี่ปุ่นพุ่งต่อเนื่อง

นางสาวภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานโตเกียว และนางสาวสรัสวดี อาสาสรรพกิจ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานโอซากา กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ตลาดท่องเที่ยวระหว่างไทยและญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมมาก สะท้อนได้จากจำนวนเที่ยวบินและที่นั่งของในแต่ละเดือน ซึ่งปัจจุบันมี 6 สายการบินให้บริการเที่ยวบินประจำจากญี่ปุ่นเข้าไทย ได้แก่ การบินไทย เจแปนแอร์ไลน์ ออลนิปปอนแอร์เวย์ส ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ นกสกู๊ต และพีชแอร์ไลน์ รวม 820 เที่ยวบินต่อเดือน คิดเป็น 280,000 ที่นั่งต่อเดือน

โดย 4 เดือนแรกที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเข้าไทยแล้วกว่า 5.52 แสนคน เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และคาดว่าตลอดปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 1.6 ล้านคน จากปี 2560 ที่ตัวเลขอยู่ที่ 1.54 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 7.28% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และสร้างรายได้ 6.66 หมื่นล้านบาท และคาดว่าปี 2562 จะยังคงเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 5% เมื่อเทียบกับปี 2561

“พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยเปลี่ยนไปค่อนข้างชัดเจน คือ กลุ่มผู้สูงอายุเลือกจองตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจและเฟิรสต์คลาสมากขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มทั่วไปหันมาใช้บริการสายการบินโลว์คอสต์ควบคู่กับการจองโรงแรมระดับ 4-5 ดาวมากขึ้น”


ขณะที่จำนวนคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยนายเอโกะ โอะนุมะ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวว่า ญี่ปุ่นยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมเดินทางไปเป็นจำนวนมาก โดย 6 เดือนแรกปีนี้มีนักท่องเที่ยวไทยไปเยือนญี่ปุ่นแล้วกว่า 606,700 คน เติบโตถึง 14.3% และคาดว่าแนวโน้มตลอดปีนี้จะมีมากถึง 1.12-1.2 ล้านคน สูงกว่าเป้าที่ JNTO วางไว้ว่า น่าทะลุ 1 ล้านคนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งไทยเป็นชาติแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งออกนักท่องเที่ยวไปญี่ปุ่นสูงกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเดิมเมื่อปี 2560 มีนักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่นทั้งสิ้น 987,211 คน เติบโต 9.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน สร้างรายได้รวมประมาณ 3.76 หมื่นล้านบาท