แผนฟื้น “การบินไทย” ไม่จบ! “ชาญศิลป์” ยันไม่มีอะไรน่าห่วง

การบินไทย
Mladen ANTONOV / AFP

ยังไม่แล้วเสร็จสำหรับกระบวนการที่ศาลล้มละลายกลางได้ทำการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลจึงกำหนดนัดไต่สวนคำร้องเพิ่มเติมอีก 2 วัน คือ วันที่ 20 สิงหาคม และวันที่ 25 สิงหาคมนี้

“ชาญศิลป์” ยันไม่น่าเป็นห่วง

“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” กรรมการบริษัท และรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) บอกว่า ในวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาไต่สวนใน 2 ประเด็น ประกอบด้วย ควรสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอมาหรือไม่โดยมีเจ้าหนี้เพียง 10 กว่ารายเท่านั้น ที่ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และประเด็นที่คัดค้านก็ไม่น่าหนักใจ เพราะเป็นประเด็นที่สามารถชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้ ประกอบกับขณะนี้มีเจ้าหนี้รายใหญ่หลายราย รวมทั้งกระทรวงการคลัง ที่ได้ลงนามในหนังสือให้การสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และไม่คัดค้านคณะผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอ ซึ่งคิดเป็นจำนวนรวมมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหนี้ ตามงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2563 ของการบินไทย จึงเชื่อว่า “การบินไทย” ได้แสดงพยานหลักฐานต่อศาลอย่างเต็มที่แล้วว่า การบินไทยสมควรได้รับการฟื้นฟูกิจการ และคณะผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอมีความเหมาะสม

ซัด “อีวายฯ” ไร้ประสบการณ์

ทั้งนี้ ในกระบวนการไต่สวน ทนายฝ่ายเจ้าหนี้ซักค้านว่า นายชาญศิลป์ทราบหรือไม่ว่า บริษัท อีวายฯ มีทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาท เป็นคนละบริษัทกับบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด ผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีเครือข่ายระดับโลก และก็ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารงานธุรกิจการบินและธุรกิจที่มีรายได้มากกว่าแสนล้านมาก่อน รวมถึงเมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำแผน บริษัท อีวายฯ จะเข้ามามีอำนาจในการอนุมัติการดำเนินการต่าง ๆร่วมกับคณะผู้จัดทำแผนอีก 6 คน และที่ผ่านมา ประวัติการจัดทำแผนให้บริษัทสหฟาร์ม ของบริษัท อีวายฯ สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ในสัดส่วนอันน้อยนิดในทั้ง 2 ประเด็นนี้ “ชาญศิลป์” ตอบว่า ไม่ทราบยันกระบวนการคัดเลือกโปร่งใส

ส่วนประเด็นที่ในแผนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการยังไม่ได้ระบุค่าจ้างในการจัดทำแผนที่จะต้องจ่ายให้กับอีวายฯ นั้น “ชาญศิลป์” ตอบว่า จริง และบอกว่าในอนาคตการจ่ายค่าจ้างในการจัดทำแผนจะต้องขอความเห็นชอบจากศาลอีกครั้งอยู่แล้ว

พร้อมทั้งระบุว่า แม้อีวายฯ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบิน เนื่องจากในประเทศไทยไม่มีธุรกิจการบินและธุรกิจที่มีรายได้ระดับแสนล้านบาทที่จะต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการมาก่อน แต่ก็เชื่อว่าอีวายฯ ก็มีความรู้ความสามารถด้านอื่น ๆอย่างการเงิน การบัญชี ฯลฯ และได้ผ่านการคัดกรองของคณะกรรมการคัดเลือกบริษัทผู้จัดทำแผนของบริษัท การบินไทย อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัท

อย่างไรก็ตาม หากว่าในอนาคตการบินไทยไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ตามกำหนดก็จะยื่นขอยืดเวลาการฟื้นฟูกิจการออกไปตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป

วอน “เจ้าหนี้” มั่นใจ

“ชาญศิลป์” ยังบอกด้วยว่า อยากฝากความมั่นใจไปยังเจ้าหนี้ทุกรายว่า หากศาลมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ และตั้งคณะผู้ทำแผนในระยะเวลาอันใกล้จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเจ้าหนี้ทุกรายเพราะกระบวนการฟื้นฟูกิจการจะไม่ล่าช้าและการบินไทยจะสามารถเริ่มต้นแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินได้โดยเร็ว

“หากกระบวนการไต่สวนเสร็จสิ้น และศาลมีคำสั่งให้การบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ พร้อมตั้งคณะผู้ทำแผนได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วกรมบังคับคดีจะดำเนินการแจ้งเจ้าหนี้

ทุกรายให้ทราบถึงขั้นตอนการลงทะเบียน เพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่านระบบออนไลน์หรือที่บริษัท เพื่อที่การบินไทยและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหนี้ ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ โดยการบินไทยจะประชาสัมพันธ์รายละเอียดวัน เวลา และสถานที่ต่อไป”

และคาดว่าจะเชิญเจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ มารับฟังการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น เพื่อให้ได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการได้ภายใน 1-2 เดือน

ย้ำสมาชิก ROP ไม่ใช่เจ้าหนี้

“ชาญศิลป์” ย้ำด้วยว่า สำหรับลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสาร (refund) นั้นการบินไทยได้มีนโยบายที่จะอำนวยความสะดวก และรักษาสิทธิของทุกคนในการได้รับคืนค่าบัตรโดยสารอย่างเต็มที่ โดยคณะผู้ทำแผนได้หารือกันเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดส่วนนี้ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว

ส่วนสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์ Royal Orchid Plus (ROP) นั้นไม่ใช่เจ้าหนี้ แต่การบินไทยยังคงตระหนักถึงความสำคัญของสมาชิก ROP และมุ่งมั่นที่จะมอบสิทธิประโยชน์ให้สมาชิกอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้ทุกท่านมั่นใจได้ว่าสิทธิในฐานะสมาชิก ROP จะยังคงมีอยู่ตามเดิม โดยที่ไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ หรือดำเนินการทางกฎหมายภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด

ยันจัดทำแผน 37 ล้านเหมาะสม

ด้าน “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” หนึ่งในคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ บอกว่าสำหรับตนทราบว่าอีวายฯ มีทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาท และได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการบริษัท เนื่องจากมีความสามารถในการประสานงานกับเจ้าหนี้ทั้งไทยและต่างประเทศ แต่ไม่ทราบว่าอีวายฯ ไม่เคยบริหารงานหรือจัดทำแผนให้กับรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่มีรายได้หลักแสนล้านมาก่อน และไม่ทราบประวัติการทำงานของกรรมการอีวายฯ

ทั้งนี้ เชื่อว่ากรรมการอีวายฯ มีความรู้ความสามารถแตกต่างกับคณะผู้จัดทำแผนทั้ง 6 ท่านของการบินไทย ส่วนเรื่องการจัดทำแผนให้กับบริษัท สหฟาร์ม นั้น ตนทราบเรื่องดี แต่เข้าใจว่าอยู่ระหว่างกระบวนการฟื้นฟูกิจการและการชำระหนี้ยังไม่แล้วเสร็จ

ส่วนผลตอบแทนที่จะต้องจ่ายให้อีวายฯ นั้นแบ่งเป็นค่าจัดทำแผนฟื้นฟู 22 ล้านบาท แบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ และค่าดำเนินการเดือนละ 15 ล้านบาท ที่ต้องชำระทุกเดือนจนกว่าศาลจะเห็นชอบด้วยแผน โดยปัจจุบันยังไม่มีการจ่ายผลตอบแทนให้กับอีวายฯ แต่อย่างใด

มั่นใจ “แผน” สำเร็จ

ส่วนในกรณีคำถามที่ว่า หากการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ไม่สำเร็จ การบินไทยจะกลับมาขอฟื้นฟูกิจการอีกหรือไม่”ปิยสวัสดิ์” บอกว่า หากแผนฟื้นฟูฯได้รับการเห็นชอบจะสามารถเดินหน้าได้ตามที่กำหนดไว้ ช่วยลดต้นทุนให้การบินไทยเดินหน้าเจรจาเจ้าหนี้เรื่องการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้การบินไทยสามารถหาเงินเข้ามาบริหารจัดการได้ โดยมั่นใจว่าแผนจะสำเร็จตามที่วางไว้ และเชื่อว่าการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการยืดเวลาชำระหนี้ แต่ยังเป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างองค์กร ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกด้าน เพื่อเพิ่มโอกาสในการหารายได้และลดต้นทุนที่อาจจะเกิดขึ้น

“อีวายฯ” ย้ำประกวดราคาถูกต้อง

ขณะที่ “ชุติมา ปัญจโภคากิจ” กรรมการ บริษัท อีวายคอร์ปอเรทแอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ให้ข้อมูลต่อศาลว่า บริษัทได้รับการติดต่อจากการบินไทยให้เข้าประกวดเสนอแผน พร้อมกับบริษัทที่ปรึกษาอีก 1 บริษัท ก่อนจะได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาทำงานในฐานะผู้จัดทำแผน แต่หลังจากกระทรวงการคลังถอนหุ้นออกจากการบินไทย และการบินไทยหมดสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้บริษัทไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องข้อกําหนดของผู้ว่าจ้างที่เป็นรัฐวิสาหกิจ (term of reference : TOR)

ส่วนประเด็นเรื่องที่ว่าไม่มีประสบการณ์ในการบริหารบริษัทที่มีมูลค่าหลักแสนล้านและบริษัทที่ทำธุรกิจการบินนั้น “ชุติมา” ยืนยันว่า ไม่เคยมีธุรกิจใดที่มีรายได้หลักแสนล้านในเมืองไทยเคยต้องเข้าฟื้นฟูมาก่อน บริษัทจึงไม่มีประสบการณ์ตรงนี้ แต่บริษัทได้แจ้งรายละเอียดไว้ในเงื่อนไขตั้งแต่ขั้นต้นแล้วว่า จะต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน (airline expert) และบริษัทลูกหนี้คงต้องจับตาดูและลุ้นกันต่อไปว่าศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผน ตามที่ “การบินไทย” เสนอไปหรือไม่ อย่างไร ซึ่งคนวงในหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า ทุกอย่างน่าจะสรุปได้ในไม่ช้านี้แน่นอน