มิติใหม่ “มาตรฐาน” เที่ยวไทย ต่างชาติเข้าไทยจ่าย 300 เข้ากองทุน

นักท่องเที่ยว

จากการประกาศใช้ พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับปรับปรุง 2562 มาตั้งแต่ 20 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมานั้นสาระสำคัญประการหนึ่งของ พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ คือ การกำหนดให้รัฐสามารถจัดเก็บเงินค่าประกันภัยจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและนำมาบริหารรูปแบบกองทุน

เคาะเก็บ 300 บาทต่อคน

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติครั้งที่ 1/2564 เมื่อ14 มกราคมที่ผ่านมามีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 300 บาทต่อคน เพื่อสมทบเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายในการบริหารพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงจัดให้มีการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติระหว่างที่เดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รายได้ที่ได้จากการจัดเก็บทั้งหมดจะเข้ากองทุน จากนั้นจะนำส่วนหนึ่งทำประกันให้กับนักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยคุ้มครองอุบัติเหตุ 5 แสนบาท และเสียชีวิต 1 ล้านบาท

โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวนี้ ทั่วไปเรียกกันว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ซึ่งอัตราการจัดเก็บดังกล่าวนั้นเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น (Sayanara Tax) จัดเก็บ 1,000 เยน หรือประมาณ 300 บาทเช่นกัน

เก็บทันทีหลัง ครม.เห็นชอบ

พร้อมย้ำว่า ข้อดีของการเก็บค่าธรรมเนียมตาม พ.ร.บ.ใหม่ คือ ทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมีกองทุนสำรองไว้ใช้เมื่อเกิดวิกฤต ยกตัวอย่างกรณีการแพร่ระบาดโควิดรอบนี้หากกองทุนมีเงิน 1-2 หมื่นล้านบาท จะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวได้ทันที เป็นต้น

“รมต.พิพัฒน์” ระบุว่า ขั้นตอนต่อไปต้องให้สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไปดำเนินการจัดทำประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมจัดเก็บ รวมถึงกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแล้วนำเสนอต่อที่ประชุม ท.ท.ช. และที่ประชุมครม. ต่อไป หลังครม.อนุมัติก็จะจัดเก็บทันที

“กองทุน” มิติใหม่ท่องเที่ยวไทย

“วิชิต ประกอบโกศล” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และมองว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะมีการจัดเก็บและมีกองทุนเพื่อการท่องเที่ยว เนื่องจากเราไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้าภาคธุรกิจท่องเที่ยวเราจะเจอกับวิกฤตอะไรอีก

“เวลาเกิดวิกฤตทางการท่องเที่ยว เราจะได้มีเงินมาช่วยเหลือ เยียวยา โดยไม่ต้องรองบประมาณจากรัฐบาล ถือเป็นมิติใหม่ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยที่จะมีเงินทุนสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉินและสามารถรับมือวิกฤตได้ทันท่วงที”

“อัตราการจัดเก็บ 300 บาทนั้นไม่น่าจะเป็นปัญหา หรือเป็นสาระสำคัญต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว เพราะการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้นเฉลี่ยอยู่ที่ราว 50,000 บาท ที่สำคัญหลายประเทศเขาก็ทำกัน เช่น ญี่ปุ่น, มาเลเซีย เป็นต้น”

แนะเปิดทางเอกชนร่วมบริหาร

ด้าน “ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในฐานะภาคเอกชนเห็นด้วยกับแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนเข้ากองทุนดังกล่าว แล้วนำไปซื้อประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศก็จัดเก็บเช่นกัน และน่าจะเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ช่วยยกระดับในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่ดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าหากรัฐอยากสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเที่ยวได้ทุกคนอยากเสนอให้ประกันที่ซื้อให้นักท่องเที่ยวนั้นครอบคลุมถึงประกันโรคโควิดด้วย เนื่องจากวันนี้
นักท่องเที่ยวหยุดเดินทางเพราะไม่เชื่อมั่นเรื่องโควิดด้วย

ประธาน สทท.ยังเสนอด้วยว่า หากเป็นไปได้อยากให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและบริหารจัดการกองทุนดังกล่าวร่วมกับทางหน่วยงานภาครัฐด้วย อาทิ ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ซึ่งดูแลตลาดอินบาวนด์, ประธานท่องเที่ยวภูมิภาค เป็นต้น

โดยรูปแบบการดำเนินงานอาจต้องตั้งเป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน หรือคณะทำงาน เพื่อให้ทุกฝ่ายมีโอกาสร่วมคิด ร่วมทำ และบรรลุเป้าหมายเดียวกัน

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ประเทศไทยจะประกาศใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวนี้เมื่อไหร่ ที่สำคัญถึงเวลานั้นประเทศไทยของเราจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทาง
เข้ามาแล้วหรือยัง !