“พายุปาบึก” ฟาดหางเศรษฐกิจใต้ เขย่าธุรกิจท่องเที่ยว 8 แสนล้าน

พายุโซนร้อนปาบึกเขย่าซ้ำเศรษฐกิจใต้ หวั่นท่องเที่ยวอ่าวไทย-อันดามัน 8 แสนล้านสะเทือน รัฐผนึกเอกชนรับมือ สั่งเช็กลิสต์รายชื่อนักท่องเที่ยวเพิ่มความปลอดภัย โรงแรมเปิดทางเลื่อนเวลา-ยกเลิกจองห้องพัก เกษตร-ประมง-แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติโดนหางเลข ททท.ชี้กระทบอุตฯท่องเที่ยวระยะสั้น เล็งปรับแผนการตลาดปลุกมู้ดรับตรุษจีน-วาเลนไทน์

แม้ภาครัฐจะส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า พร้อมเร่งอพยพและตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อรับมือพายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงและฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด รวมทั้ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี โดยเวลา 12.45 น. วันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา พายุปาบึกได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณ อ.ปากพนัง ก่อนเคลื่อนไปยัง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร แต่อิทธิพลของพายุทำให้สภาพภูมิอากาศในภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ตกอยู่ในสภาพท้องฟ้ามืดครึ้ม ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงกระจายในวงกว้าง

เบื้องต้นแม้ความเสียหายยังเกิดขึ้นไม่รุนแรง แต่ส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาทำให้ประชาชน ธุรกิจการค้าในพื้นที่มีความวิตกกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สิน ขณะเดียวกันก็น่าห่วงแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 2 ฝั่งทะเลภาคใต้จะเสียหาย หรือได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะหากเป็นอย่างนั้นจะกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ภาคการประมง สวนยาง สวนปาล์ม ฯลฯ ด้วย

กระทบท่องเที่ยวระยะสั้น

แหล่งข่าวระดับสูงในธุรกิจท่องเที่ยว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าพายุปาบึกจะสร้างความเสียหายให้แหล่งท่องเที่ยวหลักในพื้นที่ภาคใต้มากน้อยแค่ไหน แต่เบื้องต้นนักท่องเที่ยวหลายพื้นที่ได้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ท่องเที่ยวหลักจำนวนหนึ่งแล้ว อาทิ เกาะสมุย เกาะพะงัน (สุราษฎร์ธานี) รวมถึงกระบี่, ภูเก็ต, พังงา ฯลฯ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยมาก ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากนี้กรณีสนามบินบางแห่งประกาศหยุดให้บริการชั่วคราว สายการบินหลายแห่งหยุดทำการบิน ก็ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวเกิดการชะงัก แต่ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความ

เสียหายได้ ขณะที่ทุกภาคส่วนมุ่งไปที่การบริหารจัดการนักท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัยเป็นหลัก

สอดรับกับที่นายนพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า จากการติดตามประเมินสถานการณ์ ณ วันที่ 4 ม.ค. คาดว่าจะกระทบบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวระยะสั้น ๆ 1 สัปดาห์ (นับตั้งแต่ 2-3 ม.ค.)

ททท.เตรียมเขย่าแผนการตลาด

นายนพดลกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมานายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ได้มอบนโยบายให้ทีมทำงานดูเรื่องการส่งเสริมการตลาดให้มีความต่อเนื่อง หลังคลื่นลมสงบ ททท.อาจต้องปรับแผนส่งเสริมการตลาดในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวในภาคใต้ใหม่อีกรอบ ให้เกิดบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวกลับมาโดยเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีน วาเลนไทน์นี้

หวั่นกระทบเที่ยวใต้ 8 แสนล้าน

นายนิธิ สีแพร ผู้อำนวยการภาคใต้ ททท. กล่าวเสริมว่า ปกติในช่วงเวลานี้เป็นฤดูการท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามัน เหตุการณ์ครั้งนี้ส่วนใหญ่กระทบการท่องเที่ยวในโซนอ่าวไทย จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเสียหายต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคใต้มากนัก

นอกจากนี้ยังเชื่อว่าภัยธรรมชาติครั้งนี้จะไม่สร้างความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยวมากนัก

“ปกติภาคใต้เป็นพื้นที่ที่สร้างรายได้จากภาคท่องเที่ยวสูงมาก โดยในปี 2561 ที่ผ่านมารายได้จากการท่องเที่ยวของภาคใต้มีมูลค่าราว 8 แสนล้านบาท เติบโตราว 13-14%” นายนิธิกล่าว

ทั้งนี้ จากรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาคใต้มีมูลค่ารวม 6.92 แสนล้านบาท ขยายตัว 16.95% และปี 2560 มีมูลค่ารวมที่ 7.81 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.8% ส่วนปี 2561 ที่ผ่านมาขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปข้อมูล

สทท.-ส.โรงแรมยันไม่เลวร้าย

นายสุรวัช อัครวรมาศ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท.คาดการณ์ว่าเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งนี้จะไม่สร้างความเสียหายต่ออุตฯท่องเที่ยวไทยมากนัก เพราะเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น ๆ ที่น่าวิตกคือ การบริหารจัดการนักท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในพื้นที่ซึ่งอยู่ในรัศมีของพายุให้มีความปลอดภัยมากกว่า โดย สทท.มอนิเตอร์เหตุการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นน้อยที่สุด

นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานยกเลิกการจองห้องพักจากโรงแรม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงโฟกัสเรื่องแผนการตั้งรับและให้ข้อมูลกับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

สมุยคาดเสียหาย 100 ล้าน

นายวรสิทธิ์ ผ่องคำพันธุ์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เบื้องต้นนี้นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายอำเภอในพื้นที่ และภาคเอกชนท่องเที่ยวมุ่งเน้นบริหารจัดการนักท่องเที่ยวให้ปลอดภัยเป็นหลัก เนื่องจากยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ในพื้นที่อีกกว่า 20,000 คน สำหรับความเสียหายในภาพรวมต่อเศรษฐกิจเบื้องต้นช่วง 3-4 วันแรก ภาคท่องเที่ยวของเกาะสมุยได้รับความเสียหายกว่า 20 ล้านบาทต่อวัน (เฉพาะโรงแรม ที่พัก) รวม 3-4 วัน กว่า 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทางภาคเอกชนได้เตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นฟูหลังพายุสงบในทุกช่องทางเช่นกัน เพื่อให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของเกาะสมุยกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ล่าสุดทางสายการบิน

บางกอกแอร์เวย์สได้เจรจากับกรมการบินพลเรือน ขออนุญาตทำการบินเข้าออกเส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่ติดอยู่บนเกาะและอยากออกจากเกาะ และนักท่องเที่ยวที่ค้างอยู่ที่กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) และมีความประสงค์จะไปท่องเที่ยวที่สมุยด้วย

โรงแรมให้เลื่อนจอง-ยกเลิกห้อง

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จ.สงขลาไม่ได้รับผลกระทบ เพราะนักท่องเที่ยวได้ทยอยเดินทางกลับประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค. 62 เนื่องจากเป็นกลุ่มครอบครัวจากมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่เดินทางมาท่องที่ยวในช่วงเวลาที่บุตรปิดภาคการศึกษา ตั้งแต่กลางเดือน พ.ย.-ธ.ค. เปิดภาคการศึกษาแล้วตั้งแต่ 1 ม.ค. 2562

ขณะที่ น.ส.ลัดดาวัลย์ ช่วยชาติ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ขณะนี้แหล่งท่องเที่ยวยังไม่กระทบมากนัก จึงยังไม่มีการอพยพนักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่เสี่ยง เช่น อ.ขนอม อ.สิชล อ.คีรีวง เป็นต้น แต่มีการเช็กลิสต์รายชื่อท่องเที่ยวที่พักอยู่ในโรงแรมตลอดเวลา และงดกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งหมด ส่วนยอดจองเข้าพักโรงแรมล่วงหน้าจะไม่ตั้งรับรอให้นักท่องเที่ยวโทรมา แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวแต่ละรายได้โทรศัพท์ประสานไปที่ลูกค้าให้เลื่อนการเดินทางออกไปก่อน ไม่ต้องเข้ามา หรือสามารถยกเลิกการจองได้ และต้องดูสถานการณ์วันต่อวัน

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ดูจากสถานการณ์แล้วแม้ผลกระทบไม่หนักหนามาก แต่ค่อนข้างรุนแรง ในส่วนธุรกิจท่องเที่ยวนั้นผู้ประกอบการได้ติดต่อขอเลื่อนและยกเลิกการจองกับทางนักท่องเที่ยวแล้ว เนื่องจากคำเตือนห้ามนำเรือออกจากฝั่ง เป็นการยกเลิกการจองและคืนเงินเฉพาะช่วง 3-5 ม.ค. 2562 เฉพาะในส่วนที่เดินทางออกทะเลและเสี่ยงพายุ ซึ่งนักท่องเที่ยวเข้าใจ ไม่มีการร้องเรียนหรือมีปัญหา

นักท่องเที่ยวตกค้างสมุย 70%

นางศุภกาญจน์ ยอดฉุน ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า พื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี รวมถึงรอบสนามบินสุราษฎร์ธานีมีห้องพักมากกว่า 3,500 ห้อง เพียงพอต่อการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาจากเกาะได้ โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนเดสติเนชั่น โดยเดินทางต่อไปที่ภูเก็ตและกระบี่ เพื่อเดินทางกลับโดยสายการบิน

จากการสอบถามผู้ประกอบการโรงแรม 20 แห่ง พบว่านักท่องเที่ยวกว่า 70% ยังอยู่บนเกาะท่องเที่ยวพักผ่อนตามปกติ เหตุการณ์น่าจะเกิดและกระทบช่วงสั้น ๆ 1-2 สัปดาห์ วันที่ 10-11 ม.ค.น่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

“เกาะพะงัน” ยุโรปยังเพียบ

นางกนกวรรณ เจริญวรรณ เจ้าของพาลิต้า ลอดจ์ หาดริ้น เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่รีสอร์ตซึ่งตั้งอยู่ติดริมทะเลยังมีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเหลืออยู่พอสมควร จากก่อนหน้านี้เยอะมาก จึงสูญเสียรายได้จำนวนมาก เพราะปกติช่วงเดือน ม.ค.ยังถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของเกาะพะงัน นอกจากนี้คลื่นสูง 4-5 เมตร และลมแรง อาจกระทบต่อสิ่งก่อสร้าง ต้องใช้เวลาปรับปรุงซ่อมแซม

หวั่นนาข้าว-ประมงสูญ 3 พัน ล.

นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมชาวประมงจังหวัดปัตตานีและนายกสมาคมอวนล้อมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พายุปาบึกกระทบภาคใต้ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส อ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงถึง 3-5 เมตร เรือเล็กต้องงดออกจากฝั่ง ทำให้ชาวประมงเดือดร้อนมาก โดยเฉพาะเรือประมงขนาด 30 ตันขึ้นไปสูญเสียรายได้จากที่ไม่สามารถออกเรือได้เฉลี่ย 50,000 บาท/ลำ/ วัน จากจำนวน 5,000 ลำ คาดว่าจะเสียหาย

250 ล้านบาท/วัน โดยประมาณ 5 วัน กว่า 1,200 ล้านบาท

นายศักดิ์สิทธิ์ โอวรารินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สันทัดและบุตร จำกัด ผู้ประกอบการเดินเรือขนส่งภายในประเทศ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการธุรกิจเดินเรือได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งเรือขนส่งบรรทุกสินค้า เรือท่องเที่ยว และเรือโดยสาร เนื่องจากเรือที่รับคลื่นความสูงได้ไม่เกิน 4-5 เมตรต้องหยุดทั้งหมด เช่น เรือเร็ว เรือนอน เรือเฟอร์รี่ เรือขนส่งบรรทุกสินค้าภายในประเทศขนาดความยาว 8 เมตร เป็นต้น ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจคาดว่าภาคใต้ทุกจังหวัด ภาคเรือขนส่งมียอดความเสียหายรวมกว่า 100 ล้านบาท

ด้านนายสุทธิพร กาฬสุวรรณ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวและชาวนาภาคใต้และอุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ความเสียหายสูงสุดที่เป็นไปได้ แบ่งเป็นนาข้าว 500,000 ไร่ ปริมาณ 350,000 ตัน รวม 2,000 ล้านบาท สวนปาล์มน้ำมันอีก 300,000 ไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง เช่น ลุ่มน้ำปากพนัง อ.เชียรใหญ่ ปากพนัง อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ไปถึง อ.ระโนด จ.สงขลา

GISTDA ชี้ปาบึกลูกสุดท้ายปี”61 

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พายุโซนร้อนปาบึกน่าจะเป็นลูกสุดท้ายในฤดูกาลพายุปี 2561 (เดือน พ.ค.61-ม.ค. 62) หากประเมินจากสถิติพายุในภูมิภาคตามวงรอบทำให้มั่นใจว่าโอกาสที่จะมีพายุลักษณะนี้อีกมีน้อยมาก หรือประมาณไม่ถึง 5%

หวั่นชายฝั่งอ่าวไทยเสียหาย

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึกจะส่งผลให้ชุมชนชายฝั่งริมทะเลอ่าวไทยตั้งแต่มาเลเซียขึ้นมา จ.นราธิวาส ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร จะเกิดความเสียหายมาก

พาณิชย์ว้ากกักตุนสินค้า 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการไปยังพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงประสบเหตุพายุโซนร้อนปาบึก ติดตามสถานการณ์การจำหน่ายสินค้าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลน พร้อมทั้งประสานไปยังผู้ผลิตให้กระจายสินค้าให้กับพื้นที่ประสบภัย เพื่อไม่ให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์พบว่ามีเพียงบางพื้นที่เท่านั้น โดยเฉพาะตามเกาะจากปัญหาการขนส่งจึงเกิดการกักตุน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีปัญหา

บงกชเหนือ-ใต้ หยุดชั่วคราว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ระงับการผลิตของแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชเหนือ และแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชใต้ไว้ชั่วคราว และดำเนินการส่งพนักงานทั้งหมดกลับขึ้นฝั่ง เนื่องจากการประเมินเบื้องต้นว่าตำแหน่งที่ตั้งของแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 อยู่ในเส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุปาบึก

เตรียม 400 ล้านซ่อมถนน


นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง และนายพิศักดิ์ จิตวิระยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์พร้อมกับเส้นทางเลี่ยงหากมีถนนในบางเส้นทางถูกตัดขาด แต่ยังไม่สามารถประเมินว่าถนนในภาคใต้จะเสียหายจากพายุปาบึกมากน้อยแค่ไหน แต่มีงบฯโครงการภัยพิบัติดึงนำมาใช้ซ่อมแซมได้ใน 7 วัน โดยกรมทางหลวงมีงบฯ 200-300 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 100 ล้านบาท หากเกินสามารถของบฯกลางจากรัฐบาลเพิ่มเติมได้