วิกฤต “รัสเซีย-ยูเครน” ชัตดาวน์การเงินทุบมู้ด ‘เที่ยวไทย’

สัมภาษณ์

นักท่องเที่ยวรัสเซียถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยไทยคือ 1 ใน 3 เดสติเนชั่นที่ชาวรัสเซียให้ความนิยมมาโดยตลอด ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียก็ติดอันดับท็อป 6-7 ของประเทศไทยมาโดยตลอ

โดยเมืองท่องเที่ยวหลักสำหรับชาวรัสเซีย คือ ภูเก็ต สมุย กระบี่ พัทยา ฯลฯ เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยโดยตรง

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา” รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถึงผลกระทบจากวิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงกรณีการประกาศมาตรการตัดรัสเซียออกจากระบบธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) และแนวทางรับมือของประเทศไทย ไว้ดังนี้

ตัวเลขรัสเซียเข้าไทยเริ่มลดลง

“ฉัททันต์” บอกว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวรัสเซีย ซึ่งเป็นตลาดหลักติดอันดับท็อป 10 ของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย

โดยข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา (ศปก.กก.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ระบุว่า เริ่มเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวรัสเซียรายวันลดลง กล่าวคือจากที่เคยเดินทางเฉลี่ยประมาณ 600-700 คนต่อวัน ถือเป็นอันดับ 1 และ 2 มาโดยตลอด ลดลงมาเหลือ 378 คน ในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

ชัตดาวน์ธุรกรรมการเงิน

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียอาจจะตัดสินใจไม่เดินทางมาประเทศไทยนั้น เนื่องจากมีปัญหาเรื่องธุรกรรมทางการเงิน

เพราะขณะนี้ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และพันธมิตรประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ด้วยมาตรการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ทำให้ชาวรัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศได้ แม้ว่าการทำธุรกรรมการเงินภายในประเทศได้ แต่มีความล่าช้ามาก

โดยที่ผ่านมาพบว่านักท่องเที่ยวชาวรัสเซียและยูเครน ในจังหวัดภูเก็ต เกาะสมุย พัทยา และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ เริ่มประสบปัญหาการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย

กล่าวคือนักท่องเที่ยวไม่สามารถชำระค่าห้องพักในโรงแรมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ผ่านบัตรเครดิตได้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้ง 2 ประเทศประสบปัญหาในการชำระเงินและรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต และการโอนเงินระหว่างประเทศ (SWIFT)

กระทบ Thailand Pass-OTA

นอกจากนี้ยังพบว่า โรงพยาบาลคู่สัญญาที่นักท่องเที่ยวรัสเซียเข้ารับการรักษาพยาบาล อาจมีปัญหาการเคลียร์ค่ารักษาพยาบาลเพราะรับโอนเงิน และเรียกเก็บจากบริษัทประกันไม่ได้

การโอนเงินจองค่าโรงแรม รถ transfer หรือค่าตรวจ RT-PCR สำหรับนักท่องเที่ยวรัสเซียที่จะสมัครในระบบ Thailand Pass เพื่อเดินทางมาประเทศไทย ไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งในกลุ่มที่จองกับโรงแรมโดยตรงและจองผ่าน OTA

รวมถึงส่งผลต่อเนื่องถึงการจองและจ่ายเงินผ่านเว็บไซต์ OTA สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ด้วย

เข้าไทยสูงสุดปีละ 1.7 ล้านคน

“ฉัททันต์” ให้ข้อมูลอีกว่า จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯระบุว่า นักท่องเที่ยวรัสเซียถือเป็นกลุ่มหลักที่เดินทางมาประเทศไทย โดยในปี 2013 หรือ 2556 มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้ามาประเทศไทยมากที่สุด จำนวน 1.7 ล้านคน

และในปี 2019 หรือ 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนวิกฤตโควิด มีนักท่องเที่ยวรัสเซีย จำนวน 1.48 ล้านคน คิดเป็นรายได้โดยประมาณ 96,200 ล้านบาท

และนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้าประเทศไทยสะสมมากเป็นอันดับ 1 จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยทั้งหมด (พ.ย. 64-28 ก.พ. 65) จำนวน 63,249 ราย (ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, Thailand Pass) คิดเป็นรายได้ 4,100 ล้านบาท โดยประมาณ

“ตัวเลขคาดการณ์รายได้ดังกล่าวนี้ เราคิดจากสถิติปี 2019 ที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวัน 4,099 บาท และอัตราการพำนักเฉลี่ยที่ 16 วัน คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อทริปประมาณ 65,000 บาทต่อคน”

โอกาสทองของ “เอเชีย-ไทย”

“ฉัททันต์” บอกอีกว่า จากกรณีสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และพันธมิตรประกาศคว่ำบาตรรัสเซียนั้น ได้ส่งผลกระทบไปถึงเส้นทางท่องเที่ยวของประเทศในกลุ่มยุโรปที่ปิดสำหรับนักท่องเที่ยวรัสเซียด้วย ขณะที่ตุรกีก็เลือกไม่อยู่ข้างรัสเซีย และปิดพรมแดนกับรัสเซีย

ดังนั้น ตัวเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวรัสเซีย คือ เอเชีย และละตินอเมริกา ซึ่งจะเป็นโอกาสของประเทศไทยด้วย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมในอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวรัสเซีย

แต่เนื่องด้วยค่าเงินรูเบิลที่อ่อนตัวลงอย่างมาก สินค้าทางการท่องเที่ยวก็จะมีราคาที่แพงขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียจะเลือกจุดหมายปลายทางที่ราคาถูก มีแพ็กเกจ all inclusive จ่ายทุกอย่างครั้งเดียวในสกุลเงินรูเบิล

ททท.ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

“ฉัททันต์” ยังบอกอีกว่า สำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวรัสเซีย เริ่มต้นตั้งแต่ฤดูหนาวปลายปีจนถึงราวสิ้นเดือนมีนาคมของทุกปี โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครอบครัว นิยมท่องเที่ยวหาดทราย ชายทะเล และแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ นิยมกิจกรรมจับจ่ายใช้สอย ชอบผลไม้ไทย อาหารไทย และอัธยาศัยไมตรีของคนไทย

ทั้งนี้ โอกาสที่เพิ่มขึ้นในระยะอันใกล้นี้ ได้แก่ การเปิดเส้นทางบินของ Aeroflot มายังกรุงเทพฯ, ภูเก็ต, เวียดนาม และบาหลี เป็นการเปิดโอกาสหลังจากที่ยุโรปปิดน่านฟ้า ทำให้จุดหมายปลายทาง long haul อาทิ แคริบเบียน และละตินอเมริกา ซึ่งเป็นที่นิยมของรัสเซีย ไม่สามารถเดินทางไปได้

นอกจากนี้ ไทยอาจจะได้รับกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เป็นนักท่องเที่ยวรัสเซียกลุ่ม elite/expat ซึ่งอาศัยอยู่ต่างประเทศ และไม่ต้องการอยู่ในภาวะขัดแย้ง ให้เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย

สำหรับ ททท.นั้น ขณะนี้กำลังหารือกับภาคเอกชนเพื่อหาทางช่วยบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงติดตามสถานการณ์ของรัสเซียและยูเครน รวมทั้งประเทศคู่แข่งเพื่อประเมิน และปรับแนวทางการทำตลาดอย่างใกล้ชิด

“รูเบิล” อ่อนดันต้นทุนท่องเที่ยวพุ่ง

หลังเกิดเหตุการณ์กองทัพรัสเซียโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทหารยูเครน เมื่อ 24 กุมภาพันธ์2565 ทำให้สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรประกาศมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

ส่งผลให้สายการบินของรัสเซียยกเลิกและเลื่อนเที่ยวบินมากกว่า 100 เที่ยวบิน จากสนามบินเมืองมอสโก 3 แห่ง (รวมเที่ยวบินไปยังตอนใต้ของรัสเซีย และบางประเทศในยุโรป)

โดยบางเส้นทางในประเทศกลุ่มยุโรปได้ปิดสำหรับนักท่องเที่ยวรัสเซีย และประเทศในกลุ่มอียู ระงับการออกวีซ่าให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย สหราชอาณาจักรและประเทศในกลุ่มยุโรประงับเที่ยวบินกับรัสเซีย

ไม่เพียงเท่านี้ ธนาคารต่าง ๆ เช่น Bank of New York, Citibank ฯลฯ ยังประกาศระงับบัญชีตัวแทนในต่างประเทศหลัก ทำให้ไม่สามารถโอนเงินในสกุล USD และ EURO ไปหรือกลับจากรัสเซียได้

ประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก เช่น กลุ่มยุโรปปิดเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวรัสเซีย ธนาคารรัสเซียที่ถูก sanction ไม่สามารถทำการโอนเงินระหว่างประเทศได้

นอกจากนี้ สายการบิน S7 ยังประกาศระงับการบินทุกเที่ยวบินที่บินไปทวีปยุโรป ตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุล USD และ EURO ต่อเงิน “รูเบิล” ของรัสเซียปรับตัวสูงขึ้น หรือความหมายคือ ค่าเงินรูเบิลรัสเซียอ่อนตัว ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว

บริษัททัวร์ทุกแห่งระงับการจำหน่ายแพ็กเกจเส้นทางยุโรปทั้งหมด ขณะที่แพ็กเกจทัวร์ที่จำหน่ายและกำหนดราคาเป็น USD และ EURO ก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการ sanction การเงิน

แน่นอนว่าเมื่อสหรัฐอเมริกา ยุโรป คว่ำบาตรอย่างรุนแรงต่อรัสเซียครั้งนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียหยุดเดินทางไปยุโรปแน่นอน

ส่วนจะเป็น “โอกาส” สำหรับการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยหรือไม่ คงต้องประเมินสถานการณ์กันต่อไป