โรงแรมติดหล่มยาว “ขาใหญ่-บิ๊กแบรนด์” อ่วมขาดทุน

โรงแรม

ในช่วงไตรมาส 2/2564 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่กลับมาเริ่มส่งสัญญาณหนักขึ้นในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2564

โดยจากข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าในเดือนเมษายน 2564 ธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศมีอัตราการเข้าพักโดยรวมเฉลี่ยที่ 14.63% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักเพียงแค่ 2.23%

ดุสิตฯรายได้เพิ่ม แต่ขาดทุน

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ซีอีโอกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ให้ข้อมูลผลประกอบการในไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน 2564) ว่ามีรายได้รวม 587 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 163 ล้านบาท คิดเป็น 38.4% แต่ยังคงมีผลขาดทุนสุทธิ 376 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว 17%

ขณะที่รายได้ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1,898 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกของปีก่อน 15.3% โดยยังมีผลขาดทุน 302 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ขาดทุน 535 ล้านบาท

“ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องปิดให้บริการชั่วคราวทั้งโรงแรมในประเทศไทยและในต่างประเทศ ส่วนปีนี้โรงแรมยังสามารถเปิดให้บริการได้ ทำให้รายได้ไม่ได้หยุดชะงักเหมือนปีก่อน”

“นอกจากนี้ยังมีรายได้จากธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศและรายได้จากการขยายธุรกิจอาหารให้กับโรงเรียนนานาชาติในเวียดนามมาช่วยเสริม และมีกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทร่วม รวมถึงควบคุมต้นทุนอย่างเข้มงวด ทำให้ขาดทุนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา”

“เซ็นเทล” ขาดทุนพุ่ง 607 ล้าน

เช่นเดียวกันกับ “ดร.รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์” รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ที่ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 2/2564 บริษัทมีรายได้รวม 2,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 354 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรม 12% และธุรกิจอาหาร 88%

โดยมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 652 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 186 ล้านบาท หรือ -40% เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ดีเมื่อรวมรายการพิเศษจากการกลับรายการด้อยค่าสินทรัพย์จำนวน 45 ล้านบาท ทำให้ขาดทุนสุทธิ 607 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141 ล้านบาท หรือ -30% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขรวมครึ่งปีแรกพบว่า มีรายได้รวม 5,463 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 จำนวน 1,475 ล้านบาท หรือลดลง 21% โดยมีสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรม 15% และจากธุรกิจอาหาร 85% และขาดทุนสุทธิ 1,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 571 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือลดลง 112%

“ดิ เอราวัณ” รายได้ลดทุกกลุ่ม

สำหรับบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW นั้น จากข้อมูลรายงานต่อสำนักงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2 ของปี 2564 มีรายได้รวม 269 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 690 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2564) นั้นมีรายได้รวมจากการดำเนินงาน 659 ล้านบาท ลดลง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีผลขาดทุนสุทธิเท่ากับ 1,182 ล้านบาท

พร้อมระบุด้วยว่า ในไตรมาส 2 ปีนี้ภาพรวมธุรกิจโรงแรมยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิดที่รุนแรงกว่าไตรมาสก่อนหน้า และส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลให้การดำเนินงานปรับตัวลดลงจากไตรมาส 1

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถือว่าปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 นั้นเป็นช่วงเวลาที่บริษัทปิดให้บริการโรงแรมเป็นการชั่วคราวในประเทศไทยทั้งหมด 66 แห่ง และโรงแรมในฟิลิปปินส์ 5 แห่ง

“หากเทียบกับไตรมาสแรกโรงแรมในประเทศไทยในไตรมาส 2 ปรับตัวลดลงในทุกกลุ่มโรงแรมและทุกพื้นที่ และได้รับผลกระทบทั้งในส่วนของรายได้ส่วนห้องพักและร้านอาหาร อัตราการเข้าพักของโรงแรมในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 20 ขณะที่ค่าห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 แต่รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักลดลงร้อยละ 27”

AWC ยันมั่นใจเที่ยวไทย

ด้านบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ได้รายงานต่อสำนักงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทมีรายได้รวมตามงบการเงินในไตรมาส 2/2564 เท่ากับ 1,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รายได้รวมจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.3

ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราการเข้าพักของโรงแรมที่ปรับตัวดีขึ้น และได้รับกำไรจากการตีราคามูลค่ายุติธรรมในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2 นี้ บริษัทมีกำไร (ขาดทุน) สุทธิ -198 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนงบการเงินสำหรับครึ่งแรกปี 2564 นั้นมีรายได้เท่ากับ 2,655 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19.9 และมีกำไร (ขาดทุน) สุทธิ ตามงบการเงิน -792 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 77.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากวิกฤตการณ์ COVID-19 ระลอก 2 และระลอก 3 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และบริษัทได้รับผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (hospitality)

ทั้งนี้ หากโฟกัสเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (hospitality) ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 337 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 161.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการของบริษัทลดลงร้อยละ 20.2

“ในช่วง 6 เดือนแรก บริษัทมีรายได้ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมรวม 759 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 54.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักเกิดจากผลกระทบของไวรัสโควิดแทบทั้งสิ้น”

พร้อมย้ำว่า อย่างไรก็ตาม AWC ยังคงเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยในระยะยาวว่าจะสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้อีกครั้ง