“ท่องเที่ยวไทย” เสี่ยงล้มละลาย ดัชนีเชื่อมั่น Q2 หัวทิ่ม-คนตกงานพุ่ง

เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนกันแล้วว่า”โควิด-19″ ส่งผลกระทบอย่างหนักจนประเมินค่าไม่ได้ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโลก ซัพพลายเชนของธุรกิจท่องเที่ยวทุกเซ็กเตอร์ตกอยู่ในภาวะวิกฤต และอยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการล้มละลายเป็นลูกโซ่ ทั้งธุรกิจโรงแรม, สายการบิน, รถยนต์ส่ง, ร้านอาหาร ฯลฯ

โดยจากการทำสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2/2563 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา เพื่อสะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวปัจจุบันและคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (รายไตรมาส) เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ประกอบการใช้สำหรับการวางแผนทำธุรกิจต่อไป

สารพัด “ปัจจัยลบ” รุมเร้า

โดยในช่วงไตรมาส 2/2563 นี้นอกจากปัจจัยภายนอกเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่แล้วนั้น ยังมีปัจจัยลบภายในประเทศอีกสารพัดได้แก่

1.เศรษฐกิจภายในประเทศที่เข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ทำให้มีการปิดสนามบิน และควบคุมการเดินทางเข้าประเทศแบบเบ็ดเสร็จ ภาคการผลิตขาดแคลนวัตถุดิบรวมทั้งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าและบริการไม่สามารถปรับขึ้นได้ เนื่องจากการแข่งขันที่สูงและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง

2.รายได้ภาคการท่องเที่ยวในทุกเซ็กเตอร์ลดลง ทั้งโรงแรม, บริษัทนำเที่ยว, สถานบันเทิง ร้านอาหาร และธุรกิจบริการต่างทยอยปิดตัวชั่วคราวเนื่องจากมีปัญหาด้านสภาพคล่อง

3.ปัญหาภัยแล้ง ที่คาดว่าปีนี้ก็น่าจะรุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อรายได้เกษตรกร และเป็นผลเชื่อมต่อถึงกำลังซื้อและการท่องเที่ยวภายในประเทศ

และ 4.ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์

Q2 ดัชนีเชื่อมั่นต่ำสุดรอบ 10 ปี

“ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 2/2563ที่ผ่านมา ได้ทำสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการจำนวน 770 รายระหว่างวันที่ 10-25 พฤษภาคม 2563 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการท่องเที่ยวอยู่ที่ 12 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อไตรมาส 1/2563 ที่คาดการณ์ไว้ที่ 62 สะท้อนว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ถือว่าต่ำกว่าระดับปกติมากที่สุดตั้งแต่เริ่มจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวมาตั้งปี 2553 และคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของไตรมาส 3/2563 จะอยู่ที่ 37 โดยผู้ประกอบการมีความคาดหวังว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวในไตรมาส 3 จะดีขึ้นกว่าในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าปกติอย่างมากเช่นกัน

“สำหรับการอ่านค่าดัชนีนั้นน่าจะอยู่ระหว่าง 0-200 โดยหากดัชนีสูงกว่า 100 คือ สถานการณ์ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา, เท่ากับ 100 คือสถานการณ์เหมือนกันกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากต่ำกว่า 100 หมายความว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวแย่กว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน”

ธุรกิจปิด-คนตกงาน 2.6 ล้าน

รศ.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจดังกล่าวยังพบว่า ในช่วงไตรมาส 2/2563 ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะ “ปิดกิจการชั่วคราว” ถึงราว 65% ของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมด และมีแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่วนใหญ่ตกงาน “ชั่วคราว” ในสัดส่วน 65% เช่นกัน

หากวิเคราะห์จากตัวเลขการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีประมาณ 4 ล้านคน จะพบว่าในไตรมาส 2 ที่ผ่านมามีแรงงานในภาคท่องเที่ยวราว 2.6 ล้านคนที่อยู่ในสภาวะ “ว่างงาน” โดยแรงงานเหล่านี้ได้รับเงินชดเชยรายได้จากกองทุนประกันสังคมและเงินช่วยเหลือจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”ของรัฐบาล

โดยธุรกิจที่ปิดกิจการชั่วคราวทั้งหมดคือ ธุรกิจสถานบันเทิง ธุรกิจนวด/สปา (98%), ตามด้วยธุรกิจนำเที่ยว (91%), สวนสนุก/ธีมปาร์ก (77%), โรงแรม ที่พัก (72%), คมนาคมขนส่ง (42%), ร้านอาหาร (39%) และสินค้าที่ระลึก (10%) ตามลำดับ

Q3 ตกงาน-ถูกลดเงินเดือนพุ่ง

นอกจากนี้ยังพบว่า ในไตรมาส 3/2563 นี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวราว 8%ที่คาดว่าจะลดจำนวนพนักงานของตัวเองลงราว 30% จึงคาดการณ์ว่าจะมีแรงงานให้ถูกออกและตกงานอีกประมาณ 1 แสนคนจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบ ขณะที่ผู้ประกอบการอีกประมาณ 30% ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลิกจ้างพนักงานหรือไม่และขอดูมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการไม่สามารถเปิดทำธุรกิจได้ หรือกลไกทางเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า คาดว่าจะมีสัดส่วนของการลดจำนวนพนักงานมากกว่าที่ประเมินไว้ข้างต้น เนื่องจากระยะเวลาในการชดเชยรายได้จากกองทุนประกันสังคมเหตุเนื่องจากถูกสั่งให้ปิดกิจการชั่วคราวได้ครบกำหนด 3 เดือนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านี้ สำหรับแรงงานที่ถูกจ้างเป็นรายวันหรือรายชั่วโมงนั้น สถานประกอบการราว 7% ก็มีแผนจะลดค่าจ้าง หรือเงินเดือนเช่นกัน อาทิ ธุรกิจสวนสนุก ธีมปาร์ก (17%), ตามด้วยธุรกิจนำเที่ยว (12%) ขณะที่มีผู้ประกอบการอีกเกือบ 50% ยังไม่แน่ใจและรอดูสถานการณ์การระบาดของโควิดและนโยบายรัฐบาลอีกครั้ง

รายได้ต่างชาติ 6 แสน ล.

สำหรับการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น “รศ.ผกากรอง”ระบุว่า ผลสรุปของการสำรวจครั้งนี้คาดว่าในไตรมาส 3-2563 นี้ จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 4 แสนคนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 96%และคาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 20,622 ล้านบาท ลดลง 96% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้คาดว่าในไตรมาส 4/2563จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 5.2 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 49.7% และคาดว่าจะมีรายได้ราว 253,768.1 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 50%และคาดว่าตลอดทั้งปี 2563 นี้ ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมประมาณ 12.29 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 69% และสร้างรายได้รวมประมาณ 606,403 ล้านบาท หรือลดลงจากปีก่อนราว 69% เช่นกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจัยสำคัญที่ยังต้องลุ้นคือแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และนโยบายของรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าหากเกิดการระบาดของไวรัสโควิดรอบ 2 อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดเหลือเพียงแค่ราว 8 ล้านคน หรือสร้างรายได้รวมได้เพียงแค่ประมาณ 4 แสนล้านบาทเท่านั้น…