Gastronomy Tourism กระจายรายได้สู่ “ฐานราก”

ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านอาหารการกินที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก แต่ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ gastronomy tourism ไม่ได้หมายถึงเพียงการดึงดูดนักท่องเที่ยวมาชิมอาหารรสเด็ด ณ แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมเท่านั้น แต่ยังมีความหมายกว้างถึงการสร้างวงจรอาหารที่จะสร้างอาชีพให้ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

“ผศ.ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์” ผู้อำนวยการโครงการ ASEAN Gastronomy กลุ่มบริษัท เพอร์เฟค ลิงก์ ให้ข้อมูลว่า อาหารไม่เพียงแต่จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นนั้น แต่ยังบรรจุไว้ซึ่งวัฒนธรรม อารยธรรม และประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของแต่ละท้องถิ่น และในทุกเส้นทางการกินยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับอธิปไตยทางอาหาร ความหลากหลายของอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้พลังงาน ฯลฯ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ดังนั้น อาหารจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน และเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของชุมชน

ประโยชน์ของการท่องเที่ยวเชิงอาหารจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่การดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการสร้างอาชีพ และความอยู่ดีกินดีให้กับท้องถิ่นอีกด้วย

หัวใจของการท่องเที่ยวเชิงอาหารจึงยืนอยู่บน 4 เสาหลักที่ทำให้องค์ประกอบของการท่องเที่ยวเชิงอาหารสมบูรณ์ ได้แก่ ระบบเกษตร (farming systems)ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแหล่งกำเนิดอาหารที่แปลงผัก สวนผลไม้ บ้านไร่ หรือท้องนา เรื่องราวของอาหาร (story of food) หรือเบื้องหลังของอาหารแต่ละจานที่จะรวบรวมมรดกภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่เพิ่มคุณค่าให้กับอาหารแต่ละจาน อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (creative industries) ที่หมายถึงการนำเอาศาสตร์และศิลป์เข้ามาประกอบกับการเสิร์ฟอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี การแสดง วรรณกรรม และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นบนฐานของการอนุรักษ์และส่งเสริมเรื่องราวท้องถิ่น และให้อาหารเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ลึกซึ้งและยั่งยืนให้กับนักท่องเที่ยว

โดยโมเดลของการสร้างเขตพื้นที่ท่องเที่ยวด้านอาหารการกินที่ประสบความสำเร็จมีอยู่หลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรปที่สามารถเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ กับอาหารประจำเมือง รวมถึงมีวัฒนธรรมที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวอาหารถิ่นเลื่องลือจนนักท่องเที่ยวต้องตามไปชิมถึงพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาเขตพื้นที่ท่องเที่ยวด้านอาหารการกินยังไม่เป็นที่แพร่หลายในทวีปเอเชีย

มากนัก

โดยประเทศไทยเองถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงอาหารเข้ากับพื้นที่และวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างเป็นหนึ่งเดียว

ด้าน “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยงและกีฬา บอกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาหารไทยมีความโดดเด่นมากสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เดินทางมาเพื่อชมรสชาติและเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยมาโดยตลอด

โดยรัฐบาลเองก็ได้มองเห็นถึงโอกาสที่การท่องเที่ยวเชิงอาหารว่าจะสามารถช่วยกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ให้กระจายตัวออกไปในพื้นที่ชุมชนเล็ก ๆ มากขึ้น

ไทยจึงได้เสนอตัวเป็นผู้ประสานงานหลักในการดำเนินงานตามปฏิญญา ASEAN Gastronomy Tourism สร้างอาเซียนให้เป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโอกาสในการอยู่ดีกินดีผ่านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร

ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนและท้องถิ่นเตรียมตัวให้พร้อมและร่วมกันสร้างวงจรการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่ยั่งยืนขึ้นมา ซึ่งมีงาน ASEAN Gastronomy Tourism Fair & Forum ที่ได้จัดขึ้นครั้งแรกระหว่างวันที่ 9-10 เมษายนที่ผ่านมาเป็นก้าวแรก

นอกจากการกระจายความรู้แล้วหลังจากนี้รัฐบาลจะสนับสนุนด้านนโยบายเพื่อส่งเสริมให้การท่องเที่ยวเชิงอาหารที่เกิดจากชุมชนเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น โดยประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่ นโยบายช่วยเหลือด้านที่ดินทำกิน นโยบายด้านการเงินการคลัง และนโยบายด้านการตลาด

โดยแต่ละนโยบายจะช่วยให้ชุมชนก้าวข้ามปัญหาการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรแบบเดิมที่ต้องพึ่งทั้งสารเคมีและพ่อค้าคนกลางเข้าสู่การสร้างความอยู่ดีกินดีที่ทั่วถึง และสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นต่อไป