เจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์กลับลำหนุน “ชาญศิลป์” เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย

เจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์หนุนชาญศิลป์

ผู้บริหาร “การบินไทย” เดินสายล็อบบี้โหวตผ่านแผนฟื้นฟู วงในเผยล่าสุด “ชาญศิลป์-ปิยสวัสดิ์” นำทีมคณะผู้ทำแผนกล่อมเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์หุ้นกู้สำเร็จแล้ว พร้อมเสนอชื่อ “ชาญศิลป์” เป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารแผน

​วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความเคลื่อนไหวของการดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการว่า ที่ผ่านมานายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (DD) และคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ (นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์) เจรจาเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์หุ้นกู้ ซึ่งเป็นกลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่มีมูลหนี้รวมกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 62% ของหนี้หุ้นกู้ทั้งหมด (7.4 หมื่นล้านบาท) ได้สำเร็จแล้ว หลังเปิดโต๊ะเจรจากันมาแล้วหลายครั้ง และก่อนหน้านี้กลุ่มเจ้าหนี้สหกรณ์ก็ได้แสดงท่าทีหลายต่อหลายครั้งว่าไม่เห็นด้วยกับคณะผู้ทำแผนชุดเดิม

ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์หุ้นกู้ได้ยื่นเสนอชื่อ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ให้เป็นหนึ่งในผู้บริหารแผนฟื้นฟู ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้กลุ่มของผู้ทำแผนเดิม ซึ่งนำโดยนายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ มีบทบาทสำคัญอีกครั้งในการบริหารแผนของสายการบินแห่งชาติ

แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ผู้บริหารแผนจะมีจำนวนทั้งสิ้น 5 คน ประกอบด้วย นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์, นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ส่วนอีก 3 คนที่เหลือจะเป็นคนที่มาจากกลุ่มเจ้าหนี้ธนาคาร 2 คน (ธนาคารกรุงเทพ) และตัวแทนกระทรวงการคลังอีก 1 คน

“เป็นที่ทราบกันว่านับตั้งแต่มีการตั้งผู้ทำแผน กลุ่มที่มีอำนาจจัดการเบ็ดเสร็จคือกลุ่มของนายปิยะสวัสดิ์และนายชาญศิลป์ แม้ว่าในระหว่างทำแผนจะมีการท้วงติงจากหลายภาคส่วน รวมถึงในกลุ่มผู้ทำแผนเอง แต่ก็ไม่สามารถทำให้แผนฟื้นฟูต่างๆ ที่ออกมาเป็นไปตามทิศทางที่ควรจะเป็น”

นอกจากนี้ นับตั้งแต่มีการทำแผนฟื้นฟู มีการปรับโครงสร้างบริษัท อาทิ การขายทรัพย์สิน การขายหุ้น ฯลฯ เพื่อนำเงินสดมาใช้หมุนเวียน หรือการปรับลดพนักงาน และตั้งผู้บริหารระดับสูง ฯลฯ ก็ยังมีข้อครหาต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นการตั้งคนของตัวเองเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ทำให้พนักงานบางส่วน เกือบ 2,000 คนยังคัดค้าน โดยปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือก แต่ผู้บริหารระดับสูงยังเดินหน้าทำโครงการปรับโครงสร้างแต่งตั้งผู้บริหารโดยไม่สนใจเสียงท้วงติง

แหล่งข่าวกล่าวว่าประเด็นที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงในขณะนี้คือ หลังจากที่แผนฟื้นฟูผ่านความเห็นชอบของเจ้าหนี้แล้วสายการบินแห่งชาติจะเดินต่อไปอย่างไร เพราะคนทำงานตามโครงสร้างใหม่ล้วนเป็นคนของนายปิยะสวัสดิ์และนายชาญศิลปทั้งสิ้น

ขณะที่กลุ่มสหกรณ์หุ้นกู้เป็นเจ้าหนี้การบินไทยอยู่รวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท ถือเป็นกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีนัยสำคัญ แต่ไม่มีตัวแทนของกลุ่มมาเป็นผู้บริหารแผนแม้แต่เพียงคนเดียว ต่างจากเจ้าหนี้กลุ่มธนาคารที่มีสัดส่วนหนี้โดยรวมน้อยกว่ามาก แต่สามารถตั้งตัวแทนมาเป็นผู้บริหารแผนได้ถึง 2 คน

“ตอนนี้หลายคนมองว่าน่าจะเป็นเพราะเหตุนี้นายชาญศิลป์จึงอาศัยคอนเนคชั่นที่มีอยู่ ยืมมือเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์หุ้นกู้ให้เสนอชื่อตนเองเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะผู้บริหารแผน โดยแลกเปลี่ยนกับเงื่อนไขที่เจ้าหนี้กลุ่มนี้พอใจ” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

การกลับเข้ามาคุมอำนาจของกลุ่มผู้ทำแผนเดิมไม่น่าจะเป็นความเห็นชอบจากรัฐบาล เพราะถ้าเป็นความเห็นชอบจากรัฐบาล ก็สามารถสั่งการให้บริษัทอีวาย (หนึ่งในผู้ทำแผน) นำชื่อยื่นขอแก้ไขได้อยู่แล้วเหมือนกับการแก้ไข นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ออกจาการเป็นผู้บริหารแผนไปก่อนหน้านี้

“การที่กลุ่มสหกรณ์หุ้นกู้ยอมตามที่นายชาญศิลป์ต้องการ แลกกับข้อเสนอบางอย่าง รวมถึงการได้เข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการเจ้าหนี้ ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้น่าเป็นห่วงว่าสุดท้ายแล้วการบินไทยจะรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ไปได้จริงหรือไม่” แหล่งข่าว