ททท.เร่งเปิดเกมรุก! (หวัง) ฟื้นอุตฯท่องเที่ยวหลังโควิด

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถือเป็นแม่ทัพสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่รับหน้าที่ในการทำการตลาดและประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมแผนงานและทิศทางการทำการตลาดของ ททท. หลังจากที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยกำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากวิกฤตโควิดไว้ดังนี้

นทท.ต่ำสุดในประวัติศาสตร์

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ให้ข้อมูลว่า ผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้ในปี 2563 นี้ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติทางการท่องเที่ยว และก่อตั้ง ททท.มา หรือต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2496 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวหยุดชะงัก ตั้งแต่สายการบิน โรงแรม ไปจนถึงผู้ประกอบการอื่น ๆ จนหลายบริษัทต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลาย

โดย UNWTO คาดการณ์ว่า ปี 2563 ทั่วโลกจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 60-80% โดยนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกลดลงไปแล้วกว่า 67% และโลกสูญเสียรายได้ทางการท่องเที่ยวไปแล้วกว่า 80,000ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ก็ยังเชื่อว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศจะสามารถฟื้นตัวได้ภายในปีนี้

“เมื่อเทียบกับปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยจากทุกภูมิภาคลดลง 60% ไม่ว่าจะเป็น เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และรัสเซีย นอกจากนั้น ยอดจองล่วงหน้าในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมก็ลดลงราว 82-90% เช่นกัน”

ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศเริ่มฟื้นฟูกลับมาบางส่วนแล้ว โดยเฉพาะการเดินทางระยะใกล้ด้วยรถยนต์ แต่ยังคงยากที่จะบอกว่าเป็นดีมานด์แท้ หรือดีมานด์เทียม จากความต้องการเดินทางอันเนื่องมาจากความเครียด รวมถึงหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยปรับประมาณการทางเศรษฐกิจว่า จีดีพีอาจจะติดลบถึง 8.1% ก็ยิ่งทำให้ยังคงต้องจับตาการท่องเที่ยวในประเทศในระยะยาวต่อไป

รูปแบบการท่องเที่ยวเปลี่ยน

“ยุทธศักดิ์” บอกว่า ททท.จึงได้ประเมินผลกระทบต่อพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ว่า ในระยะสั้นนักท่องเที่ยวจะลดการเดินทางและปรับขนาดของกลุ่มให้เล็กลง ลดการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มในบางกลุ่ม ลดการใช้จ่ายลงเนื่องจากจำเป็นจะต้องวางแผนการเงินให้ละเอียดรอบคอบ และลดการใช้ขนส่งสาธารณะ เนื่องจากให้ความสำคัญกับความสะอาดและสุขอนามัย

ส่วนในระยะยาวเชื่อว่าความปกติใหม่จะส่งผลต่อรูปแบบการท่องเที่ยว ทำให้การท่องเที่ยวยืดหยุ่นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะวางแผนการเที่ยวล่วงหน้าสั้นลง เลือกจองตั๋วผ่านช่องทางออนไลน์ที่ยืดหยุ่น สามารถยกเลิกการจองโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ลดความถี่ในการเดินทาง เลือกไปประเทศที่มีมาตรการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว รวมถึงให้ความสำคัญกับคุณภาพและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นอกจากนั้นเชื่อว่านักท่องเที่ยวจะเลือกหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก นิยมการท่องเที่ยวกลุ่มเล็ก หรือ FIT มากขึ้น ลดการท่องเที่ยวตามฤดูกาลลง เพื่อหลีกเลี่ยงฝูงคนที่แออัด และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขอนามัยมากขึ้น

ยกระดับสุขอนามัยทุกเซ็กเตอร์

นอกจากนี้ยังมองว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะต้องยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยให้เข้มงวดมากขึ้นทั้งหมด ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่พักแรมนั้นจะต้องหันมาปรับการจองให้ยืดหยุ่นมากขึ้น และเร่งทำโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า ส่วนธุรกิจร้านอาหารนั้น ในระยะสั้นจะต้องเร่งทำโปรโมชั่นและรักษาความสะอาด รวมถึงหันมาบริการส่งอาหารถึงบ้านในระยะยาวด้วย

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจการบินในช่วงสั้น ๆ อาจจะต้องจำกัดที่นั่งต่อเที่ยวบิน พร้อมกับรักษาสุขอนามัยอย่างเต็มที่แต่ในอนาคตก็จะต้องให้ความสำคัญกับมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่เข้มงวด เช่นเดียวกับธุรกิจขนส่งทางบกในระยะยาวจะต้องให้ความสำคัญกับการเดินทางกลุ่มเล็ก และลดการใช้รถขนาดใหญ่ลง ส่วนธุรกิจอื่น ๆ นอกจากเรื่องสุขอนามัยก็จะต้องใส่ใจมาตรการตรวจสอบและลงทะเบียนมากขึ้น

ทั้งนี้ ททท.จะดำเนินงานภายใต้แนวคิดปกติใหม่ตามพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปในคอนเซ็ปต์ “BEST” ที่ย่อมาจาก booking นักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญกับการจองล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวenvironmental enthusiast นักท่องเที่ยวจะกระตือรือร้นในการดูแลธรรมชาติมากขึ้น safety นักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทางในพื้นที่ปลอดภัย และ technologyนักท่องเที่ยวจะใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสบการณ์ทางการท่องเที่ยวมากขึ้น

“หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 ไปทุกอย่างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคงเปลี่ยนไป และเชื่อว่ามาตรฐานสุขอนามัย SHA จะเป็นอาวุธลับและการเร่งทำการตลาดของ ททท.จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่เคยตั้งไว้และช่วยในการส่งเสริมจีดีพีของประเทศ”

SHA อาวุธลับท่องเที่ยวไทย

ด้าน “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยวการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ย้ำว่า มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) ที่ ททท.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขออกแบบขึ้นเพื่อที่จะยกระดับความปลอดภัยและสุขอนามัยในหมู่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย จะกลายเป็นอาวุธลับของผู้ประกอบการในการทำตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจและดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้บริการ

โดยมีธุรกิจท่องเที่ยวกว่า 10 ประเภทที่สามารถขอรับการตรวจประเมิน และขอรับตราสัญลักษณ์ SHA หากผ่านมาตรฐาน ทำให้นักท่องเที่ยวที่มีความกังวลสามารถเลือกสถานประกอบการท่องเที่ยวได้อย่างมั่นใจ

เอเชียมุ่งจับกลุ่ม “มิลเลนเนียล”

ขณะเดียวกัน “ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา” รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. อธิบายว่าสถานการณ์ต่อไปของตลาดระยะใกล้ขึ้นอยู่กับการควบคุมโรคระบาดของประเทศไทยและประเทศต้นทาง คาดว่านักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยได้จะเป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย อย่างนักธุรกิจ นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ นักศึกษา ครู หรืออื่น ๆ กลุ่มที่ 2 จะเป็นนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และเวลเนส และกลุ่มที่ 3 เป็นนักท่องเที่ยวทั่วไป โดยประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการแทรเวลบับเบิล (travel bubble) เรียบร้อยแล้ว และอาจจะ
ได้เห็นนักเดินทางคณะแรกใน 1 หรือ 2 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งเชื่อว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก และจะยังคงใช้จ่าย ชอบช็อปปิ้ง และเลือกที่พักที่สะดวกสบาย เพียงแต่อาจจะคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มที่จะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความน่าสนใจแต่กลุ่มที่ ททท.เล็งเห็นว่าจะต้องเชิญชวนเข้าสู่ประเทศไทยให้ได้ คือ “กลุ่มมิลเลนเนียล” อายุระหว่าง 20-35 ปีเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีฐานประชากรใหญ่ มีการศึกษา ใช้เทคโนโลยีเก่ง และเป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ

ดันเฮลท์ฯเจาะตลาดระยะไกล

ในขณะที่ “ศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์” รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ททท. ซึ่งเป็นผู้ดูแลตลาดระยะไกลระบุว่า หลังจากผ่านสถานการณ์โควิด-19 ก็เล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่มการแพทย์ สุขภาพ และเวลเนส โดย ททท.จะทำแคมเปญ “Global Health Insurance” ร่วมกับบริษัทประกันระดับโลก เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าของกลุ่มประกันเดินทางมารักษาโรคที่ประเทศไทย และสามารถเคลมค่ารักษาจากประกันได้

รวมถึงจะทำแคมเปญ G2G ร่วมกับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เพื่อให้ส่งข้าราชการมารักษาในประเทศไทย พร้อมทั้งเชิญชวนโรงแรมในประเทศไทยให้พัฒนารูปแบบการให้บริการด้านเวลเนส โดยร่วมกับโรงพยาบาลนำบริการตรวจสุขภาพต่าง ๆ เข้ามาให้บริการถึงห้องพัก