“พิพัฒน์” ขับเคลื่อนท่องเที่ยวสู่มิติใหม่

พิพัฒน์ รัชกิจประการ
พิพัฒน์ รัชกิจประการ

สำหรับปี 2565 นี้ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีแผนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยภายใต้หัวข้อ “พลิกฟื้นการท่องเที่ยว สู่มิติใหม่… เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า” พร้อมได้มอบนโยบายกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปเรียบร้อยแล้ว

โดยระบุว่า “กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย จะใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการนำพาประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจ สร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

และจะพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้น “คุณค่า” หรือการท่องเที่ยวที่สร้างการเติบโตที่ตอบโจทย์ 3 ข้อคือ ทั่วถึง สมดุล และยั่งยืน

1.การเติบโตอย่างทั่วถึง คือ การท่องเที่ยวที่สร้างการเติบโตในทุกมิติที่คนในสังคมมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น การทำให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน และการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวใช้วัตถุดิบจากในพื้นที่ใกล้เคียง กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และสร้างการจ้างงาน เป็นต้น

2.การเติบโตอย่างสมดุล คือ การมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุลในทุกมิติ โดยปัญหาเรื่องความสมดุลที่ผ่านมา เช่น ช่วงเวลา จำนวนนักท่องเที่ยว กลุ่มเป้าหมาย เมืองหลัก เมืองรอง ฯลฯ

โดยแนวทางการสร้างความสมดุลคือ ใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาบริหารจัดการ, การกำหนดวันหยุด/วันทำงาน เหลื่อมเวลา/ทำงานทั่วไทย (work from anywhere), เที่ยวทั่วไทยได้ทั้งปี, ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน, แบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างนักการตลาดและนักพัฒนาสินค้าด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ

และ 3.เติบโตอย่างยั่งยืน คือ พัฒนาและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวให้เป็นเครื่องมือในการสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสีขาว ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG การมุ่งเน้นเป้าหมายเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ ให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมควบคู่กับรายได้ GDP

ทั้งนี้ ในส่วนของแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวนั้น ได้แบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ ด้านเป้าหมาย และด้านการบริหารจัดการ

โดยในส่วนด้านเป้าหมายนั้นจะปรับจากการให้ความสำคัญในเชิงปริมาณเป็นเชิงคุณภาพ เช่น ยกระดับมาตรฐานและกระชับมาตรการด้านท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น พัฒนาและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวให้เป็นเครื่องมือในการสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

และให้ความสำคัญกับการเติบโตของ GDP ควบคู่กับการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน เช่น การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสีขาวภายใต้โมเดล BCG, ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ, การออกมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดเส้นทางผลักดันท่องเที่ยวยั่งยืน, สร้างการตระหนักรู้แก่ภาคธุรกิจถึงความสำคัญของการเป็นธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืน ฯลฯ

สำหรับด้านการบริหารจัดการนั้น จะปรับจากความไม่สมดุลสู่สมดุล โดยสร้างสมดุลด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ โดยมีวิธีการดำเนินการ เช่น กำหนดวันหยุด/วันทำงาน เหลื่อมเวลา, ทำงานทั่วไทย (work from anywhere), เที่ยวทั่วไทยได้ทั้งปี จัดกิจกรรมร่วมกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพในทุก ๆ พื้นที่ โดยสร้างสรรค์กิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละฤดูกาล, ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเชิงอาหาร สินค้าเกษตรพื้นถิ่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การกระจายรายได้ทั่วถึง สร้างชุมชนที่ดีกว่าเดิม, ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล ฯลฯ

และส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวอย่างไร้ขีดจำกัด อาทิ บริหารจัดการระดับพื้นที่ มีระบบบริหารจัดการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว, ตรวจประเมินภาคธุรกิจท่องเที่ยวและเชิงรุกให้ได้รับมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัย, ส่งเสริมการทำธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ของภาคธุรกิจทั้งห่วงโซ่, นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ

ทั้งหมดนี้คือ แนวทางการพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยสู่ “มิติใหม่” ที่ตอบโจทย์เรื่องการเติบโตอย่างทั่วถึง สมดุล และยั่งยืน…