การบินไทยดิ้น! รัฐไม่ใส่เงิน แก้แผนโครงสร้างสินเชื่อ-ทุน อีกรอบ

การบินไทย

“การบินไทย” แก้แผนฟื้นฟู ! รุกปรับโครงสร้างสินเชื่อ-โครงสร้างทุนใหม่ เดินหน้าจัดหาเงินกู้ 2.5 หมื่นล้านกับแบงก์เจ้าหนี้ เผยวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 3 หมื่นล้าน ทั้งอาคารสำนักงาน-เครื่องบิน หลังรัฐบาลไม่ใส่เงินเพิ่ม คาดดีลจบภายในมีนาคมนี้ เชื่อทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการเดินทาง เตรียมเพิ่มความถี่เที่ยวบินสู่ยุโรป เปิดเส้นทางใหม่ “ออสเตรเลีย-อินเดีย” ยันปัญหายูเครน-รัสเซียไม่กระทบ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (THAI) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้จัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากที่รัฐบาลไม่มีนโยบายใส่เงินเข้ามา โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้นกว่ากำหนดการเดิม และทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ก่อน 5 ปีตามเป้า

สรุปเงินกู้ 2.5 หมื่นล้าน มี.ค.นี้

ขณะเดียวกันบริษัทยังอยู่ระหว่างการจัดหาเงินกู้ จำนวน 25,000 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ โดยมอบหมายให้ธนาคารกรุงเทพเป็น underwriter ซึ่งคาดว่าจะลงนามในสัญญากู้เงินได้ภายในปลายเดือนมีนาคมนี้

“จำนวนเงินดังกล่าวเป็นวงเงินที่ต่ำกว่าแผนฟื้นฟู ที่ระบุว่าการบินไทยจะมีเงินใหม่เข้ามา 50,000 ล้านบาท โดยมาจากสถาบันการเงิน 25,000 ล้านบาท และภาครัฐให้การสนับสนุนอีก 25,000 ล้านบาท ซึ่งวันนี้รัฐบาลบอกชัดเจนแล้วว่าไม่สามารถสนับสนุนวงเงินได้ เราจึงมีการแก้ไขแผน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเราพิจารณาแล้วว่าเงินกู้ 25,000 ล้านบาทนี้น่าจะเพียงพอสำหรับการรองรับการเติบโตและออกไปจากแผนฟื้นฟู” นายปิยสวัสดิ์กล่าว

และว่า สำหรับวงเงินกู้ดังกล่าวเป็นการกู้จากธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ออมสิน และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โดยบริษัทได้นำสินทรัพย์ อาทิ อาคารสำนักงาน อสังหาริมทรัพย์อื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเครื่องบิน มาเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันมูลค่ารวมประมาณ 30,000 ล้านบาท

เตรียมแผนปรับโครงสร้างเงินทุน

นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า เงินกู้ดังกล่าวจะนำไปใช้จ่ายใน 3 ส่วนหลัก ๆ ประกอบด้วย 1.ค่าชดเชยพนักงานที่สมัครใจลาออก ซึ่งเป็นภาระผูกพัน 12 เดือน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท 2.ชำระคืนค่าตั๋วโดยสารให้กับผู้โดยสารที่ยังไม่ได้เดินทาง มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และ 3.ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน มูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท

ส่วนการปรับโครงสร้างทุนนั้น บริษัทจะประชุมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง และคาดว่าจะยื่นได้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้เช่นกัน โดยในส่วนของกระทรวงการคลังนั้นยืนยันจะไม่สนับสนุนเงินกู้ แต่จะถือหุ้นการบินไทยอย่างน้อย 40% ต่อไป

การบินเริ่มฟื้นตั้งแต่ปลายปี’64

นายปิยสวัสดิ์กล่าวด้วยว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน และประเด็นสิ่งที่บริษัทได้ดำเนินการไปแล้ว ทำให้บริษัทยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถเดินได้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ โดยการเปิดประเทศคือปัจจัยสำคัญที่ต่อผลการดำเนินงานของสายการบิน ซึ่งประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศเมื่อปลายปี 2564 และเมื่อรัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จึงส่งผลให้บริษัทมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยรวมต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างมาก

กล่าวคือ จากจำนวน 311 คนต่อวันในเดือนตุลาคมเป็น 1,067 คนต่อวัน และ 2,559 คนต่อวันในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2564 ตามลำดับ

ขณะเดียวกันมาตรการผ่อนคลายในประเทศ ก็ทำให้จำนวนผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศของสายการบินไทยสมายล์ เพิ่มขึ้นมากจาก 2,623 คนต่อวันในเดือนกันยายน 2564 เป็น 9,536 คนต่อวันในเดือนธันวาคม 2564 แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมาก แต่จำนวนผู้โดยสารของการบินไทยและไทยสมายล์รวมกันก็อยู่ระดับเพียงร้อยละ 20เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่บริษัทสามารถให้บริการตามปกติ

สำหรับการยกเลิกมาตรการ Test and Go ในวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ทำให้จำนวนผู้โดยสารต่อวันของบริษัท ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2565 ลดลงกว่าร้อยละ 20 จากในเดือนธันวาคม 2564

อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐนำมาตรการ Test and Go มาใช้อีกครั้งหนึ่ง และประเทศปลายทาง อาทิ เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน ออสเตรเลีย ฯลฯ ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง นับเป็นสัญญาณดีที่ทำให้ความต้องการเดินทางเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง

เตรียมเพิ่มความถี่-เส้นทางใหม่

ทั้งนี้ การบินไทยมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางต่าง ๆ อาทิ ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ซูริก สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ และเปิดให้บริการสู่จุดหมายปลายทางใหม่เพิ่มเติม อาทิ เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และจุดหมายปลายทางในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2565 นี้เป็นต้นไป

ในขณะที่สายการบินไทยสมายล์ได้เปิดให้บริการในเส้นทางร้อยเอ็ดและตรังจากสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งเปิดให้บริการจากสนามบินดอนเมืองไปยังเชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการติดตามสถานการณ์การบินในทวีปเอเชีย เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น โดยหวังว่าทั้ง 2 ประเทศจะผ่อนคลายมาตรการการเดินทางข้ามพรมแดนในช่วงปลายปีนี้ ส่วนประเทศจีนนั้นคาดการณ์ว่าอาจจะยังไม่เปิดประเทศในปีนี้

“การผ่อนคลายมาตรการ Test & Go ของรัฐถือเป็นเรื่องที่ดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และหากภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม หรือสามารถอำนวยความสะดวกแก่นักเดินทางด้วยวิธีอื่น ๆ จะยิ่งเป็นเรื่องที่ดี” นายปิยสวัสดิ์กล่าว และว่า

ขณะเดียวกันบริษัทยังมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการหารายได้ด้านการขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์และบริการคลังสินค้าซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้หลักในช่วงที่ผ่านมาสร้างรายได้รวมกว่า 10,000 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 50 ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2564 ที่ผ่านมา

“ยูเครน-รัสเซีย” ไม่กระทบ

นายปิยสวัสดิ์ยังกล่าวถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างประเทศยูเครนและรัสเซียด้วยว่า สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อการบินไทย เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยไม่มีเที่ยวบินเดินทางไปยังประเทศรัสเซีย และไม่ได้ปฏิบัติการบินผ่านน่านฟ้าประเทศยูเครนมาตั้งแต่ปี 2559 ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่เดินทางเข้าประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางผ่านเที่ยวบินเช่าเหมาลำ

ส่วนผลกระทบเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น การบินไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับสายการบินอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคาบัตรโดยสารของสายการบินทั้งหมดอาจมีการปรับตัวขึ้นทั้งระบบ แต่เชื่อว่าปัจจัยจากราคาน้ำมันจะเป็นเพียงสถานการณ์ในระยะสั้นเท่านั้น นอกจากนี้ เครื่องบินรุ่นใหม่ที่การบินไทยใช้มีอัตราการใช้น้ำมันต่ำกว่าในอดีต ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่น้อยลง

ปี’64 กำไร 5.5 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ บริษัทการบินไทยประกาศผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 ว่าบริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 19,702 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712 ล้านบาท (44.4%) มีรายได้รวม 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 24,684 ล้านบาทหรือ 51% เนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 24,599 ล้านบาท (59.9%)

และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้จำนวน 81,525 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 55,113 ล้านบาท