ภูเก็ต แซนด์บอกซ์ (Phuket Sandbox) ดีเดย์ 1 ก.ค. 64 รวมเรื่องต้องรู้

รวมทุกเรื่องเกี่ยวกับภูเก็ตแซนด์บอกซ์
REUTERS/Jorge Silva

ในที่สุดวันที่ 1 กรกฎาคม 25634 วันแห่งการเริ่มต้น “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” (Phuket Sandbox) โครงการที่ผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตตั้งตารอคอยก็มาถึง ด้วยความหวังว่าจะเป็นโครงการต้นแบบรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่สามารถขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมทุกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับ “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” ดังนี้

ภูเก็ต แซนด์บอกซ์ (Phuket Sandbox) คืออะไร ?

แผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่อนุญาตให้นักเดินทางต่างชาติที่ได้วัคซีนครบโดสแล้ว สามารถเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว และเที่ยวใน จ.ภูเก็ต ได้ 14 วัน โดยไม่ต้องกักตัวในห้องพัก ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในไทย หากผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19

ภูเก็ต แซนด์บอกซ์ เริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ก่อนที่ประเทศไทยจะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ โดยภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกของไทยที่มีการดำเนินการตามแผนของโครงการ “แซนด์บอกซ์” นี้

ภูเก็ต แซนด์บอกซ์ กับ ภูเก็ต โมเดล เกี่ยวกันอย่างไร ?

“ภูเก็ตโมเดล” เป็นแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจำกัดพื้นที่ ซึ่ง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้นำเสนอ และได้ผ่านความเห็นชอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. รวมถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 25 สิงหาคม 2563 เดิมวางแผนจะเริ่มโครงการในวันที่ 1 ตุลาคม 2563

แต่ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่รับพิจารณาแผนดังกล่าว พร้อมสั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯนำกลับไปพิจารณาก่อนนำมาเสนอใหม่ เนื่องจากสถานการณ์การควบคุมไวรัสโควิด-19 ของไทยในขณะนั้นยังอยู่ในภาวะเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น

แหล่งข่าวเผยว่า นายกฯต้องการให้พิจารณาอย่างรอบคอบ แนวทางการบริหารจัดการจึงต้องรัดกุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดอีกรอบ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ และเชื่อว่านายกฯได้รับทราบข้อมูล ที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะให้สิทธิ์ บริษัท ไทยจัดการลองสเตย์ จำกัด หรือไทยแลนด์ ลองสเตย์ ดำเนินการทั้งติดต่อที่พัก ทำเอกสาร ยื่นขอวีซ่า ฯลฯ สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการพำนักในประเทศไทยระยะยาว (long stay) กระทั่งเกิดเป็นประเด็นคำถามว่าทำไมต้องให้สิทธิ์ไทยแลนด์ ลองสเตย์ เพียงรายเดียว ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลอาจถูกตั้งคำถาม และตอบสังคมยาก

“นายกฯสั่งให้ไปกลับไปทำแผนมาใหม่ พร้อมบอกว่าไม่เอาชื่อภูเก็ตโมเดลด้วย ขณะที่ รมว.การท่องเที่ยวฯก็ยังคงผลักดันเรื่องนี้เต็มที่ เพราะอยากให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มที่คิดว่าสามารถบริหารจัดการได้ และเป็นกลุ่มที่ต้องการเข้ามาอยู่ยาวไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจในเมืองท่องเที่ยวเดินหน้าต่อไปได้” แหล่งข่าวกล่าว

รัฐบาลคาดหวังอะไรจาก “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์”

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประมาณการนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ภายใต้โครงการภูเก็ต แซนด์บอกซ์ จำนวน 100,000 คน ในไตรมาส 3 (เดือน ก.ค.-ก.ย. 64) ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้อยู่ที่ 8,900 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวนี้ เป็นอัตราที่ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ที่ 129,000 คน และสร้างรายได้กว่า 11,492.2 ล้านบาท

มาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าภูเก็ต

1.การเดินทางเข้าภูเก็ตจากต่างประเทศ

  • เดินทางจากประเทศที่กำหนด โดยพำนักในประเทศที่กำหนดอย่างน้อย 21 วัน
  • มีหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (COE)
  • ได้รับวัคซีนครบโดส อย่างน้อย 14 วัน โดยต้องเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ องค์การอนามัยโลก (WHO)
  • กรณีเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบ สามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องมีใบรับรองว่าไม่มีเชื้อโควิด ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง
  • มีกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งรวมถึงกรณีโรคโควิด ในวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • มีหลักฐานชำระค่าที่พัก 14 วัน และค่าตรวจโควิดจำนวน 3 ครั้ง
  • ผ่านการตรวจโควิด ด้วยวิธี RT-PRC ใน 3 ระยะเวลาดังต่อไปนี้
  1. ครั้งที่ 1 ณ วันที่เดินทางถึงภูเก็ต (วันที่ 0)
  2. ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-7
  3. ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 12-13
  • หลังจากเข้าพักในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ (SHA Plus) ในจังหวัดภูเก็ตเป็นระยะเวลา 14 คืน จึงสามารถเดินทางออกไปจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทยได้
  • ติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus และ Tracing Application : Morchana เมื่อเดินทางออกจากภูเก็ตเมื่อครบ 14 วัน
  • โดยต้องมีหลักฐานยืนยันการตรวจหาเชื้อโควิด ที่แสดงว่าตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 14 คืนที่พำนักอยู่ในจังหวัดภูเก็ต

2.การเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตจากภายในประเทศ

  1. ต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด ครบ 2 เข็ม หรือครบโดสตามจำนวนวัคซีนแต่ละชนิด
  2. ได้รับวัคซีนชนิดแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 1 เข็ม มาแล้ว เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน
  3. ผลตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test ผลเป็นลบ อายุไม่เกิน 7 วันก่อนการเดินทาง
  4. หากเป็นผู้ป่วยด้วยโรคโควิด ซึ่งได้รับการรักษาหายมาแล้วไม่เกิน 90 วัน ต้องมีหนังสือรับรองการได้รับการรักษา (ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 1-2)
  5. นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ภายในจังหวัดภูเก็ต และไม่จำเป็นต้องอยู่ภูเก็ตถึง 14 วัน

อยู่ภูเก็ตน้อยกว่า 14 วัน ต้องใช้เอกสารอะไร ?

หลักฐานใบเสร็จชำระค่าที่พักและค่าตรวจโควิด พร้อมบัตรโดยสารเครื่องบินระบุเวลาออกนอกราชอาณาจักร

มาถึงวันแรก เที่ยวรอบภูเก็ตเลยได้หรือไม่ ?

ไม่ได้ วันที่ 1 ต้องกักตัวในห้องพัก หากผลโควิดเป็นลบจึงจะท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ หากผลตรวจเป็นบวก จะส่งรักษาตัวต่อไป

หากผลโควิดเป็นบวก

  • ในกรณีที่นักท่องเที่ยวมีผลโควิดเป็นบวก จะถูกส่งตัวไปยังสถานพยาบาลเพื่อรับการรักษา
  • ผู้ที่มีอาการใดอาการหนึ่งของโรคโควิดจะต้องเข้ารับการตรวจทันที
  • หากเดินทางเป็นหมู่คณะ ทุกคนในกลุ่มจะต้องตรวจโควิดเช่นกัน
  • กรณีพบว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อโควิด จะต้องแยกเด็กออกจากกันเป็นเวลา 14 วัน

เมื่ออยู่ใน “แซนด์บอกซ์” ต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ ?

ต้องใส่หน้ากากอนามัย และปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดตามมาตรการ DMHTTA ดังนี้

  • D : Distancing เว้นระยะห่าง
  • M : Mask wearing สวมหน้ากาก
  • H : Hand washing ล้างมือบ่อยๆ
  • T : Temperature ตรวจวัดอุณหภูมิ
  • T : Testing ตรวจเชื้อโควิด
  • A : Application Thaichana ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ

ครม.อนุมัติ “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” ให้ประเทศ/พื้นที่ใดบ้าง ?

รายชื่อประเทศ/พื้นที่ ครม.อนุมัติเข้าภูเก็ต แซนด์บอกซ์

ความพร้อมเรื่องเที่ยวบิน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่า เบื้องต้น 1 กรกฎาคมนี้ มีสายการบินจำนวน 4 ราย ให้บริการบินตรงเข้าภูเก็ต ดังนี้

  1. สายการบินเอทิฮัด เส้นทางอาบูดาบี-ภูเก็ต
  2. กาตาร์แอร์เวย์ เส้นทางดูไบ-ภูเก็ต
  3. สายการบินอิสราเอล EL AL เส้นทางเทลองวีฟ-ภูเก็ต
  4. สิงคโปร์แอร์ไลน์ เส้นทางสิงคโปร์-ภูเก็ต

จากนั้นวันที่ 3 กรกฎาคม จะเป็นเที่ยวบินของสายการบินไทยจาก 3 เดสติเนชั่นในภูมิภาคยุโรปบินตรงเข้าภูเก็ต ดังนี้

  1. เส้นทางโคเปนเฮเกน-ภูเก็ต
  2. เส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต
  3. เส้นทางปารีส-ภูเก็ต

ทั้ง 3 เส้นทางออกจากต้นทางวันที่ 2 กรกฎาคม

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 เส้นทางบินในวันที่ 4 กรกฎาคม ดังนี้

  1. เส้นทางลอนดอน-ภูเก็ต
  2. เส้นทางซูริก-ภูเก็ต (ออกเดินทางจากต้นทางวันที่ 3 กรกฎาคม)

โดยทั้ง 5 สายการบินดังกล่าว จะบินตรงเข้าภูเก็ตตามตารางตลอดเดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ ตลอดเดือนกรกฎาคม 2564 มียอดจอง Booking ของผู้โดยสารที่จะเข้าร่วม ภูเก็ต แซนด์บอกซ์ ประมาณ 11,894 คน ข้อมูลจาก 6 สายการบิน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้าประมาณ 8,281 คน ขาออก 3,613 คน คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินทั้งหมดประมาณ 426 เที่ยวบิน เฉลี่ยที่ประมาณ 13 เที่ยวบิน/วัน

5 เงื่อนไขยกเลิก “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์”

  1. มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 ราย/สัปดาห์
  2. เกิดลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล
  3. มีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือมีการระบาดในวงกว้าง หาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้
  4. เรื่องความพร้อมในการรองรับผู้ป่วย กรณีมีผู้ติดเชื้อครองเตียงโรงพยาบาล ตั้งแต่ 80% ของศักยภาพของจังหวัด
  5. มีการพบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้าง แบบควบคุมไม่ได้

มาตรการตั้งรับ 4 ระดับ

  1. ปรับลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถดำเนินการ
  2. ใช้มาตรการ Sealed Route เส้นทางการท่องเที่ยว
  3. มาตรการกักตัวภายในสถานที่พัก (Hotel Quarantine)
  4. ทบทวนยุติโครงการ Phuket Sandbox

ท้ายที่สุด หาก “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ประสบความสำเร็จ โครงการรูปแบบนี้จะขยายไปยังจังหวัดอื่น ทั้ง กระบี่ พังงา เชียงใหม่ พัทยา และบุรีรัมย์ จึงนับเป็นเดิมพันครั้งสำคัญสำหรับรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี